How Silicone DIY EP2 -0 แนะนำชนิดซิลิโคนRTV ซิลิโคนที่หล่อเองได้

หัวข้อก่อนหน้านี้คือ How Silicone DIY ep1 -0 แนะนำซิลิโคน, เกริ่น ,ชนิดของซิลิโคน

ส่วนในหัวเรื่องนี้ผมจะแนะนำซิลิโคนRTV หรือซิลิโคนที่ผสมๆกันแล้วแข็งตัวที่อุณหภูมิห้องได้ หรือเป็นซิลิโคนที่ผสมมาเสร็จแล้วปล่อยให้ทำปฏิกิริยาแห้งในอากาศอย่างนี้ก็มี ต้องขอบอกประโยชน์หรือวัตถุประสงค์ก่อนว่าซิลิโคนชนิดนี้เอาไปใช้งานอะไรบ้าง มีชนิดอะไรบ้าง แล้วจึงจะบอกหรือยกตัวอย่างว่าทำแบบหรือชิ้นงานซิลิโคนกันอย่างไร เพราะอยู่ๆเขียนหัวข้อนี้ขึ้นมาหลายคนคงมึนว่าจะไปทางไหนต่อ

ผมขอยกตัวอย่างดังนี้ เพื่อเลือกซิลิโคนสำหรับการใช้งาน

ซิลิโคน RTV แบ่งตามชนิดการใช้งาน

RTV ย่อมาจาก Room Temperture Vulcanizing แปลแบบชาวบ้านๆก็หมายถึงการแข็งตัวเป็นของแข็งได้ในอุณหภูมิห้อง ฉะนั้นซิลิโคนRTV ก็คือซิลิโคนที่แข็งตัวได้ในอุณหภูมิห้องได้ด้วยเคมีในตัวมันเอง

แปลแบบเคมีๆหน่อยก็ วัลคาไนซิ่งคือการแข็งตัวในที่นี้(ซิลิโคน)เกิดจากปฏิกิริยาเคมี เป็นการเชื่อมต่อกันระหว่างโมเลกุลเล็กๆซึ่งเป็นของเหลวหรือของเหลวหนืดหรือของแข็งที่ยังไม่อยู่ตัวยังสามารถไหลได้(เมื่อได้รับแรงกด) มาเชื่อมต่อกันเป็นโมเลกุลที่มีขนาดใหญ่มากๆ จนกลายเป็นของแข็งที่อยู่ตัวและไม่กลับคืนเป็นของเหลวอีก

ขบวนการวัลคาไนซ์ โดยทั่วไปอาจเกิดการใส่เคมีตัวเชื่อมต่อ เคมีเร่งปฏิกิริยา และการทำให้เกิดการแข็งตัวที่อุณหภูมิห้องก็ได้ หรือการให้พลังงานจากภายนอกอบเร่งให้แข็งก็ได้ เช่นการอบยางรถยนต์ เป็นกระบวนการทำให้ยางมีความแข็งแรงและแข็งแกร่งขึ้น การทำถุงยางหรือถุงมือยางด้วยการใช้วิธีการฉายรังสีก็เป็นการให้พลังงานเพื่อเร่งให้แข็งขึ้น การให้พลังงานจากภายนอกไม่ถือว่าเป็นRTV แต่การที่ใส่เคมีตัวเร่งปฏิกิริยาแล้วให้เกิดความร้อนที่ตัวสารเอง เช่น เรซิ่น (unsatuarated polyester resin เช่น เรซิ่นหล่อทั่วไปที่เอาไว้ทำไฟเบอร์กลาส) เวลาแข็งขึ้นจะเกิดความร้อนถือว่าเป็นRTV สีโป๊วรถยนต์ก็เป็นRTVเหมือนกัน เป็นต้น

นอกเรื่องหน่อยแต่เป็นกระบวนการวัลคาไนซ์เหมือนกัน

การหล่อขึ้นรูปเคฟล่าสมัยใหม่โดยใช้ แผ่นอีพ็อกซี่ผสมสำเร็จรีดแทรกซึมกับแผ่นเคฟล่า อีพ็อกซี่ชนิดดังกล่าวที่มีลักษณะความหนืดเหนียวประมาณแผ่นแป้งที่เอาไว้ทำเกี๊ยวซ่าที่บางๆ หรือประมาณก้อนขี้หมา(ยางมะตอยอุดแอร์) แต่มีความแข็งที่มากกว่า การผลิตอีพ็อกซี่พิเศษด้งกล่าวจะรีดออกมาพร้อมแผ่นให้แทรกซึมกับเนื้อใยสานคาร์บอนเสริมแรง(เคฟล่า) ถ้าต้องการให้แต่ละชั้นของแผ่นกาวอีพ็อกซี่เสริมแรงนั้นมันติดกัน ก็ใช้ลูกกลิ้งที่มีแรงกดเพื่อให้ชั้นอีพ็อกซีเหนียวหนืดติดกันเอง แล้วใช้ถุงแวคคั่มเพื่อบังคับให้แต่ละชั้นของเลเยอร์ดังกล่าวติดประสานกันทางกายภาพก่อน เมื่อต้องการให้มันแข็งเป็นของแข็งจะเอาไปเข้าตู้อบความร้อนที่มีแรงดันที่เรียกว่า Autoclave เพื่อให้มันเกิดกระบวนการวัลคาไนเซชั่น (ในที่นี้คือการอบให้สารเช่นอีพ็อกซี่เลเยอร์ที่แทรกบนเคฟล่าเกิดปฏิกิริยาประสานโมเลกุลหรือโพลิเมอร์ไรเซชั่น) ที่อุณหภูมิประมาณ120-230 C แรงดันไอประมาณ 6-7 บาร์ เข้าใจว่าเป็นแก๊สร้อน เช่นอากาศร้อนที่แรงดันไอ หรือก๊าซไนโตรเจนร้อนๆ

วีดีโอแสดงการขึ้นรูปคาร์บอนเคฟล่าแผ่นบางที่รีดกับอีพ็อกซี่ชนิดพิเศษเป็นแผ่นบางๆจากโรงงาน ตั้งแต่การตัดพลาสติกแผ่นเคมีดังกล่าวด้วยเครื่อง นำไปติดบนโมลด์หลายๆชั้น ใส่ถุงแวคคั่ม และตอนจบก็เข้าตู้ Autoclave เพื่อให้มันเกิดกระบวนการวัลคาไนซ์ ให้มันแข็ง youtube by Optimum Performance Products Inc – OPP Racing

1. กาว และการเททับส่วนที่ต้องการป้องกัน เช่นป้องกันรั่ว ป้องกันความร้อน ป้องกันบรรยากาศ ป้องกันการช็อตกัน ป้องกันการสปาร์ก หรือต้องการให้ติดกันระหว่างสองวัสดุ เป็นต้น

กาวซิลิโคนคือ silicone sealant
กาวซิลิโคน ใช้ในงานก่อสร้าง อุดรอยรั่ว ป้องกันน้ำรั่วเป็นส่วนใหญ่ ใช้งานได้เลยไม่ต้องผสม ใช้เวลาแข็งตัวตั้งแต่2-24 ชม. แล้วแต่ความหนาและความแข็งแรงเพื่อให้มันใช้งานได้ มีขายตามร้านฮาร์ดแวร์ทั่วไปในเมืองไทย ภาพนำมาจากหลายแหล่งที่มีนำมาใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต การนำไปใช้ต่อควรจำกัด
Silicone Potting and Encapsulating
ซิลิโคน RTV สำหรับเทปิด เททับเพื่อป้องกัน ซึ่งตัวซิลิโคนจะถูกทำให้มีคุณสมบัติเป็นกาวหรือการเตรียมพื้นผิวที่จะเททับให้เป็นกาว ซึ่งเมื่อแข็งตัวแล้วไม่สามารถลอกออกง่ายๆ SiliconeRTV for Potting and Encapsulating ภาพจากหลากหลายแหล่งที่มานำมาใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต การนำไปใช้ต่อควรจำกัด The above picture is summary ,silicone potting and encapsulation is . It was used for education only. But I have no copyright permission. >pui108108@yahoo.com

2. ทำชิ้นงานซิลิโคนสำหรับแม่พิมพ์หล่อแบบ

เช่นเอาไว้เป็นแบบยางหล่อเทียน หล่อเรซิ่น ปูน อีพ็อกซี่ และอื่นๆในการนี้ต้องมีชิ้นส่วนต้นแบบ เช่น เทียนต้นแบบ, แหวนที่แกะสลักเอาไว้แล้ว ,โมเดล

พิมพ์ซิลิโคน ทำกระดุม หรือของชำร่วยเล็กๆ
พิมพ์ซิลิโคน สำหรับหล่อทำกระดุม หรือของชำร่วยเล็กๆ เอาไปทำพวงกุญแจก็ได้ ประยุกต์เล่น หรือทำขายก็ได้ ภาพ โดย Angela Mabray ใน Flickr (cc-nc) ซึ่งถ้ากดลิ่งค์เข้าไป จะพบว่าเขาใช้ซิลิโคนที่เรียกว่า ซิลิโคนพุทตี้ ซึ่งเป็นวัสดุซิลิโคนตอนผสมมันจะคล้ายๆดินน้ำมันและกดลงบนแบบ
ซิลิโคนหล่อแบบ ชนิด พุตตี้ เมื่อนำมาทำแบบหล่อกระดุม ตัวซิลิโคนยี่ห้อแบบนี้ไม่มีขายในไทย แต่มีซิลิโคนพุตตี้สำหรับหล่อฟันในประเทศไทยมีขายแต่ราคาค่อนข้างสูง และน่าจะสูงกว่ายี่ห้อในรูปมากเลย มีหลายๆคนลองใช้กาวซิลิโคนซึ่งเป็นทางเลือกที่ดีเพราะราคาถูกมากๆ แต่การผสมมักชอบผสมกับแป้งข้าวโพดจะทำให้เสียคุณสมบัติเฉพาะของซิลิโคนไป ถ้าเอาไปหล่อปูนปลาสเตอร์ก็พอได้ แต่ถ้าเอาไปหล่อเรซิ่น อีพ็อกซี่ ที่มีคุณสมบัติเป็นกาวแล้วจะไปไม่รอด มีวิธีอื่นอีกไหม มีครับลองหาอ่านได้ในบทถัดไปเรื่อง ซิลิโคนกาว
ซิลิโคนหล่อแบบ ชนิด พุตตี้ ภาพ โดย Angela Mabray ใน Flickr (cc-nc) เมื่อนำมาทำแบบหล่อกระดุม ตัวซิลิโคนยี่ห้อแบบนี้ไม่มีขายในไทย แต่มีซิลิโคนพุตตี้สำหรับหล่อพิมพ์ฟันในประเทศไทยมีขายแต่ราคาค่อนข้างสูงเพราะใช้ในช่องปากคนไข้ได้ และน่าจะสูงกว่ายี่ห้อในรูปมากเลยอีกอย่างคือเมื่อแข็งตัวแล้วมันจะไม่ค่อยยืดหยุ่นเท่าไหร่ แต่ก็มีคนนำเข้ามาขายแบบแบ่งขายไม่ระบุยี่ห้อ เขาทำรีวิวยูทูปด้วยขนาด 50g+50g = 500 บาท มีหลายๆคนลองใช้กาวซิลิโคนซึ่งเป็นทางเลือกที่ดีเพราะราคาถูกกว่ามากๆโดยเฉพาะในซิลิโคนกาวที่มีกลิ่นเหมือนน้ำส้มสายชู แต่การผสมกาวซิลิโคนในการทำโมลด์มักชอบผสมกับแป้งข้าวโพด ซึ่งการผสมแป้งเพื่อสร้างเป็นพิมพ์นั้นจะเสียคุณสมบัติเฉพาะของซิลิโคนไป ถ้าเอาไปหล่อปูนปลาสเตอร์หรือทำของเล่นจากกาวและแป้งก็พอได้ แต่ถ้าเอาไปหล่อเรซิ่น อีพ็อกซี่ ที่มีคุณสมบัติเป็นกาวแล้วจะไปไม่รอดอาจใช้ได้เพียงครั้งเดียว มีวิธีอื่นอีกไหม มีครับลองหาอ่านได้ในบทถัดไปเรื่อง ซิลิโคนกาว ตัวกันติดกาวซิลิโคน การผสมกาวซิลิโคนและตัวเร่งแข็ง
siliconeRTV_all_process_jewelry_ring_casting
ขั้นตอนการทำแหวนเงิน ซึ่งมีส่วนประกอบของแม่แบบซิลิโคน RTV ชนิด แพลทตินั่มเคียว สำหรับหล่อแว๊กในงานจิวเวอรี่ ซึ่งในรูปเป็นกระบวนการทั้งหมดตั้งแต่แกะแบบแหวน ทำแม่พิมพ์ซิลิโคนหรือแม่แบบยางชนิดกดร้อน การทำแหวนขี้ผึ้ง จนทำแบบพิมพ์กลับซึ่งเป็นปูนสำหรับหล่อแหวนเงิน เป็นต้น การทำพิมพ์ด้วยยางซิลิโคนใสซึ่งราคากิโลนึงราวๆสองพันบาทได้ ดูที่ขายเฉพาะเช่น sil-model มันเป็นของยี่ห้อ dow-corning รุ่นT4 RTV-4234-T4 Base and XIAMETER–pdf ซึ่งความใสนั้นนิยมเพียงเพื่อต้องการให้เห็นว่าแว็กที่ฉีดเข้าไปแล้วเต็ม การหดตัวต่ำมาก ความแข็ง40 shoreA ถ้าดูในรูปยังมีโมลด์อีกแบบซึ่งเป็นโมลด์ที่ทำพิมพ์ด้วยการกดให้ร้อนให้ยางสุก ยางมันคล้ายๆยางที่เราเอาไปอุดซ่อมยางเวลารั่ว ต้องกดให้ร้อนให้ยางสุกซึ่งการหดตัวจะสูงมาก วีธีการใช้คัทเตอร์ตัดแกะโมลด์แหวนเป็นสองส่วน ภาพจากหลากหลายแหล่งที่มานำมาใช้โดยไม่ได้รับอนุญาตการนำไปใช้ต่อควรจำกัด The picture is summary , siliconeRTV all process jewelry ring casting is . It was used for education only. But I have no copyright permission. > pui108108@yahoo.com

ถ้าสนใจเบื้องต้นในการทำแหวนงานจิวรี่ ลองดูจากบอร์ด pinterest how to… by mawadda รวบรวมรูป วิธีการทำ และลิงค์เยอะมาก แสดงว่าเขาสนใจและเป็นคนดีไอวายคนหนึ่ง (ต้องสมัครจึงจะดูได้นิ)

แม่แบบซิลิโคนสำหรับหล่อโมเดล
ภาพแสดงโมลด์ซิลิโคนRTV สำหรับการหล่อโมเดล วัสดุสีชมพูคือซิลิโคน กรอบนอกสีแดง(ที่รองรับยางซิลิโคนนิ่มๆ)ทำจากพลาสติกอีพ็อกซีหรือเรซิ่นและไฟเบอร์กลาส ส่วนโมเดลที่หล่อซ้ำเป็นสีเหลืองๆทำจากเรซิ่นหรืออีพ็อกซี่บางๆภายนอกและเติมโพลียูรีเทนโฟมภายใน ส่วนชิ้นงานสีเทาๆเป็นต้นแบบ ภาพ โดย Volpin ,Harrison Krix ใน Flickr (cc-nc-nd) ซิลิโคนนี้เป็นซิลิโคนทำพิมพ์เกรดทั่วไป ซึ่งจะมีขายตั้งแต่ซิลิโคนของ ฝรั่งเศส เยอรมัน อเมริกา ไต้หวัน จีน ซึ่งก็ยังแบ่งเป็นเกรดต่างๆเช่น ทนกับเรซิ่น ความแข็งเหนียวทน ความนิ่มยืดหยุ่นดี เก็บแบบดี เทง่าย แบบข้นแข็งก็มี ขึ้นกับเอาไปใช้กับอะไร งานเล็ก งานใหญ่ เยอะแยะไปหมด และราคาก็ต่างๆกันไป
17345236139_63438ffdfb_z
ภาพ โมลด์ซิลิโคนที่เเอาไว้ทำถ้วยรางวัล ซิลิโคนเป็นสีน้ำเงิน ส่วนเปลือกนอกดูเหมือนจะเป็นไฟเบอร์กลาส ใช้วีธีการขึ้นรูปโมลด์โดยการสร้างแบบไฟเบอร์กลาสกรอบนอกก่อน แล้วค่อยหล่อยางซิลิโคนสีน้ำเงินด้านในภายหลัง ซึ่งผู้ทำค่อนข้างชำนาญและคิดถึงความประหยัดประกอบกับความมีประสิทธิภาพในการสร้างโมลด์ ภาพโดย Volpin ,Harrison Krix ใน Flickr (cc-nc-nd)
17532722692_8af6c270c1_z
ภาพ โดย Volpin ,Harrison Krix ใน Flickr (cc-nc-nd) ชิ้นงานที่หล่อบนแบบพิมพ์ซิลิโคนด้านบน ซึ่งวัสดุอาจเป็นอีพ็อกซี่หรือเรซิ่นหล่อใส ซึ่งการหล่อชิ้นงานที่มีความหนามากอย่างนี้จะมีการหดตัวสูงและมีความร้อนที่เกิดขึ้นในระหว่างทำแข็งสูงมาก อาจต้องลดตัวทำแข็งลงหรือต้องหล่อด้วยน้ำ สรุปดูง่ายแต่จริงๆหล่อไม่ง่ายนัก เขาบอกว่าใช้กระดาษทรายหมดไปเยอะมากๆๆ
17347196128_0287460e42_z
ภาพ โดย Volpin ,Harrison Krix ใน Flickr (cc-nc-nd) หลังจากนำชิ้นงานอีพ็อกซี่หรือเรซิ่นหล่อใสมาขัดด้วยกระดาษทรายน้ำให้ผิวมันเงาแล้ว ลงเคลือบผิวด้วยยูรีเทนเคลือบใสอีกทีหนึ่งเพื่อกันรอยขูดขีดและให้เงาอยู่ตลอด ใส่ประกอบลงที่ฐาน
แนะนำเว็บไซด์ ขั้นตอนทำโมลด์ซิลิโคนชนิดประกบสองด้าน จะเห็นว่ายางซีลิโคนจะเป็นสีฟ้าอ่อน ส่วนกรอบแข็งรอบนอกเป็นปูนปลาสเตอร์ ซึ่งมีการหดตัวต่ำและแข็งไวตัดแต่งง่าย ลองคลิ๊กเข้าไปดูนะครับ
แนะนำเว็บไซด์ makezine.com/projects/make-24/making-a-hard-shell-mold ซึ่งเป็นขั้นตอนทำโมลด์ซิลิโคนชนิดประกบสองด้าน จะเห็นว่ายางซีลิโคนจะเป็นสีฟ้าอ่อน ส่วนกรอบแข็งรอบนอกเป็นปูนปลาสเตอร์ ซึ่งมีการหดตัวต่ำและแข็งไวตัดแต่งง่าย ลองคลิ๊กเข้าไปดูนะครับ

นอกเรี่อง- กรอบนอกหรือกรอบแข็งส่วนใหญ่จะมีราวๆสองแบบคือ กรอบปูนและกรอบไฟเบอร์กลาส ซึ่งการทำงานหรือการสร้างแบบจุดประสงค์และต้นทุนก็ต่างๆกันไป กรอบดังกล่าวมีหน้าที่พยุงโมลด์ซิลิโคนที่ค่อนข้างนิ่มและไม่ค่อยอยู่ตัวให้ทำงานหล่อได้และได้ขนาดตามต้องการไม่บิดเบี้ยว

กรอบปูน จะเน้นถูก ชิ้นงานไม่ใหญ่มากการหดตัว-ขยายตัวจะต่ำมาก ปูนปลาสเตอร์ก็ยังมีสองเกรด เกรดแบบไม่แข็งมากคือปูนชนิดถูกที่ซื้อได้ตามร้านเครื่องเขียน และปูนปลาสเตอร์แบบแข็งพิเศษ(ปูนปลาสเตอร์ชนิดอัลฟ่า มีราคาสูงกว่า10-15เท่าของปูนปลาสเตอร์ธรรมดา) มีความแข็งแรงสูง เอาไว้หล่อฟันต้นแบบในขั้นตอนการทำฟันปลอมของทันตแพทย์ หรืองานทำพิมพ์สำหรับงานหล่อน้ำสลิปสำหรับงานเซรามิคทำเครื่องสุขภัณท์เช่น โถส้วมเป็นต้น

กรอบไฟเบอร์ จะเน้นใช้กับชิ้นงานใหญ่จะมีน้ำหนักเบากว่ามากและไม่เทอะทะแตกหักเหมือนปูน ถ้านำมาใช้กับชิ้นงานเล็กแต่ต้องการกรอบไฟเบอร์หนามากๆหรือมีเนื้อเรซิ่นหรืออีพ็อกซี่เยอะ จะมีข้อเสียที่สำคัญมากคือจะมีการหดตัวสูงซึ่งมีผลทำให้พิมพ์ซิลิโคนบิดเบี้ยวหรือไม่ได้รูปร่างเดิม วิธีแก้ต้องผสมผงที่ไม่ให้เกิดการหดตัว เช่น ไมโครบอลลูนเมื่อผสมและใช้งานชิ้นงานจะหดตัวต่ำมากและผสมง่ายลื่น การผสมทัลคัมและผงหินแคลเซี่ยมก็พอใช้ได้แต่ไม่ดีนักยังหดตัวมากอยู่ ต้องผสมให้มากพอๆกับสีโป๊วเลยทีเดียวจึงจะหดตัวน้อยลง ฉะนั้นหลักการทำกรอบไฟเบอร์กลาสคือต้องบาง ชิ้นงานเล็กๆไม่เกินฝ่ามือความหนาไม่ควรเกิน 1.5 มิล (ถ้าอยากให้หนาเป็นบางพื้นที่ของกรอบนอก ค่อยโป๊วเรซิ่นผสมเข้าไปทีหลัง หรือเลย์ไฟเบอร์เพิ่มเข้าไปทีหลังเมื่อกรอบนอกแข็งตัวเกิน1-2วันแล้ว-อย่าเยอะมันจะบิดอีก ) และชิ้นงานใหญ่เป็นเมตร ความหนาก็อยู่ไม่เกิน 3-4 มิล ถ้าใหญ่กว่านั้นก็เพิ่มได้หรือให้เชื่อมเหล็กดามแล้วเลย์ไฟเบอร์กลาสติดเพิ่มเข้าไป การเลย์บนไฟเบอร์กลาสควรทาเรซิ่นให้บางและซึม ถ้ามีเหลืออย่าเสียดายเทลงไปจะเป็นเรื่องคือมันหดตัวมากมายๆบางทีเกือบ 6% ซิลิโคนหดตัวก็แค่2% คือผมลองทำมาเยอะแล้วการหดตัวของกรอบทำให้ยางซิลิโคนบิดไม่พอดี และถ้ากรอบนอกไฟเบอร์หนาๆสองกรอบประกบกันมันก็จะไม่เป๊ะกรอบจะเบี้ยวโก่งกันคนละทาง แต่ถ้าเป็นปูนปลาสเตอร์จะเป๊ะมากไม่ว่าจะหนาแค่ไหน

ข้างบนเป็นภาพงานโมล์ดซิลิโคนสำหรับทำงานส่วนตัว

แต่ถ้าคุณเป็นคนมีหัวออกแบบและชอบของเล่น คุณก็ทำโมลด์ซิลิโคนขายเลยก็ได้ อย่างเช่น ชุดโมลด์ซิลิโคนสำหรับหล่อเอาไว้สร้างประสาท สร้างรั้ว สร้างสถาปัตยกรรม ที่เมืองนอกเขาออกแบบชุดโมลด์ยางซิลิโคนแล้วทำขายด้วยซ้ำ การเล่นก็ง่ายมาก เอามาหล่อด้วยปูนปลาสเตอร์ จากนั้นก็เอามาประกอบกันด้วยกาว ดูดังรูป

the pyramids flickr cc-sa by 8one6
โมล์ดซิลิโคน ที่ทำออกมาขาย สำหรับสร้างสถาปัตยกรรม เช่น ปราสาท ปีรามิด ในรูปเป็นแบบปีรามิด การเล่นก็ง่ายมากผสมปูนปลาสเตอร์ หรือ วัสดุที่หล่อได้ลงบนแบบ แกะออกมาแล้วประกอบด้วยกาว ถ้าสนใจ เขาขายอันใหญ่อันละ 1200-1300 บาท มีอันเดียวก็เล่นได้แล้ว ที่เห็นเป็นซิลิโคนคือ อันสีฟ้าอ่อน ภาพ flickr cc-sa by 8one6 งาน Gen Con!
castle mold flickr cc-sa by 8one6
น่าจะเป็นนิทรรศการ ของเล่นแห่งหนึ่ง ที่ผู้ถ่ายไปสัมผัสมา มีราคา castle molds บอกให้เสร็จเลยครับ โมลด์เล็ก 29 ใหญ่ 34 ดอลล่า จริงๆสถาปัตยกรรมบางอันอาจต้องใช้โมลด์ถึง 3-4 อัน ซึ่งจริงๆโมลด์ยางแค่อันเดียวเขาก็ออกแบบมาให้เล่นได้ แต่ถ้าต้องการต่อเป็นเมืองอาจต้องซื้อเพิ่ม ภาพ flickr cc-sa by 8one6 งาน Gen Con!
แนะนำให้เป็นแนวทาง เว็บที่ขายของเล่นประเภทนี้ ขายซิลิโคนบล็อก เพื่อนำมาหล่อเป็นประสาทอียิปต์ hirstarts.com
แนะนำเว็บให้เป็นแนวทาง เว็บที่ขายของเล่นประเภทนี้ ขายซิลิโคนบล็อก เพื่อนำมาหล่อเป็นประสาทอียิปต์ hirstarts.com

กก

ตัวอย่างร้านขายซิลิโคนที่มีแบ่งขาย มีขนาดครึ่งกิโลก็มี
การหาซื้อซิลิโคนแบบข้างบนที่ว่านี้เอามาใช้งาน ซึ่งมันก็คือซิลิโคนทำโมลด์ หรือ ซิลิโคนRTV ที่มีขายกันทั่วไป ซึ่งยังแบ่งแยกจำเพาะอีกมากว่าเอาไปใช้อะไร ทางผู้ผลิตก็ทำซิลิโคนจำแนกตามชนิดการใช้งานอีกมากมาย ซึ่งหาซื้อได้ตามร้านขายซิลิโคนทั่วไป ซึ่งตอนนี้มีหลายร้านที่ขายและส่งทางพัสดุ ส่วนผมจะซื้อประจำแถวพรานนก ที่ศึกษาภัณท์ก็มีนะครับแต่ราคาอาจจะสูงกว่าร้านเฉพาะทางอยู่บ้าง

ร้าน เรซิ่น ซิลิโคน ย่านพรานนก
ร้าน เรซิ่น ซิลิโคน ย่านพรานนก ที่ผมเห็นขายมาตั้งกว่า 20 ปีก่อน ก็ ส.รุ่งเจริญ ไฟเบอร์กลาส หจก.รุ่งโรจน์ไฟเบอร์กลาส แล้วก็รุ่งอาร์ท แต่ที่ผมซื้อประจำคือ ส.รุ่งเจริญ ใครจะซื้อที่ไหนถูกใจร้านไหนก็ตามสะดวกครับ ลองเข้าไปเดินเล่นดูมีของเล่นเยอะครับ

การหาซื้อซิลิโคนเฉพาะทาง ในการทำชิ้นส่วนตามข้างล่างนี้ ก็อาจหาได้ตามร้านย่านพรานนก แต่เมื่อลองสอบถามร้านที่รับมาขายมักจะไม่ค่อยแน่ชัดเรื่องดาต้าชีทเท่าไหร่ หรืออาจตั้งรหัสขายตามใจคนขาย ซึ่งข้อได้เปรียบของร้านย่านพรานนกคือ มีหลายชนิดและหลายยี่ห้อปนๆกัน แต่ข้อเสียก็อย่างที่ว่า ถ้าไปร้านขายเฉพาะที่มีขายตามยี่ห้อดังๆ ที่มีดาต้าชีทเฉพาะ เช่น Dow Corining ที่ sil-model.com เขาจะว่าตามดาต้าชีท หรือข้อมูลเป็นหลัก และบางทีก็ไม่แบ่งขายเป็นจำนวนน้อย เพราะรับมาจากตัวแทนในประเทศหรือสั่งตรงเข้ามาเองเป็นหลัก และซัพพลายโรงงานหรือบริษัทซึ่งต้องการความแน่ชัดเรื่องวัสดุ จึงไม่ค่อยอยากจะแบ่งขายในจำนวนน้อย แต่กลับกันร้านย่านพรานนกจะชอบแบ่งขายซึ่งเป็นราคาแบบแบ่งขาย(คงเข้าใจเรื่องกลไกราคานะครับ ว่าซื้อปริมาณเยอะๆถูกกว่า) ร้านย่านพรานนกจึงเหมาะกับงาน ดีไอวาย มากกว่า

3. ทำชิ้นส่วนซิลิโคนสำหรับใช้งานเฉพาะ

เช่น ทำซีล , ลูกกลิ้งยางซิลิโคน ,พิมพ์ซิลิโคนสำหรับงาน pad printing , ทำถาดซิลิโคน หล่อช็อกโกแลต ,ปุ่มกดรีโมท, ของเล่นผู้ใหญ่ , หรือการหล่อซิลิโคนให้ติดกับโลหะหรือชิ้นส่วนอื่นๆ ,หรืองานสเปเชียลเอฟเฟ็ก ทำแขนคน มือคน ผิวหนัง ในการนี้ต้องทำแบบสำหรับหล่อซิลิโคนขึ้น หรือต้องใช้ทักษะอื่นๆผสมผสานในการทำชิ้นงาน

ยางซิลิโคน pad printing

silicone for pad printing
ภาพแสดงชิ้นส่วนซิลิโคนสำหรับการพิมพ์ ที่เรียกว่า pad printing ซึ่งซิลิโคนชนิดดังกล่าว เช่น ยี่ห้อ dowcoring ชื่อ xiameter RTV-4131-P1 ที่มีแบ่งขายจาก1kg sil-model.com รุ่นP1 เป็นซิลิโคนทีมีแข็งแรงแรงดึง 7.5 MPa ซึ่งสูงกว่าตัวอื่นๆมาก ความหนืดขณะผสม 13,500 mPa.s การหดตัวต่ำกว่า0.1% และมีความยืดหยุ่นสูงมาก สามารถยืดตัวได้มากที่สุดถึง8.5เท่าของขนาดดั้งเดิม ความแข็ง 25 shoreA(68-70 shore00) มีสีขาวขุ่นสามารถผสมสีได้ และสามารถปรับลดความแข็งได้ด้วยการเติมออยซิลิโคนความหนืด 50 Cstในอัตราส่วน 40,60,70,80% ทำให้ได้ความแข็งลดลงเป็น61, 52, 48 ,45 shore00 (45 shore00 = 0 shoreA โดยประมาณ) RTV-4131-P1 pdf , msds(ภาษาไทย)ภาพจาก wikimedia cc-sa by Tecaschweiz
ภาพเครื่องพิมพ์ สองสี ที่ใช้ระบบการพิมพ์ pad printing ซึ่ง มียางซิลิโคนที่เรียกว่า pad เป็นการพิมพ์โดยใช้การส่งภาพรูป2D พิมพ์ลงไปบนชิ้นงาน3D ที่เรียกว่า tampography __ ภาพ wikimedia PD by C.andersson
ภาพเครื่องพิมพ์ สองสี ที่ใช้ระบบการพิมพ์ pad printing ซึ่ง มียางซิลิโคนที่เรียกว่า pad เป็นการพิมพ์โดยใช้การส่งภาพรูป2D พิมพ์ลงไปบนชิ้นงาน3D ที่เรียกว่า tampography __ ภาพ wikimedia PD by C.andersson
การพิมพ์ด้วย pad ยางซิลิโคน บน model Lego ภาพ Flickr cc-nc-nd by Myles Dupont
การพิมพ์ด้วย pad ยางซิลิโคน ด้วยระบบ pad printing บน model Lego ภาพ Flickr cc-nc-nd by Myles Dupontผลงานอื่นๆ

ภาพวีดีโอข้างล่างเป็นการพิมพ์ บนปากกาลูกลื่น ด้วย pad printing ตัวส่งผ่านงานพิมพ์ก็ยังเป็นซิลิโคนตัวเก่งเหมือนเดิม วีดีโอ youtube by LC Printing Machine Factory Limitedนำมาแสดงในที่นี้โดยไม่ได้รับอนุญาต

ภาพวีดีโอข้างล่างเป็นการพิมพ์ บนลูกบอลใหญ่ ด้วย pad printing ตัวส่งผ่านงานพิมพ์ก็ยังเป็นซิลิโคนตัวเก่งเหมือนเดิม วีดีโอ youtube by Muhammad Umairนำมาแสดงในที่นี้โดยไม่ได้รับอนุญาต

ลูกกลิ้งหรือลูกรีดยางซิลิโคน หรือชิ้นส่วนยางซิลิโคนที่ใช้ในงานประเภท heat transfer printing, hot stamping printing

ซิลิโคนไดน์ สำหรับงานปั๊มร้อน Silicone Rubber Hot Stamping Dies ภาพเดิมมาจาก www.cpsfoil.com สำหรับงานพิมพ์จากแผ่นฟลอย ในรูปซิลิโคนจะเป็นยางสีน้ำตาลๆติดกับแผ่นยางสีส้มหรือติดอยู่บนอลูมิเนี่ยมซึ่งการหล่อซิลิโคนประเภทนี้ต้องใช้น้ำยาทาชิ้นโลหะ เพื่อว่าเวลาหล่อยางจะติดกับอลูมิเนียม ส่วนขวาสุดเป็น magnesium die ภาพนี้ถูกนำมาแสดงที่นี้โดยไม่ได้รับอนุญาต การนำไปใช้ต่อควรจำกัด

ซิลิโคนRTV ชนิดนี้มักต้องทนความร้อนสูง มีค่าการนำความร้อนที่ดีกว่าซิลิโคนทั่วๆไป และมีความแข็งสูง ประมาณ 60-80 shoreA ซึ่งในเมืองไทยเท่าที่รู้ยังไม่ค่อยมีซิลิโคนที่มีความแข็งสูงขายหรือมีก็คงหายากสักหน่อย หรือคงต้องนำเข้ามาเอง แต่ถ้าไม่ได้หล่อเองก็ลองไปหาผู้ผลิตลูกกลิ้งซิลิโคน หรือคนขายเครื่องheat transfer printing ในเมืองไทย เขาจะรับจ้างหล่อให้เสร็จเรียบร้อยเลย เคมีเขาคงนำเข้ามาเอง ตัวอย่างของเมืองนอกที่มีดาต้าชีทเด่นชัด เช่น hot stamp silicone , heat transfer silicne ของ ITW United silicone PDF ซึ่งซิลิโคนยี่ห้อดังๆก็หาดาต้าชีทชัดๆเฉพาะทางไม่ค่อยได้เหมือนกัน หรือค้นไม่คอยเจอก็ไม่รู้

กาวที่ใช้ทากับโลหะโมลด์เพื่อให้ซิลิโคนติดกับโลหะหรือวัสดุอื่นเมื่อแข็งตัวขณะหล่อ เช่น DOW CORNING 1200 OS Primer -pdf หาซื้อได้ที่ sil-model.com หรือตัวแทน หรือร้านทั่วไปที่มีขาย “กาวติดซิลิโคน” ซึ่งน้ำยาดังกล่าวใช้ได้ดีกับซิลิโคนRTV(ที่ไม่ใช่กาว)ทำให้ติดกับวัสดุได้หลายชนิด (ไม่ใช่ทุกชนิด ต้องลองปรึกษาผู้ผลิตหรือผู้ขาย)

วีดีโอข้างล่างเป็นการพิมพ์ฟอยล์ลงกระดาษ ด้วยวิธี hot stamp printing ซึ่งจะใช้โมล์ดที่มีส่วนประกอบของฐานอลูมิเนียม หรือเหล็ก หรือทองแดง นำไปหล่อขึ้นรูปกับให้ติดกับยางซิลิโคน ให้ซิลิโคนเป็นเลเยอร์ที่มีความหนาพอ เมื่อจะใช้งานก็นำไปเข้าเครื่องดังรูปให้ความร้อนที่ฐานโลหะส่งผ่านไปยังซิลิโคน และกดลงไปบนแผ่นฟอยล์ ฟอยล์สีทองก็จะติดลงไปบนกระดาษ จริงๆวิธีพิมพ์ก็คล้ายๆกับการทำงานของเครื่องการทำนามบัตรฟอยล์

youtube by LC Printing Machine Factory Limitedนำมาแสดงโดยไม่ได้รับอนุญาต

ภาพ ลูกกลิ้งซิลิโคน ที่อยู่ในเครื่อง laser printer หรือเครื่องทำนามบัตรฟอยล์ ซึ่งซิลิโคนพวกนี้จะเป็นซิลิโคนRTV
ภาพ ลูกกลิ้งซิลิโคน ที่อยู่ในเครื่อง laser printer หรือเครื่องทำนามบัตรฟอยล์ ซึ่งซิลิโคนพวกนี้จะเป็นซิลิโคนRTVที่อยู่ในจำพวกรีดด้วยความร้อน ภาพ wikimedia cc-sa by Ulfbastel
ลูกกลิ้งรีดร้อน ในงานพิมพ์ชนิด heat transfer printing ที่ต้องหล่อขึ้นรูปเป็นชิ้นส่วนซิลิโคนติดกับโลหะ ภาพเดิมมาจาก www.cpsfoil.com ภาพนี้ถูกนำมาแสดงที่นี้โดยไม่ได้รับอนุญาต การนำไปใช้ต่อควรจำกัด
80shoreA_silicone_roller_for_heat_transfer_printing
ภาพ ซิลิโคน สำหรับใช้งานพิมพ์ heat transfer priniting มึความแข็งประมาณ 80 shoreA ภาพ CC by pui108diy

ภาพวีดีโอข้างล่างเป็นการพิมพ์ ชนิด heat transfer printing โดยใช้หลักการคือการส่งผ่านงานพิมพ์จากฟิล์มPET ที่ถูกพิมพ์ด้วยสีชนิดพิเศษ ส่งผ่านงานพิมพ์ไปสู่ถ้วยด้วยความร้อนจากลูกกลิ้งซิลิโคน ซึ่งที่ผิวซิลิโคนมีความร้อนประมาณ200 C

youtube by GD PROPACK นำมาแสดงที่นี่โดยไม่ได้รับอนุญาต

ชิ้นส่วนที่สร้างขึ้นมาเฉพาะทาง หรือสำหรับทางวิศวกรรม การทำชิ้นส่วนเหล่านี้ ต้องอาศัยความรู้หลายด้าน ที่สำคัญคือต้องรู้คุณสมบัติของซิลิโคนอย่างดี และเลือกหรือออกแบบให้เข้ากับงานที่ใช้ ซึ่งในงานพวก ซิลิโคน RTV ที่ผลิตจำนวนน้อย จะมีต้นทุนต่ำที่สุด ถ้าแบบชิ้นงานไม่ซับซ้อนเกินไป เช่น ซีล ล้อ ที่อุด ท่อ ตัวกันกระแทก แน่นอนครับถ้าเราทำไม่เป็นเราก็สามารถจ้างผู้ผลิต สร้างชิ้นงานให้เราได้ ในราคาหลักหมื่น จะถูกหรือแพงกว่านั้นก็ได้ขึ้นกับความซับซ้อนของแบบ แต่เราจะทำเองก็ได้เหมือนกันครับ

ชิ้นส่วนซิลิโคน จาก pacorubber.com
ชิ้นส่วนซิลิโคน เท่าที่ดูผมไม่แน่ใจว่าเป็นซิลิโคนRTV หรือเปล่า แต่ ซิลิโคนRTV ก็ทำได้เหมือนกัน ภาพจาก pacorubber.com ภาพนี้ถูกนำมาแสดงที่นี้โดยไม่ได้รับอนุญาต การนำไปใช้ต่อควรจำกัด
silicone part ชิ้นส่วนยางซิลิโคน
ภาพ CC by pui108diy ชิ้นส่วนซีลซิลิโคนสำหรับตัวฉีด ที่ดัดแปลงมาจากปืนฉีดซิลิโคน ทำเองครับอันนี้ เด๋วจะหาว่ามีแต่ก๊อปรูปเขามา 🙂 ซิลิโคนที่ใช้สีฟ้าเป็นชนิดแอ๊ดดิชั่นเคียว โลละ1200- เมื่อ3ปีก่อนนะ มันหดตัวน้อยมากและมีความแข็งค่อนข้างดี ประมาณ 50 shoreA ทำโมล์ดหล่อเรซิ่นก็ได้ ทำชิ้นส่วนก็ดี ส่วนสีขาวขุ่นๆเป็น superlene ไม่ใช่ซิลิโคน ส่วนท่อสีดำเป็นท่อ HDPE ขนาดท่อ75mm เอาไว้ผสมเรซิ่นในงานฉีดเข้าโมลด์

การเลือกใช้ชนิดซิลิโคนที่เจาะจงลงไปกว่านี้นี้ต้องเลือกจากคุณสมบัติที่ต้องการ เช่น ความแข็ง-ความนิ่ม การยืดหยุ่น ความทนทานต่อสภาวะ การหดตัว การเป็นฉนวนไฟฟ้า หรือความสะดวกในการทำงาน ความปลอดภัยกับผู้บริโภคหรือผู้สัมผัสกับยางนั้นๆ เป็นต้น ซึ่งตัวอย่างการประยุกต์ใช้งานซิลิโคนที่กล่าวมาข้างต้น ยังมีรายละเอียด และชนิดของซิลิโคนอีกมากมาย ซึ่งจะกล่าวให้ละเอียดในตอนหลังๆ

ซิลิโคนRTV แบ่งตามชนิดส่วนผสมในการทำปฏิกิริยาแข็งตัว

การแบ่งชนิดซิลิโคนนี้ผมแบ่งตามการใช้งาน ถ้าสนใจจะศึกษาเพิ่มเติมให้หาเอาจากผู้ผลิต เช่น Wacker ในเรื่อง SILICONE RUBBER Chemical Crosslinking Principle (ซึ่งจะแบ่งตามชนิดการเกิดปฏิกิริยาทางเคมีในการแข็งตัว จะแบ่งออกได้เป็น 3ประเภท Platinum-Catalyzed Addition Curing ,Peroxide Curing, Condensation Curing ซึ่งจะกล่าวรวมกันทั้งซิลิโคนชนิด RTV , HTV และซิลิโคนอื่นๆ)

1. ซิลิโคนRTV-1 ชนิดม๊อยสเจอร์เคียว (moisture cure)

ซิลิโคนที่แข็งตัวได้ด้วยการทำปฏิกิริยากับความชื้นในอากาศ เกิดผลิตภัณท์ส่วนเกินคือสารระเหยตัวของเคมีที่ได้จากการทำปฏิกิริยาเป็นของแข็ง ซึ่งจะมีการระเหยไปในอากาศ ถ้าความชื้นในอากาศมีมากการแข็งต้วจะเกิดเร็วขึ้น ซิลิโคนประเภทนี้ไม่ต้องมีส่วนผสมเพิ่มเติม ผู้ผลิตผสมมาเรียบร้อยแล้ว เมื่อแข็งตัวจะอาจมีการหดตัวมากถึง 3%โดยปริมาตร เช่น กาวซิลิโคน ในดาต้าชีทของ Wacker จะเรียกซิลิโคนชนิดนี้ว่า RTV-1 ซึ่งเลขหนึ่งหมายถึงมีส่วนผสมเดียวไม่ต้องผสมอย่างอื่นเพิ่มก็แข็งตัวได้เลย จริงๆแล้วพวกกาวซิลิโคนม๊อยสเจอร์เคียวร์ ก็จัดอยู่ประเภท การเกิดปฏิกิริยาประเภทคอนเด็นเซชั่นประเภทหนึ่ง ซึ่งจะกล่าวให้ละเอียดในบทต่อไป หรือจะไปหาอ่านใน pdf Wacker- Bonding, Sealing, Potting/Encapsulation and Coating with RTV Silicone Rubber Compounds

เช่นกาวซิลิโคน ในท้องตลาดประเทศไทยจะมีอยู่ 2 ชนิดที่หาซื้อได้ง่ายตามร้านฮาร์ดแวร์ทั่วไป คือกาวที่ระหว่างการแข็งตัวที่ให้กรดอะซิติกหรือกรดน้ำส้มเปรี้ยว(ที่ใส่กับก๋วยเตี๋ยว)เรียกอีกอย่างว่ากาวซิลิโคนชนิกกรด(ราคา65-90 บาท/300ml) และอีกชนิดที่ไม่ใช่กรดคือชนิดoxime(กาวซิลิโคนอย่างดีสำหรับกระจก ตู้ปลา ยี่ห้อsonyราคา150-180บาท/330ml)

ในการแข็งตัวค่อนข้างต้องใช้เวลานานถ้าชิ้นงานมีความหนา ส่วนใหญ่ไม่ควรหนาเกิน 6-10 มิลลิเมตร ซึ่งจะใช้เวลานานหลายวัน ถ้าบางๆ1 มิล อาจจะใช้เวลาไม่เกิน 3-4ชั่วโมง ขึ้นกับชนิดที่ผู้ผลิตระบุไว้ เนื่องจากมีคุณสมบัติเป็นกาว ถ้าจะเอามาประยุกต์ใช้มาทำการหล่อเป็นแบบต้องทาสารกันติดกับวัสดุ เช่นวาสลีน PVA กาวลาเทกซ์ หรือสเปรย์น้ำมันกันติด (ขึ้นกับต้นแบบเป็นอะไร) เป็นต้น

2. ซิลิโคนRTV-2 ชนิดคอนเด็นเซชั่นเคียว (Condensation cure)

ภาพจำลองการเกิดปฏิกริยากลายเป็นของแข็ง ของซิลิโคนชนิด RTV-2 condensation curing จะมีทั้งสารตัวเชื่อม curing agent และสารตัวเร่ง คือ ดีบุก Sn catalyst เมื่อสิ้นสุดกระบวนการ โมเลกุลด้านบนหลายๆอันก็รวมเป็นหนึ่ง และเกิดโพรดักส์ส่วนเกินคือ สารประกอบที่มีหมูไดอัล R-OH เช่นพวกกลุ่มสารประกอบแอลกอฮอล์ เป็นต้น ภาพจากเว็บไซด์ผู้ผลิต นำมาแสดงโดยไม่ได้รับอนุญาต การแชร์ใข้ควรจำกัด

ซิลิโคนประเภทนี้ต้องใช้ส่วนผสมสองชนิด ผสมกันจึงจะเริ่มเกิดการแข็งตัว ส่วนผสมที่เพิ่มเติมเข้าไปจะมีสารประกอบที่มีดีบุกหรือสารประกอบติเตเนียม เป็นแคตตาไลซ์ Tin หรือ organotitanium compounds ซึ่งเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาให้แข็งตัวได้เองที่อุณหภูมิห้อง ปฏิกิริยาหรือผลิตภัณท์ส่วนเกินอาจได้สารประกอบแอลกอฮอล์ หรือน้ำเล็กน้อย(เวลาแข็งจะได้กลิ่นประมาณแอลกอฮอล์ซะส่วนใหญ่) เหมาะสำหรับงานหล่อ และทำต้นแบบ ส่วนใหญ่ราคาจะถูกกว่าแพลตตินั่มเคียวอยู่ 40-120 เปอร์เซนต์ เปอร์เซนการหดตัว ประมาณ 0.1-0.5เปอร์เซนต์(Dow corning -xiameter ชนิด condensation cure) มีการหดตัวสูงกว่าแบบ Addition cure (xiameter น้อยกว่า0.1%) ผสมง่ายแข็งตัวดีในทุกที่ ส่วนผสมไม่ต้องเป๊ะ เทง่าย ส่วนใหญ่ความข้นไม่สูง ทำแบบได้ทุกพื้นผิวชิ้นงาน งานหล่อโดยเฉพาะ โพลีเอสเตอร์เรซิ่น โพลี่ยูรีเทน อีพ็อกซี ปูนปลาสเตอร์ เทียน หินทรายหรืออิฐแปลกๆ (ส่วนใหญ่ซิลิโคนชนิดนี้แทบจะไม่ติดกับวัสดุอะไรเลย แต่มีบางสูตรเคมีที่ผู้ผลิตผสมทำให้ติดกับวัสดุบางประเภทเพื่อเททับในงานอิเล็กทรอนิกส์ไฟฟ้าสำหรับงานฉนวนไฟฟ้า หรือป้องกันความร้อน)

3. ซิลิโคนRTV-2 ชนิดแอ๊ดดิชั่นเคียว (Addition cure)

ภาพแสดงการเชื่อมต่อระหว่างโครงสร้างของโมเลกุล ในซิลิโคน RTV-2 Addition cure การเชื่อมโยงจะมีการเชื่อมก้นมากกว่า2แขนในหนึ่งโมเลกุล จึงทำให้มีการหดตัวต่ำมาก การใช้แพลตตินั่มเป็นตัวเร่งแข็ง ทำให้ไม่เกิดกลิ่นหรือรสที่ไม่พึงประสงค์ในซิลิโคน ในกลุ่มซิลิโคนประเภทนี้มักเจาะตลาดกับซิลิโคนที่ใช้กับอาหารได้ ภาพจากเว็บไซด์ผู้ผลิต นำมาแสดงโดยไม่ได้รับอนุญาต การแชร์ใข้ควรจำกัด

ซิลิโคนประเภทนี้ต้องใช้ส่วนผสมสองชนิด ผสมกันจึงจะเริ่มเกิดการแข็งตัว ส่วนผสมที่เพิ่มเติมเข้าไปจะมีสารประกอบที่มีแพลทตินั่มเป็นตัวเร่งปฏิกิริยา Platinum Catalyzed โดยผู้ผลิตจะออกแบบให้มีกการเชื่อมพันธะระหว่างโมเลกุลเป็นสามมิติ ซึ่งมีคุณสมบัติที่สำคัญคือ การหดตัวต่ำมาก 0.1% หรือน้อยกว่า ราคาสูงกว่าชนิดอื่นๆ การผสมต้องได้อัตราส่วนที่พอดีตามน้ำหนักหรือปริมาณ การแข็งตัวจะถูกยับยั้งไม่ให้แข็งถ้าเจอกับสารประกอบที่มี ไนโตรเจน ดีบุก ซัลเฟอร์ เอมีน และอื่นๆ (tin, sulphur amines )-pdf จาก Dow corning สามารถแข็งตัวในพื้นที่ปิด และสามารถเร่งให้แข็งเร็วขึ้นด้วยความร้อน เหมาะกับงานหล่ออีพ็อกซี โลหะผสมที่มีจุดหลอมเหลวต่ำ และโพลียูรีเทน

ปัญหาซิลิโคนไม่แข็งเพราะเจอสารที่มันไม่ชอบ ผมเคยใช้ ซิลิโคน ชนิด ที่ใช้ แพลทตินั่มเป็นตัวเร่งแข็ง แต่กรอบนอกที่เอาไว้พยุงซิลิโคนเป็นปูนปลาสเตอร์ ตอนนั้นเคยเจอปัญหาที่ ซิลิโคนไม่แข็งเฉพาะบริเวณที่สัมผัสกับปูนพลาสเตอร์ที่เพิ่งเทยังไม่ข้ามคืนตอนแกะแบบออกพบน้ำ ผมไม่เข้าใจว่ามันไม่ถูกกับน้ำหรือมันไม่ถูกกับซัลเฟอร์ ในสารประกอบที่ทำปูนปลาสเตอร์ซึ่งเป็น CaSO4 เอาไว้ทดลองให้แน่ใจแล้วจะมาบอกครับแต่ประโยคข้างบนผมเอามาจากที่นี่ครับเขาบอกว่ามันไม่ถูกกับซัลเฟอร์ pdf-Fact on file-Dow corning Guarding against potential inhibitors/poisons of platinum-catalyzed addition-cure release coatings แต่ถ้าเป็นซิลิโคนชนิดคอนเด็นเซชั่นเคียวมันแข็งได้ดีไม่มีปัญหา กับปูนพลาสเตอร์ที่ยังไม่ข้ามคืนดีก็แข็งดีไม่มีปัญหานะครับ แต่กับแพลตตินั่ม ตัวต้นแบบหรือการปนเปื้อนสารประกอบหลายตัวอาจทำให้มันแข็งช้า หรือเกิดการยับยั้งการแข็งตัวได้ อย่างไรก็ลองศึกษาให้ดีด้วยครับ

สารเคมีที่เกียวข้องกับส่วนผสมซิลิโคนทำพิมพ์

1. ตัวทำให้ซิลิโคนเหลว หรือข้นน้อยลง ส่งผลทำให้ยางที่ได้นิ่มขึ้นด้วย แต่การหดตัวมีมากขึ้น การทนต่อแรงดึงจะลดลง ตามภาษาที่เขาขายกันเรียกซิลิโคนออย แต่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยนิยมใช้เท่าไหร่ ตั้งแต่ทำงานมาไม่เคยใช้เลย อยากได้ข้นแข็งแบบข้นแข็งก็มีขาย อยากได้เหลวๆอ่อนๆแบบนั้นก็มีขาย ก็เลยไม่ค่อยได้ใช้ เช่นของ ยี่ห้อ dow corning ชื่อเรียกว่า ที่ขาย>DC 200 fluid เขาบอกว่าใส่ได้ไม่เกิน 20 เปอร์เซนต์โดยน้ำหนัก ผมไม่แน่ใจว่า ซิลิโคนชนิด แอ๊ดดิชั่นเคียวใส่ได้หรือเปล่า แต่แบบ คอนเด็นเซชั่นเคียวใส่ได้แน่ๆ

2. ตัวทำให้ซิลิโคนข้นไม่ไหล ตามภาษาที่เขาซื้อขายกันเรียกว่าทำให้ซิลิโคนเช็ทตัวเร็วเหมือนแป้งเปียก เซทตัวเร็วไม่ไหล หรือทำให้ซิลิโคนเสีย คำว่าเสียในภาษาที่เขาทำงานกัน คือเมื่อผสมซิลิโคนแล้วจะมีเวลาเริ่มเซทตัว โดยทั่วไปประมาณ 15-20 นาที แล้วมันจะหนืดจับกันเป็นก้อนๆเหมือนเต้าส่วนที่ข้นมากๆ ไม่สามารถทาหรือเกลี่ยงานเก็บรายละเอียดได้แล้ว เขาจึงเรียกว่าเสีย ได้แต่เทลงไปให้ติดกับที่เทไปก่อนหน้านี้ ยี่ห้อของ Dow corning ชื่อเรียก ที่ขาย>Thixo additive xiameter® rtv-3011 เขาบอกว่าใส่ไม่เกิน 3เปอร์เซนต์ โดยน้ำหนัก และใช้ได้กับ พวกคอนเด็นเซชั่นเคียวเท่านั้น

ตัวทำให้เซ็ทตัวเร็วผิดปรกติ ในเมืองไทยนิยมใช้ แต่ในต่างประเทศไม่นิยม เพราะว่า เมืองไทยคิดว่าซิลิโคนคือของแพง ชิ้นงานเล็กๆไม่ควรมีความหนาเกิน4 มิล เมื่อลงรอบแรกเก็บรายละเอียดแล้วใช้เวลาไปครึ่งชั่วโมง หนาประมาณ1-2มิล รอบที่สองหรือสามมักผสมตัวทำให้ซิลิโคนข้น แต่มันข้นแบบเสียๆผิวไม่เรียบนัก(ผมไม่ค่อยชอบใช้)ถ้าลงอีกรอบ2-3มิล มันจะเป็นตะปุ่มตะปั่ม ส่วนเมืองนอกเขาคิดว่าเสียเวลากับค่าแรงที่เสียไป2-3 ชั่วโมงกับค่าวัสดุที่ถูกเพราะเขาซื้อได้ถูกกว่าเมืองไทย เขาจะล้อมทำกรอบแล้วเทหนาๆรอบเดียวจบ อย่างต่ำ ต้องท่วมชิ้นงาน หนาเท่าไหร่ก็ช่าง บางที 15-50 มิล เขาก็ไม่สนใจง่ายดี

3. แม่สีสำหรับผสมสีในซิลิโคน ลองสอบถามผู้ขายตามร้านดูเขาจะพอแนะนำได้ ส่วนใหญ่เป็นสีเหลวๆข้นๆ

4. ตัวรองพื้นทาวัสดุ แล้วเมื่อเทหล่อจะทำให้ซิลิโคนมีคุณสมบัติเป็นกาวติดกับอะไรก็ได้ (ยกเว้นพลาสติกที่มีคุณสมบัติที่ซิลิโคนไม่ติด เช่น PE HDPE เทฟล่อน เป็นต้น) Dow corning ที่ขาย>OS 1200 primer pdf-en เขามีไว้เพื่อหล่อลูกกลิ้งเช่นเหล็กเพลากับยางซิลิโคนชนิด RTV เป็นต้น วิธีการใช้งานหาอ่านได้จากดาต้าชีทของมัน เขาบอกให้ทากับวัสดุอะไรก็ได้ทิ้งให้แห้งในอากาศอย่างน้อย1-2 ชั่วโมง(เป็นชนิดม๊อสเจอร์เคียว) จากนั่นก็เทหล่อซิลิโคนที่ไม่ติดกับวัสดุอะไรเลยกับพื้นผิวใดๆก็จะกลายเป็นซิลิโคนที่ติดกับพื้นผิวนั้นๆ กระจก ปูน เหล็ก ก็ทำได้หมดครับ ยังใช้ได้กับ ซิลิโคนกาวและซิลิโคนชนิดที่ต้องอบให้ความร้อน ซิลิโคนHTV ก็ใช้ได้

5. ตัวทำแข็งซิลิโคน(curing agent) จะแบ่งเป็นสองประเภทคือชนิดน้ำใสแจ๋ว(เป็นประเภทคอนเด็นเซชั่นเคียวแน่ๆ) และ ชนิดที่แบ่งมาให้อีกขวดแล้วมีสีผสมเป็นของเหลวข้นๆ(อาจประเภทแอ๊ดดิชั่นเคียว) เอาเป็นว่า ซิลิโคนทำโมลด์ทั่วๆไปที่ราคาไม่เกินพันบาทต่อกิโลกรัมเป็นประเภทคอนเด็นเซชั่นเคียว ผู้ขายย่านพรานนกมัก บอกว่าใส่น้อยแข็งช้า ใส่มากแข็งเร็ว และสามารถซื้อเพิ่มได้อีกต่างหาก (ของพวกแพงๆพวกแอ๊ดดิชั่นเคียวไม่มีให้ซื้อเพิ่มต้องใส่ให้เป๊ะ) ซิลิโคนทำโมลด์ที่ราคาไม่สูง จะใส่ตัวทำแข็งโดยประมาณคือ 2-4% โดยน้ำหนัก ใส่น้อยเกินไปเช่นต่ำกว่า 1 เปอร์เซนต์ ซิลิโคนจะไม่แข็ง ต่อให้ข้ามวันก็ตาม(เคยแล้ว) ซึ่งจริงๆจะต้องศึกษาจากดาต้าชีทให้ชัดก่อนใช้งาน โดยทั่วไปจะใส่ 4-5% ซึ่งก็แล้วแต่ยี่ห้อและเบอร์อีก เช่นพวกตัวทำแข็งของซิลิโคนแอ๊ดดิชั่นเคียวของDow corning จะใส่ประมาณ10%

เช่น ยี่ห้อ Dow corning ระบุให้ใช้กับซิลิโคน SILASTIC RTV-3481 ความแข็ง 22 shoreA , RTV-3498 30shoreA สำหรับใช้ในงานหล่อเรซิ่น สบู่ เทียน ขี้ผึ้ง พระ ให้ใส่ตัวทำแข็ง 5% โดยน้ำหนัก ตัวทำแข็งก็ยังมีอีกหลายแบบ มีเวลาทำงานหรือ work time ชนิดยังไม่เป็นเต้าส่วนทำงานเก็บแบบได้

เบอร์ตัวทำแข็ง เวลาที่ทำงานได้ เวลาถอดโมลด์

Rtv-3081 agent ทำงานได้ 1ชม.ครึ่ง ถอด 24 ชม.

Rtv-3081-R ทนเรซิ่น ทำงานได้ 1ชม.ครึ่ง ถอด 24 ชม.

Rtv-3081-F fast ทำงานได้ ครึ่งชม. ถอด 6 ชม.

Rtv-3081-VF veryfast ทำงานได้ 8นาที ถอด 2 ชม.

ปริมาณ ตัวทำแข็งซิลิโคน dow corning
ตารางชนิดและ ปริมาณตัวทำแข็งซิลิโคนที่ใส่ ของ dow corning บอกเวลา ในการทำงาน และถอดโมลด์ได้ ที่ขีดถูกประมาณว่ามีขายในเมืองไทย ปริมาณที่ใส่บอกเป็นอัตราส่วนโดยน้ำหนัก เช่น 100:5 หมายถึง เนื้อซิลิโคน 100 กรัม ใส่ตัวทำแข็งได้ 5 กรัม จะเห็นได้ว่า บางตัวทำแข็งก็ใช้ตัวเดียวกันแต่ใส่ปริมาณน้อยกว่าได้ การแข็งตัวก็จะช้าลง โดยหลักแล้วควรใส่ให้ตรงตามที่ผู้ผลิตได้ให้ไว้จะใช้งานได้ยาวนานกว่า ถ้าอ่านดาต้าชีทเกือบทุกตัวโดยเฉพาะพวกคอนเด็นเซชั่นเคียวการผสมควรผสมทีละน้อยและอย่ากวนหรือผสมนานจนกระทั่งอุณหภูมิเกิน35 องศาC แต่ไม่ได้บอกว่าทำไม? ภาพตัดมาจากเอกสารผู้ผลิตโดยไม่ได้รับอนุญาต การเอาไปใช้ต่อควรจำกัด

มาลองดู ตัวทำแข็ง ซิลิโคนของเยอรมันบ้าง เช่น Elastosil M4503 ของ Wacker เบอร์นี้ทำตลาดในเมืองไทยนานมากแล้ว หาซื้อได้ตามร้านขายปลีกทั่วไปหรือตามย่านพรานนก เป็นที่นิยมมากสำหรับทำโมลด์สำหรับหล่อเรซิ่น ราคากิโลนึงไม่เกินพันบาท(2553) อย่างหนึ่งที่ดีคือเก็บรายละเอียดได้ดี ไม่ข้นมากเวลาเท หรือเก็บรายละเอียด ความแข็ง 25 Shore A ความยืดตัวสูงสุด3.5เท่า ในดาต้าชีทบอกว่า ทนต่อโพลีเอสเตอร์เรซิ่น
ใช้กับตัวทำแข็ง เบอร์ T35 ใส่ได้ 5% โดยน้ำหนัก ใช้เวลาทำงานก่อนแข็ง ประมาณ 1 ชั่วโมง ถอดโมลด์ได้ราวๆ 20 ชั่วโมง

wacker-elastosil-T-SeriesCatalysts use and work time
รายการตัวทำแข็ง หรือ catalyze รุ่น T series สำหรับซิลิโคน ยี่ห้อ Wacker ชื่อทางการค้าว่า Elastosil ในตารางเป็นตัวทำแข็ง เบอร์ซิลิโคน M4503 ,M4400 เป็นซิลิโคนชนิดคอนเด็นเซชั่นเคียว เบอร์ตัวทำแข็งจะขึ้นต้นด้วย T และบอกถึงปริมาณการใส่(%W/W) เวลาที่ยังเทได้-(pot life) และเวลาให้มันแข็งตัว-(cure time) รูปตัดมาจากเอกสาร WACKER® T-series catalysts นำมาใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต การนำไปใช้ต่อควรจำกัด

ส่วนซิลิโคนฝรั่งเศสเบอร์585 ที่คนเก่าๆยังติดใจในการใช้งานเพราะเนื้อซิลิโคนค่อนข้างแข็งสามารถทำแบบหล่อด้วยความหนาเพียง3มิลก็พอใช้ได้แล้วครับถ้าประหยัด-บาง-แข็งหน่อยแนะนำเลย หล่อเรซิ่นได้สบายหลายสิบครั้ง แต่เดิมเป็นยี่ห้อ Rhodia ซิลิโคน RTV 585 ใช้พร้อมกับ ตัวทำแข็ง catalyst 60R กำหนดให้ใส่ 2%โดยน้ำหนักเท่านั้น ความแข็ง 25 shoreA ยืดตัวก่อนขาดได้3.5เท่า เวลาทำงาน 60 นาที ถอดโมลด์24ชม. หดตัว0.3-0.6% ราคาไม่สูง เหมาะกับการหล่อเรซิ่นและงานหล่ออื่นๆก็ใช้ได้ ถ้าใส่มั่วๆเอาเยอะเข้าว่ามันจะแข็งเร็วแต่ถ้าเอาไปหล่อเรซิ่นหลายๆครั้งเนื้อจะเหลืองแล้วจะขาดง่ายนะครับตัวนี้เป็นอย่างนี้จริงๆ เนื้อซิลิโคนมันค่อนข้างข้นผสมแล้วจะโกยฟองจะเยอะสักหน่อย แต่ถ้ามีฝีมือก็ไม่ต้องเข้าตู้ดูดอากาศก็ได้ครับใช้หลักทาบางๆประหยัดงบเข้าว่า

จริงๆจำได้ว่าตัวนี้เวลาทำงานก่อนมันเป็นเต้าส่วนข้นคลั่กประมาณครึ่งชั่วโมงเองนี่นา-สงสัยตอนนั้นใสตัวทำแข็งเยอะถึง3-4%มั่วเข้าว่าดาต้าชีอะไรไม่รู้จัก ถ้ามันนานไปให้เลย์เก็บแบบรอบนึง แล้วเทเลย จากนั้นก็ไปกินหนมสัก10-15นาที แล้วค่อยมาเอาปลายด้ามพู่กันเตะฟองออกจากนั้นก็โกบทีเดียวก่อนแข็ง ถ้าไม่รอเวลามาโกยบ่อยๆโกยไปโกยมาก็ยังไม่ถึงเวลาไม่แข็งก็เมื่อยไม่ได้อารัย อันนี้ต้องพัฒนาเทคนิกเอาเองนะ ส่วนใหญ่ถ้าทำพิมพ์บางๆจะผสมเทสองครั้ง ครั้งแรกโกยเข้าโมเดลให้เยอะที่สุด ขอบประกบไม่ต้องมีเนื้อเลยก็ได้พอเริ่มเป็นเต้าส่วนอยู่ตัวแล้ว ก็ผสมอีกรอบค่อยเทขอบแล้วอาศัยโกยเข้าไปถมโมเดลที่ยางมันเละๆเป็นเต้าส่วนไม่ไหลแล้วนั่นแหล่ะเพื่อให้เนื้อเรียบดูดี เนื่องจากผมไม่นิยมใส่ตัวทำให้ซิลิโคนข้นแข็งเร็วขึ้นเลยทำอย่างนี้

ปัจจุบัน RTV 585/60R ผู้ผลิตเป็นจีนชื่อbluestarsilicones.com ถูกจีนเทคโอเวอร์ไปแล้ว คุณภาพยังเหมือนเดิมหรือเปล่าไม่รู้นิ เพราะตอนที่ได้ลองใช้มันยังเป็นยี่ห้อเดิมอยู่ แต่ยังมีขายอยู่เกือบทุกร้านในย่านพรานนก เท่าที่เข้าใจคุณภาพน่าจะใกล้เคียงเดิม เพราะbluestarsilicones ยังทำตลาดในชื่อRhodosil RTV-2 ซึ่งเป็นpdf ตั้งแต่เวอร์ชั่นปี2008

เคยผสมทีละกิโลนึง ตอนนั้นก็นึกว่าจะฉลาดเอาใบพัดปั่นสีที่ทำเองเฉพาะมาใช้ ตวงเรียบร้อยดี เทตัวทำแข็งลงไปบนภาชนะที่มีซิลิโคน1กิโล แล้วเอาสว่านปั่นสีลงกวน ไม่ทันถึงนาที ปรากฎว่าซิลิโคนแข็งเป็นเต้าส่วน ปรกติจะใช้เวลาประมาณ 20 นาที อยู่ๆกลายเป็นนาทีเดียวแข็ง หาสาเหตุไม่เจอ แต่เข้าใจอยู่อย่างเดียวคือ ใช้สว่านปั่นสีไม่เวิร์ก แต่พอมาอ่านว่าอย่าให้อุณหภูมิเกิน 35C นี่เข้าใจทันทีเลย เพราะการกวนด้วยสว่านมันทำให้เกิดแรงเสียดทานขณะผสม บวกกับอากาศในเมืองไทยที่ร้อนทำให้เกิดกระบวนการแข็งตัวอย่างรวดเร็ว ทางแก้ก็คือเอาซิลิโคนและตัวทำแข็งเข้าตู้เย็นแล้วค่อยเอาออกมาผสม อีกอย่างที่สังเกตคือ ควรเทตัวทำแข็งทีละน้อยค่อยๆผสมไป ถ้าใช้สว่านปั่นสีใบพัดควรออกแบบใบพัดที่เล็กๆที่ไม่เกิดแรงเสียดทานหมุนหรือดูดสีตีสีดี เอาประมาณก้านๆกลมแบบไม่ใช่ใบพัด ค่อยๆผสมกวนไปรอบอย่าสูงมากให้เข้ากัน ก็น่าจะโอนะ (บอกวิธีแต่ไม่เคยลองอ่ะนะ)

ตัวทำแข็งหรือตัวเร่งปฏิกิริยาให้แข็ง ขึ้นกับชนิดของซิลิโคน ซึ่งต้องชั่งตวงวัดให้เป๊ะจะดีที่สุด จำได้ว่าซิลิโคนชนิดเอาไว้หล่อโพลีเอสเตอร์เรซิ่น-ชนิดคอนเด็นเซชั่นเคียว เขาให้ใส่ได้ 2-4% อ่านจากในหนังสือที่เขาว่า แต่ไม่รู้ชนิดไหน ตอนนั้นจำได้ว่าซื้อซิลิโคนเยอรมัน กับฝรั่งเศสมา ก็ใส่ไปก็มั่วๆให้เยอะเข้าว่า ใช้งานแล้วพบว่าทำให้ซิลิโคนขาดเร็วหรือชำรุดเร็ว แถมไม่ค่อยทนกับการฉีกขาด ใส่น้อยก็ไม่แข็ง ฉะนั้นซื้อยี่ห้อ รุ่นอะไรมา ต้องหาคู่มือมาอ่านใส่ให้เป๊ะดีที่สุด เดี๋ยวนี้มีเครื่องชั่งอีเล็กทรอนิกส์แล้วคำนวนง่าย แต่ก่อนใช้ถ้วยแดงที่เอาไว้ใส่น้ำชาไหว้เจ้าตวง ถ้วยนึงประมาณเกือบ 25 กรัม ใช้หยดตัวทำแข็งก็ 25-30หยด เลยต้องใช้ตวงหลายขนาดเช่นขวดนมเปรี้ยวสำหรับ 50 -100 กรัม แล้ววิ่งไปลองชั่งที่ร้านขายยายืมเครื่องชั่งยามาใช้ดู(เมื่อ18ปีที่แล้วน่ะ) ว่าถ้วยตวงเราตวงแล้วได้กี่กรัม แล้วเราก็คำนวนหยดดูง่ายดีไม่ต้องชั่งบ่อย ซื้อหลอดหยดจากร้านขายเครื่องเคมีหรือศึกษาภัณท์

เทคนิคการคนผสมตัวทำแข็งกับซิลิโคน ต้องคนให้ทั่วโดยเฉพาะตามขอบถ้วยต้องใช้ปลายไม้ควักออกมาผสมจนไม่เห็นน้ำใสๆอีกต่อไป การกวนผสมต้องค่อยๆกวนแบบนวดไปด้วย ไม่ใช่หมุนวนเหมือนตีไข่ฟองจะเข้าเนื้อกระจาย เมื่อผสมแล้วก็นำไปใช้ได้เลย(เฉพาะซิลิโคนที่ความหนืดไม่สูง เอาไว้หล่อเรซิ่น ฟองจะลอยขึ้นมาหมดใน10 นาที ถ้าหล่อไม่หนามากไม่เกิน5มิลลิเมตร) ส่วนซิลิโคนแพงๆความหนืดสูงต้องเข้าตู้ดูดอากาศก่อนใช้ ไม่งั้นฟองไม่ลอยขึ้นมาแน่นอน การผสมนอกจากส่วนผสมจะเป๊ะแล้วการกวนจะดีและถูกต้องจะดูได้จาก ถ้วยผสมที่ซิลิโคนเหลืออยู่ ถ้าสามารถแกะซิลิโคนออกจากถ้วยได้โดยที่ทั้งชิ้นซิลิโคนที่ก้นถ้วยไม่มีส่วนเหนียวเหนอหนะแบบว่าไม่แข็งเหลืออยู่ แสดงว่าเข้าขั้นผู้ชำนาญการแล้ว นิยมค่อยๆผสมทีละน้อย ตามถ้วยแดงไหว้เจ้า ใหญ่ขึ้นหน่อยก็หาประยุกต์เอา ส่วนจะขี้เกียจตวงวัด ก็ใช้วิธีการน้บหยดก็ได้มันก็แม่นยำพอดี แต่ถ้าจำนวนมากก็ใช้ตาชั่งจะดีกว่า

 92,647 total views,  4 views today

Comments

comments

เผยแพร่โดย

pui

เรียน อนุบาลวัฒนา อัสสัมชัญ พระจอมเกล้าลาดกระบัง ทำงาน ซ่อมบำรุงเครื่องจักร ออกแบบโรงงาน ทีปรึกษาซ่อมเครื่องจักร อดิเรก ทำเว็บ ทำงานประดิษฐ์ ปลูกต้นไม้ เขียนบล็อก ทำสมาธิวิปัสสนา อนาคต ขายของ บวช เข้าถึงธรรมะ

9 thoughts on “How Silicone DIY EP2 -0 แนะนำชนิดซิลิโคนRTV ซิลิโคนที่หล่อเองได้”

  1. ไม่ทราบว่าsilicone ที่พี่เล่าให้ฟังสามารถใช้ในทางการแพทย์ได้มั้ยครับ เช่นเอาไปหล่อทำsilicone เสริมจมูก

    1. เท่าที่ศึกษาดูไม่มีระบุไว้ มีแค่อย่างมากคือใช้สัมผัสอาหารได้ครับ ต้องลองสอบถามผู้ผลิตดู

  2. ขออนุญาติครับ: สำหรับท่านที่มองหายางซิลิโคนสำหรับงานทำแม่พิมพ์และงานชิ้นส่วนเฉพาะ ทางเราจำหน่ายผลิตภัณฑ์คุณภาพด้านยางซิลิโคนทำแม่พิมพ์และเรซิ่นครบวงจรโดย Super Silicone & Resin Art ติดต่อเรา 092-6492-792 หรือ https://www.facebook.com/SuperSiliconeAndResinArt

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *