ในบทนี้เป็นเนื้อหา -1 เกี่ยวกับ การเลือกเบรกเกอร์ จากขนาดที่ทนกระแสที่เกิดจากการลัดวงจรได้ ซึ่งเป็นเนื้อหาที่ค่อนข้างเจาะลึกเชิงค้นหาแต่ไม่มาก ซึ่งไม่เหมาะกับผู้ที่ไม่รู้จักคำว่าโวลท์ กระแส หรือความต้านทานเลยนะครับ เพราะช่วงหลังๆจะมีการลองคำนวนเกี่ยวกับกระแสลัดวงจรด้วย มีวีดีโอแสดงการระเบิดของเบรกเกอร์ และในตอนท้ายยังมีการดูนิสัยของเบรกเกอร์ว่ามีนิสัยการเด้งเมื่อไฟช็อตอย่างไรใช้เวลาเท่าไหร่ ซึ่ทั้งหมดก็ยังเกี่ยวข้องกับผู้ใช้เบรกเกอร์ตามบ้านอยู่ดีครับ แต่จะยากสักนิด
แต่ใครที่อยากรู้ลึกๆก็ต้องไปเรียนวิศวะด้านไฟฟ้ากำลังนะครับ แล้วมาสอนผมด้วย เพราะไปเปิดดูสูตรต่างๆเกี่ยวกับไฟฟ้ากำลัง ที่เกี่ยวกับการเลือกและคำนวนเบรกเกอร์จากกระแสลัดวงจร มีสูตรและสมการอื้อเลยครับ ซึ่งเราๆท่านๆที่อยู่ตามบ้านคงไม่มีปัญญาจะเรียน แต่มันดันมาเกี่ยวข้องกับเราตอนเราไปเลือกซื้อเบรกเกอร์ มีแบบราคาถูกกับแพง ขนาดตัวเบรกเกอร์ก็เท่าๆกัน เราก็อยากจะเลือกถูกๆเอาไว้ดีกว่าแพงๆ ผมก็เป็นคนนึงแหละครับที่เลือกถูกๆเอาไว้ก่อนเอาไปใช้ในบ้านเรา แต่เราไม่เคยสงสัยหรือครับว่าทำไมขนาดหน้าตาก็พอๆกัน กระแสการตัดวงจรก็เท่ากัน 16A เหมือนกัน แต่แพงกว่าจากลูกละ 150-180บาท เป็นลูกละ 300-350 บาท ทำไมครับ? ถ้าไปถามเขา เขาคือคนขาย คนขายก็บอกเราว่า มันใช้ดีกว่า ทนกว่า อะไรทำนองนี้ แต่ถ้าเรามีโอกาสไปเลือกสินค้ามือสองล่ะซึ่งมีเยอะแยะมากมายแล้วเราจะเลือกกันเป็นหรือครับ เอามาใช้กันได้อย่างเหมาะสมหรือเปล่าครับ แต่ผมก็ขอออกตัวก่อนว่าผมไม่ได้เรียนไฟฟ้ามา แต่ความสงสัยก็ทำให้เกิดการค้นคว้า และลองดูตามสมมติฐานว่าเป็นอย่างนั้นจริงหรือไม่ ใครที่ไม่ต้องการรู้หรือรู้แล้วก็ข้ามไปเลยครับ
ในเบรกเกอร์ตามบ้านที่เป็นลูกวงจร(ลูกเซอกิตเบรกเกอร์)ต่างๆ หรือแม้กระทั่งเบรกเกอร์เมน มักมีคำว่า เบรกเกอร์นั้น ทนกระแสลัดวงจรได้เท่าไหร่ (IC หรือ Interrupting Capacity) หรือพิกัดการทนกระแสลัดวงจรสูงสุดโดยปลอดภัยของเบรคเกอร์นั้นๆ ซึ่งถ้ามีการช็อตเกินพิกัดทนกระแสลัดวงจร มันก็จะไหม้เสียหาย หรือระเบิดออกมาได้ในบางกรณี
เรามาหาคำตอบกันว่าเราควรเลือกแบบไหนอย่างไรดี สมมติว่าเป็น เบรกเกอร์ของ Schineder ยี่ห้อเดิมคือ Square D ซึ่ง ก็มีหลายขนาดและราคา เรามาเริ่มจากการเปิดแค๊ตตาล็อกก่อน ว่ามันมีสเป็กและราคาตั้ง(คือราคาที่เขายังไม่ได้ลดให้กับคนซื้อ)อะไรบ้าง (ถ้าเข้าใจแล้วเราจะเลือกยี่ห้อไหนก็ได้ตามสะดวก)
ลองเสิชคำว่า SQUARE D Schneider Price List 2011 จะมีเว็บลิ้งค์มากมาย มีที่นึงให้ดาวโหลดเป็นpdf คือที่นี่ สมมติว่าผมประกอบเสร็จแล้วหน้าตาเป็นอย่างนี้

ภาพข้างบนนี้ได้จากเว็บ http://teakdoor.com/construction-in-thailand/74882-electricity.html ฝรั่งเขาคุยกันเรื่องคุณภาพชีวิตต่างๆจากการมาอยู่กรุงเทพกับภูเก็ต ส่งลิงค์คืนเขาไปแล้วนะครับ ในรูปจะเห็นว่าซ้ายมือเป็นเบรกเกอร์เมน 1 เฟสซึ่งเป็นตัวใหญ่สุด จะมีอันที่สี่ หน้าตาแปลกกว่าเพื่อน คือหน้าตาของ square D รุ่นที่เขาขายๆกันอยู่ปัจจุบัน ที่เหลือเป็นรุ่นเก่าๆ

ภาพข้างบนจะเป็นตู้โหลดแบบ 1เฟส ซึ่งมีช่องให้เลือกใช้ตามมากจำนวนตามอุปกรณ์ในบ้าน แต่ถ้าอุปกรณ์ในบ้านโดยรวมมีมากกว่า 18 ช่องและใช้พร้อมๆกัน ผมว่าต้องขอมิเตอร์การไฟฟ้าแบบสามเฟสแล้วล่ะ แล้วจะมีช่องจ่ายไฟได้มากกว่านี้ แต่ถ้าในบ้านแบ่งเป็นหลายๆชั้นๆเช่น4 ชั้น และก็ไม่ได้ใช้งานกระแสเกินมิเตอร์ของการไฟฟ้า เช่นเราขอมิเตอร์ แบบ 30(100) A 1เฟส เราอาจเลือกใช้ตู้โหลด 1 เฟสแยกเป็นชั้นๆ ไปก็ได้ ชั้นละ1ตู้ เราก็เลือกเมนเบรกเกอร์ 1เฟส 2ขั้ว คือL กับ N ต่อสายจากการไฟฟ้าสำหรับตู้เมนหลัก ไว้ชั้นล่างหรือชั้นสองก็ได้ สมมติว่า 63A เขาบอกว่ามี พิกัดทนกระแสลัดวงจร IC = 10 kA มีให้เลือกอย่างเดียว ส่วนชั้นอื่นๆเราก็เลือกกันตามความเหมาะสม ตั้งแต่ 50A ลงไป อย่างนี้ก็ทำได้ครับ ถ้ามีการเลือกใส่ขนาดสายไฟให้ถูกต้องด้วยนะครับ

ภาพข้างบนเป็นลูกเซอร์กิตเบรกเกอร์ แบบ1เฟส(1ph) จะเห็นได้ว่า มีให้เลือกขนาด พิกัดการทนกระแส 6 kA กับ 10 kA ตรงนี้มาถึงทางแยกแล้วครับว่าจะเลือกแบบใด ถ้าเลือกแบบง่ายๆถ้ามีหลายๆชั้นแล้วแต่ลูกเป็นเมนแต่ละชั้นในตู้เมนหลักสมมติตู้เมนหลักอยู่ชั้น1 ที่ตู้เมนใหญ่ผมแนะนำให้เลือกลูกเซอร์กิตเป็นเบรกเกอร์ 1เฟสขนาด 10 kA เป็นไฟท์บังคับ เพราะเวลาเราลากสายไปชั้นสามชั้นสี่ เราก็ต้องไปติดเบรกเกอร์เมนชนิด 2ขั้ว ขนาด 16-50A แต่การทนกระแสลัดวงจรก็เป็นไฟท์บังคับคือไม่มีให้เลือกซื้อ ต้องใช้ 10 kA อย่างเดียว ไม่งั้นอาจเกิดปัญหาว่าเวลาทริ๊ปหรือตัดวงจร มันจะไปตัดที่เบรกเกอร์เมนที่ตู้ใหญ่ที่ลากไปชั้นอื่นๆ ส่วนตู้เมนที่ชั้นนั้นเบรกเกอร์เมนกับไม่ตัด ทำให้ต้องวิ่งลงมาข้างล่างเพื่อไปรีเซทการทริ๊ป แต่ถ้าเรามีตู้เมนอยู่อันเดียวแล้วเราก็มีบ้านแค่สองชั้น ลูกย่อยใช้แค่ 6kA ก็พอครับ แต่ถ้าเราจะเลือกแบบ 10kA แล้วจะมีผลดีผลเสียอย่างไร
สมมติการลัดวงจรที่เกิดกระแสอย่างรุนแรง
ผมจะลองคิดดูเล่นๆนะครับ จากนั้นใครจะเลือกอย่างไหนก็แล้วแต่เหตุและผลนะครับ สมมติว่าการลัดวงจร เป็น ชนิดไลน์ลงกราวด์ หรือL ช็อตหรือสัมผัสกับโครงโลหะติดกราวด์ หรือ L ช็อตกับ N เช่นเราไปต่อวงจรอะไรผิด หรือมีการผิดพลาดทำให้มีการลัดวงจรระหว่างสายไฟLกับN หรือ L กับ G ในกรณีสายไฟเก่าหรือเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งเป็นการลัดวงจรที่รุนแรงที่สุด การคำนวนการลัดวงจรจริงๆมีสูตรเยอะแยะมากมายและก็ยากด้วย เราจะเลือกเบรกเกอร์แบบไหนดีมันทำให้เห็นภาพยากมาก เลยจำเป็นต้องคำนวนดูให้รู้และพอเข้าใจเรื่องการลัดวงจรในแง่พิกัดการทนกระแสลัดวงจร
วิธีการคำนวนกระแสลัดวงจรแบบแค่เอาให้เห็นภาพว่ามันเกิดกระแสกระชากเท่าไหร่ ถ้าเรามาลองคิดแบบง่ายๆคือลัดวงจรสายไฟอย่างเดียว เท่าที่ผมมีประสบการณ์มาเคยใช้สายไฟเส้นเล็กๆกับไฟที่มีกระแสมากๆมันจะเกิดความร้อนขึ้นในสายไฟอย่างมากมายในกรณีนี้คือผมลองใช้สายไฟซิลิโคนขนาด 10 sqmm กับกระแสที่ผ่านตัวมันมากถึง 60 A แต่ขนาดไฟประมาณ 5โวลท์ ใช้กับเครื่องให้ความร้อนในการตัดพลาสติก สายไฟยาวประมาณ 2.5เมตร ไปกลับ อุณหภูมิค่อนข้างร้อนประมาณ 50 องศาขึ้นไป แสดงว่ามีความร้อนเกิดขึ้นจากความต้านทานไฟฟ้าในสายไฟปรกติธรรมดาๆนี่แหละ ฉะนั้นเราก็ลองคำนวนกระแสลัดวงจรอย่างง่ายๆจากความต้านทาน เฉพาะสายไฟดังที่กล่าวมาแล้ว
คือถ้าเรารู้สูตร V=IR

และรู้สูตรความต้านทานของสายไฟ คือ R , ความยาวสายไฟL ,พื้นทีหน้าตัดของสายไฟA ,และคุณสมบัติความต้านทานไฟฟ้าของวัสดุρ (อ่านว่า โรว์ rho) ของ
ρ ทองแดง=1.724×10-8 โอห์ม-เมตร ที่ 20 องศาC

ซึ่งทองแดงเมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น ค่าความต้านทานก็เพิ่มขึ้นด้วยแต่เราไม่ต้องนำมาคิด
ก่อนอื่นเราต้องลองสมมติสภาวะแวดล้อมดูก่อน
กรณีที่ 1 ช็อตห่างจากตู้ 5 เมตร เราสนใจเบรกเกอร์ ขนาด 16 A ที่ใชักับปลั๊กไฟซะส่วนใหญ่ สายไฟที่เราใช้ๆกันเดินสายไฟ มีขนาด 2.5 sqmm สมมติต่อไปอีกว่าเราเดินสายไฟ มาช็อตกันที่จุดเกิดเหตุรวมสายไฟไปกลับจากตู้เมนยาวรวมกันประมาณ 10 เมตร จะมีกระแสลัดวงจรเท่าไหร่ถ้าเกิดกับสายไฟลงกราวด์หรือช็อตกับนิวตรอน ลองคำนวนกระแสลัดวงจร
R=ρL/A = 1.724 x 10-8 * 10 /2.5 x 10-6 =0.06896 ohm
I =V/R = 220/0.06896 =3,190 A =กระแสลัดวงจรโดยประมาณ
จากการคำนวนเล่นๆแสดงว่าสายไฟยาวยิ่งยาวก็มีผลกับกระแสทำให้กระแสลัดวงจรมีค่าน้อยลง แต่ถ้าใช้สายไฟใหญ่ซึ่งทนกระสไฟใช้งานได้เยอะ เช่นมาใช้สายไฟขนาด6 sqmm กับเบรกเกอร์ 16A 6kA เวลาช็อตด้วยวิธีเดียวกันนี้กระแสจะมากขึ้นประมาณ2.4 เท่า อาจจะทำให้เบรกเกอร์พังและไหม้ได้ครับ แสดงว่าถ้าใช้สายไฟใหญ่หน่อย เช่นสาย 6 sqmm กับเบรกกเกอร์ 32A ควรใช้ขนาดพิกัดการลัดวงจร 10 kA ก็ดูน่าจะปลอดภัยกว่า เอาละครับตัดสินใจกันเองนะครับ
กรณีที่ 2 ช็อตในตู้เมนห่างจากเบรกเกอร์20เซนติเมตร เราสนใจเบรกเกอร์ ขนาด 16 A ที่ใชักับปลั๊กไฟซะส่วนใหญ่ สายไฟที่เราใช้ๆกันเดินสายไฟ มีขนาด 2.5 sqmm สมมติต่อไปอีกว่าเราเดินสายไฟ มาช็อตกันที่จุดเกิดเหตุรวมความยาวสายไฟไปกลับยาวประมาณ 0.4 เมตร คือช็อตกันในตู้เมนนี่แหล่ะ จะมีกระแสลัดวงจรเท่าไหร่ถ้าเกิดกับสายไฟลงกราวด์หรือช็อตกับนิวตรอน ลองคำนวนกระแสลัดวงจร
R=ρL/A = 1.724 x 10-8 * 0.4 /2.5 x 10-6 =0.0027584 ohm
I =V/R = 220/0.0027584 =79,756.3 A =กระแสลัดวงจรโดยประมาณ
กรณีดังกล่าว ผมคิดว่ากระแสที่เกิดขึ้นคงไม่ถึง 79 kA สายไฟอาจเกิดการอาร์กจนสายไฟขาดและหลอมเป็นเศษทองแดงร้อนๆไปซะก่อนในเสี้ยววินาที แต่เบรกเกอร์มันจะระเบิดและอาจเกิดเพลิงไหม้ได้ครับ ซึ่งกรณีช็อตกันในตู้เมนเป็นกรณีที่อันตรายมากๆ ซึ่งผมไม่เคยเจอเหมือนกัน แต่เบรกเกอร์ในโรงงานใหญ่ทีมีหม้อแปลงส่วนใหญ่จะมีเมนเบรกเกอร์ที่ทนพิกัดได้ 100 kA ขึ้นไป
วีดีโอข้างล่างแสดงการอาร์กระเบิดสะเก็ดไฟในตู้เมน
youtube โดย ReinierKww
อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ เป็นกรณีที่ระเบิดในตู้เมนใหญ่ๆมากๆ น่ากลัวมากครับ(เลยทำรูปให้เล็กๆ) ไอ้ที่เขาโยกๆอยู่นี่ผมเดาว่าเป็นขั้นตอนปรกติในการทำให้เบรกเกอร์เมนอยู่ในสภาวะทริ๊ปมาอยู่ในสภาวะสับคืนโหลดได้ครับ เห็นแล้วเสียวครับเพราะเคยเห็นน้องๆโยกกันหน้าตู้เมนอย่างสบายใจมาก่อนหลายต่อหลายครั้งถ้าไม่เกิดอุบัติเหตุก็ดีครับ แต่ส่วนใหญ่อุบัติเหตุเหล่านี้มีสาเหตุที่แน่ชัดครับไม่ได้เกิดขึ้นได้ง่ายๆ ส่วนใหญ่เกิดจากข้อผิดพลาดที่มนุษย์เป็นผู้กระทำหรือประมาท โอกาสน้อยที่อยู่ๆจะเกิดเองเหมือนอยู่ดีๆก็โดนฟ้าผ่าครับ
ส่วนอันล่างเป็น เขาว่าแปลมาว่า มิเตอร์วัดไฟระเบิดเนื่องจากการตั้งค่าไม่ถูกและการใช้ฟิวส์ราคาถูก รับพิกัดการทนกระแสลัดวงจรได้น้อย
youtube by Malcolm Brown
ภาพอันล่างเป็นการเทสเบรกเกอร์ดูการระเบิด ขนาด30A เทสที่ 590V 3ph 21.5kA 6cycle(คือยิงทดสอบ6ครั้ง)
youtube by TechtricEngineering
ก่อนจบจะต่อเรื่องเบรกเกอร์อีกนิดนึง ไหนๆก็เกริ่นเรื่องเบรกเกอร์ และได้เปิดดู แค๊ตตาล็อกของ square D แล้ว ตัดรูปเตรียมรูปมาแล้วก็เลยลงรูปให้หมดเลย

รูปบนเป็นเมนเบรกเกอร์ชนิด 1 เฟส 2 โพล คือ L กับ N แงะเบรกเกอร์เมนทางซ้ายในตู้เมนรูปบนสุดแล้วใส่ลงไปได้เลยครับ(ก่อนแงะต้องระวังเรื่องสายเมนที่มีไฟอยู่ให้ดีต้องตัดไฟก่อน )(ไม่ควรจั๊มสด) อันนี้เป็นเบรกเกอร์ที่ป้องกันไฟดูด และป้องกันไฟฟ้าลัดวงจรได้ถึง 10 kA หลักการทำงานเรื่องป้องกันไฟดูดคือเบรกเกอร์จะมีวงจรอีเล็กทรอนิกอยู่ภายในทำหน้าที่เช็กไฟ ขาเข้าL และ N กระแสต้องเท่ากัน ถ้าไม่เท่ากันและต่างกันเกิน30mAเบรกเกอร์จะทริ๊ป-กรณีไฟดูดและรั่ว (หลักการทำงานเหมือนยี่ห้อ เซฟ-ธี-คาท) ผมเข้าใจว่ามันถูกใช้งานเฉพาะที่เช่น เฉพาะชั้นนี้ห้องนี้ ชั้นนี้ ต้องการป้องกันคนโดนดูด แต่ปัญหาคือการติดแบบโหลดรวมทั้งหมดอาจมีปัญหาในการทริ๊ป-ชนิดไฟรั่วบ่อยครั้ง เช่น กรณีเป็นตู้โหลดรวมกับ แอร์ แต่แอร์ส่วนใหญ่จะมีการติดคอยล์ร้อนอยู่นอกอาคาร ซึ่งไฟฟ้ามีโอกาสรั่วลงกราวด์ได้ โดยเฉพาะตอนฝนตก หรือห้องนั้นในบริเวณที่มีความชื้นมากเช่นพื้นปูนชื้นแต่มีการใช้เต้ารับแบบฝังดินกรอบเหล็ก เหตุการณ์เช่นนี้มักสร้างความรำคาญกับผู้ใช้มากมายในการทริ๊ปบ่อยครั้ง ผมจึงเข้าใจว่าไม่ค่อยนิยมใช้กัน เพราะเคยเห็นเบรกเกอร์แบบรุ่นโบราณมีปุ่มหมุนปรับ mA ได้ 0-30 mA รวมถึงมีปุ่มยกเลิกการใช้งานป้องกันไฟดูดด้วย เคยเห็นตามบ้านเพื่อนหลายครั้งแล้ว มีปัญหาแบบนี้ประจำ ไฟดับทั้งบ้านบ่อยๆตอนฝนตกหรือชื้นๆ ถ้าใช้ยี่ห้อนี้ ไม่แน่ใจว่ามีปุ่มยกเลิกการใช้งานไฟฟ้าดูดหรือเปล่าหรือจะแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าโดยไม่เปิดแอร์หรือยังไงดี?
ดูภาพประกอบข้างล่างจาก พันทิพ และลองอ่านดูที่นี่ว่าเขาใช้แล้วเป็นอย่างไร


ภาพด้านบนเป็นลูกเบรกเกอร์ย่อยชนิดป้องกันไฟดูด และป้องกันไฟฟ้าลัดวงจร ขนาด 6kA และ 10kA เลือกกันได้ตามต้องการ ส่วนการต่อสายดูด้านล่างครับ หลักการทำงานก็คล้ายกับตัวบนแหละครับ แต่ติดเฉพาะที่เฉพาะทางกว่า เช่นสมมติว่า ห้องนี้มีเด็กเล็ก และก็มีปลั๊กวางอยู่ต่ำๆ ติดแบบนี้แหละครับเพื่อลูกๆหลานๆของท่านเองจะได้ปลอดภัยในกรณีหลงหูหลงตา และถ้าเป็นโคมไฟหน้าบ้านที่ชื้นๆก็อย่าไปติดมัน เต้ารับปลั๊กเสียบในห้องน้ำอยากจะเป่าผม ชาร์จแบตเครื่องโกนหนวดหรือจะเอาวิทยุไปฟังในห้องน้ำ(ไม่ควรทำ)อย่างนี้ก็ควรติดครับ เป็นเครื่องทำน้ำอุ่นอย่างนี้ก็ติดได้แต่เครื่องทำน้ำอุ่นสมัยนี้มีเบรกเกอร์ ชนิด ELCB ซึ่งหลักการทำงานก็เหมือนกับ RCBO(เบรกเกอร์อันบนนี้แหละ แปลว่าไรก็แปลเอาเอง) ป้องกันไฟดูดได้ดีมาก แต่ทนกระแสลัดวงจรได้ 1.5kA เท่านั้น คือถ้ามันช็อตกันในเครื่องทำน้ำอุ่น(ซึ่งมีโอกาสน้อยมากๆๆ) เบรกเกอร์ELCB จะไหม้หรือแตกออกมาครับ และเสียแน่นอน ส่วนเบรกเกอร์ย่อยอาจจะไหม้หรือแตกออกชำรุดก็ได้ถ้ามีขนาด 6kA แต่ใช้สายค่อนข้างใหญ่ 4-6 sqmm และตู้เมนอยู่ใกล้จากจุดเกิดเหตุไม่ถึง10เมตร ซึ่งใครจะติดป้องกันอีกชั้นนึงก็แล้วแต่ครับ แต่ผมว่า 6kA ก็เหมาะสมแล้วสำหรับเครื่องทำน้ำอุ่น(อย่าลืมลากกราวด์ให้กับเครื่องทำน้ำอุ่นเพื่อป้องกันไฟดูดอีกชั้นด้วยครับ) =3ชั้น มากเกินไปแล้วมั้ง เหอๆ

ภาพบน เป็นเบรกเกอร์ ถ้าในพวก 3เฟสตัวล่างๆ ขนาด 15-30 kA เอาไว้ติดในตู้เมนชนิด 3 เฟส ซึ่งควรจะใช้ขนาดดังกล่าว 30 kA ได้ยิ่งดีครับ
ภาพล่างจากพันทิพครับ ลองอ่านดูกระทู้จะเข้าใจมากมายในรูปล่าง ROCB ต่อยังไม่ถูกนะครับ
ภาพข้างล่างเป็นตู้เมนชนิด สามเฟส แบบมีเบรกเกอร์เมนคุม

ผมอ่านกระทู้ในพันทิพ งงตรงต่อ RCBO นี่แหละครับ ก็เลยไปค้นมา พบว่า เว็ปไซด์ชไนเดอร์ให้คำตอบกับเราได้ คือ
ให้ต่อสายขดเกลียว(สายหางหมู) ไปที่นิวตรอลของตู้(บัสบาร์ซ้ายมือสุด แนวตั้ง(ตู้เมน1เฟส)) จากนั้นให้สังเกตุว่าที่ด้านไฟออกของ QOvs-RCBO(ด้านล่าง) จะมีสองตำแหน่งให้ต่อสายไฟ ให้ต่อสายไฟทั้งสองเส้นนั้นไปที่อุปกรณ์ไฟฟ้า (Line และ Neutral) โดยห้ามเดินสายนิวตรอลร่วมกับอุปกรณ์ชนิดอื่น
ก็เลยทำรูปให้ใหม่ดังนี้ รูปจากพันทิพ การต่อ RCBO ที่ถูกต้องครับ

ยังไงก็ตามการทริ๊ปของเบรกเกอร์ โดยเฉพาะการทริ๊ปที่มีเสียงดังคล้ายประทัดในที่เกิดเหตุ หรือมีการทริ๊ปที่มีขนาด 1000-3000 แอมป์ กับเบรกเกอร์ที่ทนการลัดวงจรได้ 6kA อายุการใช้งานได้จะลดลงไป คือครั้งต่อไปม้นจะทนกระแสได้ไม่เท่ากับ 6kA แล้วครับ อาจะเหลืออยู่ 3kA ถ้าทริ๊ปแบบประทัดอีกรอบ ก็ลดลงไปอีก ควรต้องเปลี่ยนใหม่นะครับ เพื่อความปลอดภัย เพราะถ้าทริ๊ปแบบเสียงดังคล้ายประทัดหลายๆรอบ รอบต่อไปจะเป็นเบรกเกอร์ระเบิดหรือแตกออกแทนนะครับ ระวังหน่อยนะครับ
ลักษณะนิสัยของการตัดไฟของเบรกเกอร์ Square D
ก่อนจากกันเรามีกราฟแสดงนิสัยการทริ๊ปว่า ใช้กระแสเท่าไหร่ ถึงทริ๊ป และใช้เวลานานเท่าไหร่ถึงทริ๊ป อันนี้เป็นเบรกเกอร์ square D รุ่น QOxxxx (ก็คือลูกเบรกเกอร์ย่อยดำๆที่ใช้กันด้านบนนั่นแหละครับ) การทริ๊ปในที่นี้คือเบรกเกอร์เด้งหรือตัดกระแสไฟอัตโนมัติเนื่องจากการลัดวงจรไม่ใช่ไฟดูด เรามาลองกันดูครับ
multiples of rated current ที่แกนนอน คือจำนวนเท่าของพิกัดการทนกระแสของเบรกเกอร์ มีความหมายเชิงยกตัวอย่าง ดังนี้ คือ
ถ้าเท่ากับ1 เท่า หมายถึงเบรกเกอร์ 15A ดูถ้าตัดหรือทริ๊ป 15A คือตัวคูณ 1 ใช้เวลาเท่าไหร่ครับ คำตอบคือ 500 -10000 วินาที
ถ้าเท่ากับ 1.5 เท่า เช่นเบรกเกอร์ 15A ถ้าทริ๊ปที่ 22.5A จะใช้เวลาประมาณ 22-110 วินาที
ถ้า 15 เท่า เบรกเกอร์ 15A จะทริ๊ปที่ 225 A ใช้เวลา 0.06 -0.4 วินาที
ถ้าเท่ากับ 100 เท่า เช่นเบรกเกอร์ 15A ถ้า ทริ๊ปที่ 1500A จะใช้เวลาประมาณ 0.02 วินาที หรือสั้นกว่า

รู้กราฟนี้สำคัญไฉน ในกาลหนึ่งที่บ้านหนึ่ง(บ้านผมเอง นี่คือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง) อยู่ๆก็มีการทริ๊ป หาสาเหตุไม่ได้ ไม่ได้เสียบปลั๊ก แต่ดูเหมือนปลั๊กไฟจะเป็นต้นเหตุทริ๊ป พอสับเบรกเกอร์ขึ้น จับเวลาดูราวๆ 45 วินาที เบรกเกอร์ 16A มันก็ทริ๊ปอีก ลองอีกที คราวนี้ทริ๊ปสั้นขึ้นไปอีกและมีอะไรพุ่งออกมาจากปลั๊กก่อนทริ๊ปอีกด้วย ก็เลยทราบว่า ปลั๊กมีปัญหาแน่ ถอดเต้ารับออกมาดูปรากฎว่า ปลวกเดินผ่านปลั๊กเลยเกิดอาการลัดวงจรแบบช้าๆแล้วทราบหรือยังล่ะครับ ถ้าดูกราฟจะรู้ว่าปลวกเป็นตัวนำไฟฟ้ามีความต้านทานสามารถมีกระแสไหลผ่านในตัวมันอย่างน้อยก็ 16-30A ครับผม
มีแถมให้นิดนึงครับ วิธีการเดินสายในตู้เมนพอดีไปเจอมาน่าสนใจ เอาไว้ดูคร่าวๆว่าช่างไฟฟ้าเดินสายไฟในตู้เมนกันอย่างไร
วีดีโอข้างล่างเป็นฝรั่งเดินสายไฟในตู้เมน Square D ตู้ขนาด 200A 2เฟส 4สาย(ไลน์2 N1 G1 เท่าที่ฟังคือเป็นไฟฟ้าชนิดเทียบไลน์กับไลน์ได้220V ถ้าเทียบไลน์กับนิวทรอลน่าจะได้100-110โวลท์ ซึ่งแรงดันไฟฟ้าน้อยกว่าบ้านเรา) สายที่เห็นเปลือยๆยาวๆในตู้ทั้งหมดคือสายกราวด์ฝาหรั่งมักเดินกันเป็นมาตรฐานอย่างนั้น สายกราวด์เปลือยขนาดใหญ่มากๆเป็นสายไฟชนิดอลูมิเนียม ฝาหรั่งแกได้ทาน้ำยาป้องกันการเกิดอ๊อกไซด์ในสายอลูเนียมก่อนเข้าสายในตู้ทางซ้ายมือ สายขาวของเขาคือสายนิวทรอล(ของไทยนิยมสีดำสำหรับสายVAF) สายที่เหลือสีดำหรือแดงของฝาหรั่งคือสายฮ๊อท หรือสายไลน์หรือสายมีไฟ(ของไทยนิยมสีเทาสำหรับสายVAF) ประเทศไทยถ้าเดินสายTHWตามตู้ไฟหรือเดินท่อมักจะใช้สีสายไฟใกล้เคียงกับของฝาหรั่ง ยกเว้นกราวด์ประเทศไทยไม่นิยมปลอกสายเปลือยยาวในตู้และนิยมสายสีเขียว วีดีโอ youtube by Ryndon Ricks
จบแล้วครับ หวังว่าบทความคงพอได้รับประโยชน์และไม่ยากเกินไป
ถ้ายากไปสำหรับมือใหม่หัดเรียนก็ขออภัยด้วย
142,044 total views, 13 views today