How Silicone DIY EP3a -012 แนะนำกาวซิลิโคนRTV ,ทดสอบตัวกันซิลิโคนติด ,ทดสอบหล่อแบบด้วยกาว

คนเราหากไม่ลองทำอะไรบ้าๆ

(อย่างสร้างสรรค์)ดูบ้าง

เราก็จะไม่รู้ว่าเราบ้าพอที่จะทำอะไรได้บ้าง

เนื้อหาในบทนี้ คือแนะนำให้รู้จักกาวซิลิโคนRTV หรือซิลิโคนซีลแลนท์ ซึ่งส่วนใหญ่ใช้กับปืนซิลิโคนเอาไว้อุดรอยรั่วในงานก่อสร้าง ติดกระจก ประสานกระจกทำตู้ปลา ซึ่งในบทนี้จะกล่าวค่อนข้างลึกและแยกย่อยเยอะในเรื่องกาวซิลิโคน ซึ่งอาจไม่จำเป็นสำหรับงาน DIY อ่านข้ามๆไปได้เลย

ทดสอบหาตัวกันกาวซิลิโคนติด ทำไปเพื่ออะไรครับ ในงานดีไอวาย เราจะนำกาวซิลิโคนมาทำแบบพิมพ์ซิลิโคน หรือแม้แต่เอากาวซิลิโคนมาหล่อเป็นชิ้นงาน จึงต้องหาสารกันติดที่เหมาะสมสำหรับกาวซิลิโคน เพื่อให้ซิลิโคนคงคุณสมบัติที่ไม่มีสารปลอมปนติดเข้าไปกับเนื้อกาวด้วย เช่นการใช้แป้งมันเพื่อทากันกาวซิลิโคนติดอย่างนี้ยังถือว่าเป็นตัวกันติดที่ยังไม่ดีนัก จึงมีการทดสอบการหาสารกันติด และสรุปผลเป็น การเลือกน้ำยาถอดแบบให้การทำชิ้นงานเหมาะด้วยกาวซิลิโคน ซึ่งสามารถใช้กาวซิลิโคนหล่อบนพิมพ์กาวซิลิโคนได้

น้ำสบู่ กันติดกาวซิลิโคน
ตัวอย่างการใช้น้ำสบู่ทากันติดลงบนผิวชิ้นAที่แข็งแล้วซึ่งเป็นกาวซิลิโคนยี่ห้อโซนี่ เมื่อน้ำสบู่แห้งแล้วก็เอาปืนยิงกาวซิลิโคนทาทับลงไปชิ้นA เมื่อมันแห้งเราก็ลอกBออกได้ เห็นมะ จากนั้นเราก็เอาชิ้นงานB ไปล้างคราบสบู่ออก ภาพ CC by pui108diy อย่างนี้เข้าใจไหมแบบสรุปลัดที่สุดแล้ว สรุปใช้น้ำสบู่ทากันติดระหว่างกาวซิลิโคนได้และได้ผลดีด้วย มีข้อควรระวังไปหาอ่านเอาข้างล่างนิ
ซิลิโคนโซนี่ silicone sony oxime type
กาวซิลิโคน sony ชนิด oxime type ที่หาซื้อได้ตามร้านฮาร์ดแวร์ทั่วไป


ในบทความนี้จะมีเนื้อหาชนิดง่ายและยากปนเปกันไป ถ้าอ่านไม่เข้าใจให้ข้ามไป เพราะบางส่วนมีเนื้อหาในด้านเคมีที่ค่อนข้างหนักและยากมากกว่าระดับมัธยมปลายสายวิทย์ ส่วนเนื้อหาการทดลองต้องลองอ่านดูนิดนึงถ้าเข้าใจก็นำไปใช้ได้ ที่เขียนยาวๆและเยิ่นเย้อเพราะอยากจะแนะนำลำดับเรื่องราวที่ผู้ไม่มีพื้นฐานเลยให้พอจับใจความได้ และเป็นบันทึกการทดลองและรวบรวมข้อมูลของผมด้วย แต่ตรงไหนยากให้ทิ้งเอาไว้ตรงนี้แหละครับ

จริงๆผมขอบอกก่อนนะครับ ว่าไม่ได้ชำนาญเรื่องเอากาวซิลิโคนมาหล่อแบบ เพราะทุกครั้งที่หล่อแบบก็ใช้ซิลิโคนRTV-2ชนิดทำพิมพ์หล่อแบบซึ่งมันไม่ค่อยติดกับวัสดุต้นแบบเท่าไหร่ เมื่อผมค้นดูในเว็บที่เขาแนะนำชอบใช้กาวซิลิโคนมาทำแบบในกรณีที่ทำทีเดียวแล้วทิ้งเนื่องจากกาวซิลิโคนถูกและหาง่าย จึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจมากถ้าสามารถทำให้พิมพ์ใช้ได้นานๆหลายครั้งๆ ซึ่งจะยิ่งดีเมื่อเอามาหล่อเรซิ่นได้

ชนิดกาวซิลิโคนRTV ชนิดกรด และชนิดที่ไม่ใช่กรด

การแบ่งชนิดของกาวซิลิโคนออกเป็น2ประเภทนี้เพื่อสำหรับผู้ที่ไปซื้อที่ร้านฮาร์ดแวร์ เวลาถามคนขายเขาก็จะบอกว่ามีแบบกรด กับ แบบที่ไม่ใช่กรด ซึ่งหัวข้อการแบ่งดังกล่าวไม่ใช่วิธีการแบ่งชนิดกาวที่มีหลักการที่ถูกต้องไม่สามารถนำไปอ้างอิงเป็นสากลได้

RTV ย่อมาจาก Room Temperture Vulcanizing หมายถึงการแข็งตัวเป็นของแข็งได้ในอุณหภูมิห้อง ฉะนั้นซิลิโคนRTV ก็คือซิลิโคนที่แข็งตัวได้ในอุณหภูมิห้องได้ด้วยเคมีในตัวมันเอง และมันไม่สามารถย้อนกลับเป็นของเหลวหนืดๆได้อีก

กาวซิลิโคนRTV ก็คือซิลิโคนที่แข็งตัวได้ในอุณหภูมิห้องด้วยซิลิโคนส่วนเดียวคือตัวมันโดยไม่ต้องมีส่วนผสมอื่นอีก( RTV-1) ด้วยการทำปฏิกริยาเชื่อมรวมโมเลกุลจนกลายเป็นโมเลกุลขนาดใหญ่และกลายเป็นของแข็งโดยไม่สามารถย้อนกลับเป็นของเหลวหนืดได้อีก ปฏิกิริยาของกาวซิลิโคนในการเกิดวัลคาไนเซชั่นคือ คือ คอนเด็นเซชั่นเคียว ในที่นี้ตัวเร่งปฏิกิริยาคือความชื้นในอากาศ ยิ่งมีความชื้นมาก การแข็งตัวก็ย่อมเร็วขึ้น ในแง่การทำการเร่งปฏิกิริยากับความชื้นในอากาศจึงเรียกอีกย่าง ซิลิโคนRTV-1 ชนิดม๊อยสเจอร์เคียว (moisture cure) ถ้าไม่เข้าใจก็ให้ย้อนกับไปอ่านบทที่แล้วเรื่องแนะนำซิลิโคนRTV

ระยะเวลาการแข็งตัวของกาวซิลิโคน

ชนิดของกาวซิลิโคนRTV ที่ผลิตขึ้นมาใช้ในท้องตลาดทั่วๆไปจะมีคุณสมบัติเหมือนกันคือเมื่อเจอกับอากาศมันจะทำปฏิกิริยาแข็งตัวได้เหมือนๆกัน แต่อะไรคือข้อแตกต่างที่ทำให้มันแข็งตัวเร็วขึ้นหรือช้าลง นั่นคือ

ยิ่งปริมาณความชื้นในอากาศมีมากมันก็จะยิ่งแข็งตัวเร็ว

กาวซิลิโคนปรกติผู้ผลิตจะผลิตเอาไว้ขายอายุเก็บไม่เกิน1ปี ที่อุณหภูมิ30C ฉะนั้นเมื่ออุณหภูมิที่เมืองไทยบางทีอายุการเก็บเอาไว้ขายจะสั้นกว่านั้น เมื่อไปเลือกซื้อกาวซิลิโคนแม้ว่าจะเป็นยี่ห้อดังๆแล้วเลหลังขายถูกๆผลิตจากเกาหลี บางทีเป็นล็อตเก่าต้องรีบใช้ไม่งั้นแข็ง

จากเอกสาร pdf ของ Wacker ภาพด้านล่างแสดงระยะเวลาการแข็งตัวและความหนา ของกาวซิลิโคน Wacker ทำการทดลองที่ความชื้นสัมพัทธ์ 50% และที่อุณหภูมิ 23 องศาC ที่เห็นเป็นที่แรเงาทึบเนื่องจากไม่ระบุชนิดกาว จึงเป็นกาวซิลิโคนชนิดอะไรก็ได้ของWacker ทดลองโดยนำกาวไปป้ายลงบนแผ่นอลูมิเนียมให้มี กxย = 24 mm x18 m ที่ความหนาต่างๆ ให้มีเพียงหนึ่งด้านที่สัมผัสกับอากาศ จากกราฟเราสามารถทดลองใช้ได้ว่า เช่น ความหนากาว 3 มิล จะแข็งตัวใช้เวลา 1-3 วันขึ้นกับว่าเป็นกาวซิลิโคนชนิดไหน ที่ความชื้น50% 23C

Wacker silicone RTV1 curetime VS thickness
ภาพแสดง ความหนากาวซิลิโคนRTV-1(mm ,มิลลิเมตร) และระยะเวลาแข็งตัว(d ,day หรือวัน) โดยรวมทุกชนิดกาวของแว็กเกอร์ ทดลองที่ความชื้น50% 23องศาC ภาพ ตัดมาจาก pdf wacker :Bonding, Sealing, Potting -Encapsulation and Coating with RTV Silicone Rubber Compoundsนำมาใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต การนำไปใช้ต่อควรจำกัด

ในเอกสารยังบอกต่อไปว่า “การลดเวลาให้แข็งเร็วขึ้น อาจทำโดยการเพิ่มความชื้นสัมพัทธ์ และค่อยๆเพิ่มอุณหภูมิช้าๆเพื่อให้สารระเหยหรือผลิตภัณท์ส่วนเกินที่เกิดจากการไฮโดรไลซิส(ในการเกิดปฎิกิริยาเพื่อแข็งตัว)ได้ระเหยออกไป” ปัญหาก็คือว่า ผมคิดว่านะ เช่นอยู่ๆจะเอาไปอบเช่น อบสัก60-90C มันไม่สามารถเพิ่มความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศได้ ต้องเอาถ้วยน้ำใส่ลงไปพร้อมกับชิ้นงานที่จะอบร้อน เพราะความร้อนเพิ่มและความชื้นในอากาศร้อนก็จะเพิ่มด้วย ปัญหาคือถ้าความชื้นสัมพัทธ์เข้าใกล้100% สารระเหยยังจะสามารถระเหยออกไปได้หรือเปล่า ในเอกสารจะบอกว่า “ถ้าเพิ่มอุณหภูมิสูงถึง200C ในชิ้นงานหนาเกิน0.5มิล มันจะพองตัว ในการแข็งตัวที่อุณหภูมิ15C ก็ยังสามารถเกิดขึ้นได้” แสดงว่า ที่200C ผิวนอกของกาวจะเซทตัวอย่างสมบูรณ์แต่กาวภายในยังไม่แข็ง สารระเหยจึงออกมาไม่ได้จึงเกิดการพองตัวขึ้นซึ่งก็น่าจะเป็นอย่างที่ว่า

เรามาดูอีกกราฟนึงด้านล่าง ผลของความชื้นสัมพัทธ์ทำให้กาวซิลิโคนแข็งเร็วขึ้นอย่างมาก ในกราฟเป็นกาว Elastosil A 33 เป็นกาวซิลิโคนหลอดๆที่ใช้ปืนยิงนี่แหละแต่เป็นซิลิโคนเบอร์นึงที่ปล่อยเคมีเฉพาะตอนแข็งตัวประเภทสารประกอบเอมีน เรามาลองดูว่ากราฟนี้บอกอะไร ที่ความหนากาว 2มิล ถ้าความชื้นสัมพัทธ์ต่ำ หรืออากาศแห้งมากในหน้าหนาวลมแรงๆ ความชื้นเหลือ45%(ไม่ใช่ประเทศไทย) หรือต่ำกว่า ใช้เวลาแข็งตัว 1 วัน แต่ถ้าวันไหนฝนตก อากาศชื้นมาก85% การแข็งตัวจะเหลือเพียง7-8ชั่วโมง ถ้าความชื้นยิ่งต่ำกว่าเหลือ5%โดยธรรมชาติไม่ค่อยมีสถานที่แบบนั้นใช้เวลามากถึง4วันจึงจะแข็งตัว เมืองไทยความชื้นสัมพัทธ์ค่อนสูงเฉลี่ย70%ตลอดทั้งปี ฉะนั้นกาวซิลิโคนจึงแข็งเร็ว

ความหนากาวซิลิโคน VS เวลาแข็ง ความชื้นสัมพัทธ์ Wacker silicone RTV1 curetime VS thickness - and moisture
ภาพแสดง ความหนากาวซิลิโคน(mm ,มิลลิเมตร)และระยะเวลาแข็งตัว(d ,day หรือวัน) และเส้นกราฟแต่ละความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศ ซึ่งเป็นซิลิโคนRTV-1 ชนิดให้สารประกอบของเอมีน ซิลิโคน Elastosil A 33 (25 shoreA 2.5N/mm2 elongation 350%) ภาพ ตัดมาจาก pdf Wacker :Bonding, Sealing, Potting -Encapsulation and Coating with RTV Silicone Rubber Compoundsนำมาใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต การนำไปใช้ต่อควรจำกัด

ถ้าเอากาวซิลิโคนหยอดลงในน้ำแล้ว ทิ้งไว้สักสองวันมันจะแข็งไหม? ก็ความชื้นมันเยอะมากๆแล้วนี่มันควรจะแข็งอย่างรวดเร็วด้วยซ้ำไป น่าสนใจนิ ไว้จะทดลองดู

ในแง่อื่นๆผมหาข้อมูลจาก ที่นี่ ถ้าใครอ่านอังกิดได้ดีก็ขอเชิญครับ ในเอกสารดังกล่าวยังระบุว่า ไม่ควรใช้กาวซิลิโคนให้มีความหนา10-15 mm ไม่งั้นความชื้นไม่สามารถแพร่เข้าไปในแกนกลางซิลิโคนและไม่สามารถทำปฏิกิริยาได้อย่างสมบูรณ์ได้ใน1-2วัน คือสรุปมันจะแข็งช้าเอาง่ายๆนะ ผมเคยมีซิลิโคนเหลือๆ ก็เลยตัดหัวกระบอกออกแล้วฉีดใส่กระปุกพลาสติกที่มีความหนามาก4-5mm แล้วก็เอาเทปพันท่อพันเกลียวกระปุกเอาไว้ ปิดฝาอย่างดีไม่ให้อากาศเข้า พอมาเปิดอีกสองอาทิตย์แข็งเป็นลูกๆเลยครับ ฉะนั้นถ้ามันลองได้ทำปฏิกิริยากับความชื้นในอากาศแล้วความชื้นมันจะค่อยๆซึมเข้าไปและทำปฏิกิริยาลูกโซ่อย่างช้าๆถ้าชิ้นงานหนามาก เช่นใช้แล้วเหลือเอาไว้ในหลอดแต่ปลายปิดเอาไว้ ไม่เกินครึ่งปีมันก็แข็งหมดทั้งหลอด แต่ถ้ายังไม่ได้ตัดหัวหรือยังไม่เคยใช้นี่ก็อีกเรื่องอาจแข็งได้ใน1-2ปีเนื่อง อาจเนื่องจากมันมีความชื้นที่ซึมผ่านเข้าไปได้ที่ตูดหลอดความชื่นที่ผ่านนี้น้อยๆมากๆ หรืออุณหภูมิเป็นตัวเร่งแข็งอย่างอ่อนๆ
แต่ในเอกสารดังกล่าวยังบอกว่า สามารถเร่งปฏิกิริยาด้วยแสงUVที่มีความเข้มและค่าความยาวคลื่นที่เหมาะสมฉายลงไปจะสามารถทำให้เกิดโพลิเมอร์ แข็งได้ในไม่กี่นาทีโดยทีstrengthที่ได้จะรับแรงได้ถึง 80 เปอร์เซนต์ อ่านแล้วน่าทดลองนะโดยเฉพาะซิลิโคนใสๆ เอาไปตากแดดหรือหาหลอดยูวีที่มีความเข้มแสงเยอะๆมาลองฉายดูดูเหมือนว่าจะแข็งเร็ว
ข้อมูลที่น่าสนใจอื่นๆ หาดูได้ ที่นี่ และ ที่นี่ pdf อังกิดล้วนๆ

กาวซิลิโคนRTV จริงๆมีกี่ชนิด? ที่ผลิตขึ้นมาใช้ในท้องตลาดจะมีคุณสมบัติเหมือนกันคือเมื่อเจอกับอากาศมันจะทำปฏิกิริยาแข็งตัวได้เหมือนๆกัน แต่ทั้งเคมีตัวฐานและสารตัวเชื่อมต่อระหว่างโมเลกุลที่ผสมในกาวนั้นต่างๆกันทำให้คุณสมบัติของกาวต่างๆกัน และขณะที่กาวทำปฏิกิริยากับความชื้นในอากาศจะให้สารประกอบที่ระเหยได้ในอากาศแตกต่างๆกัน เพราะมีการกำหนดให้ใช้งานเฉพาะที่ต่างๆกันตามแต่จุดประสงค์ การแบ่งชนิดจึงแบ่งตามโพรดักส์หรือสารประกอบที่ได้ขณะทำปฏิกิริยาโดยมันจะระเหยออกมาในอากาศ จึงเป็นการแบ่งชนิดของกาวซิลิโคนอย่างแท้จริง ซึ่งในท้องตลาดมีอย่างน้อย4-5ชนิดแล้ว เช่น Amine ,Acetate ,Oxime, Alcohol

Wacker silicone RTV1 molecule vulcanize reaction
ภาพแสดงการเกิดปฏิกริยากลายเป็นของแข็งของกาวซิลิโคนซึ่งมีตัวเชื่อมต่อเป็นเคมีแต่ละชนิดซึ่งเป็นตัวบ่งแยกชนิดของกาวซิลิโคนในท้องตลาด ผลจากการเชื่อมต่อกลายเป็นยางแข็งนั้นจะให้ผลิตภัณท์ส่วนเกินจากตัวเชื่อมต่ออย่างใดอย่างหนึ่งที่ต้องระเหยออกไปสู่อากาศจากเนื้อในของซิลิโคน เช่น พวก Amine ,Acetate ,Oxime, Alcohol สารเหล่านี้ถ้าเป็นจำพวกโมเลกุลเล็กจะมีความสามารถในการผสมรวมกับน้ำได้ โมเลกุลของน้ำในอากาศจึงเป็นตัวเร่งปฏิกริยาให้แข็งตัวเร็วขึ้นเมื่อมันมีการระเหยออกไปพร้อมๆกัน ภาพจาก pdf ผู้ผลิตนำมาใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต การนำไปใช้ต่อควรจำกัด

1. กาวซิลิโคน ชนิดกรด (Acetoxy Cure) ขณะแข็งตัวจะมีสารรระเหยที่มีฤทธิ์เป็นกรดออกมามีกลิ่นเปรี้ยวออกแนวๆอะซิตริก หรือกรดน้ำส้ม Acetic โดยปรกติอะซิตริกมีจุดหลอมเหลว118C และละลายน้ำได้ ข้อเสียคือสารกรดที่เกิดขึ้นจะกัดกร่อนโลหะ และอาจระคายเคืองกับมือถ้าไม่ได้ใส่ถุงมือ กาวซิลิโคนชนิดนี้ราคาค่อนข้างถูกกว่าชนิดอื่นๆ กาวกรดใช้งานทั่วๆไปราคาถูกราคาไม่เกิน100บาท-300มิลลิลิตร-ตามร้านฮาร์ดแวร์ทั่วไป แต่ก็มีกาวกรดแพงๆเหมือนกันซึ่งมักจะมีคุณสมบัติเฉพาะตัวเช่น มีความแข็งหรือทนอุณหภูมิได้สูงกว่ากาวกรดทั่วๆไป หรือทนน้ำมันบางประเภทได้เป็นต้น

acetoxy_siliconeRTVsealant_dowcorning_selection
รูปข้างบนเป็นเบอร์กาวซิลิโคนRTV ชนิดแข็งตัวได้โดนส่วนเดียวในอากาศ และเป็น = ชนิดกรด = ของ dow corning ที่เป็นตัวเลขคือเบอร์เวลาซื้อ แต่ในเมืองไทยคงไม่มีให้เราเลือกซื้อทุกเบอร์ ภาพตัดจากหน้าเว็บผู้ผลิตนำมาใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต การนำไปใช้ต่อควรจำกัด

2. ชนิดที่ไม่ใช่กรด ซึ่งอาจแบ่งย่อยๆได้เป็น

ชนิดที่เมื่อทำปฏิกิริยาขณะแข็งตัวจะให้โพรดักส์ส่วนเกินที่เป็นกลาง(Neutral Cure) ในที่นี้ (เช่นพวก oxime หรือ พวกแอลกอฮอล์) และชนิดที่ให้เคมีส่วนเกินจำพวกด่างหรือเบส(พวกสารประกอบเอมีน) พวกนี้แบ่งตามสาระเหยหรือของเหลวที่ได้ขณะทำปฏิกิริยา ซึ่งมีคุณสมบัติเอาไปใชักับงานต่างๆกันไป เนื่องจากมีเยอะชนิดจึงรวมอธิบายดังนี้

neutral_siliconeRTVsealant_dowcorning_selection
รูปข้างบนเป็นเบอร์กาวซิลิโคนRTV ชนิดแข็งตัวได้โดนส่วนเดียวในอากาศ ของ Dow corning และตัวเนื้อกาวจะเป็นกลางไม่มีสารประกอบส่วนเกินที่เป็นกรดหรือเบส ในที่นี้สีแดงเป็นชนิดอ๊อกไซม์(Oxime cure) และสีฟ้าเป้นชนิดจำพวกแอลกอฮอล์(Alkozy Cure) ภาพตัดจากหน้าเว็บผู้ผลิตนำมาใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต การนำไปใช้ต่อควรจำกัด
  • ชนิด Oxime ได้สารระเหย methylethylketoxime เป็นของเหลวที่มีจุดเดือด 152C สามารถละลายน้ำได้ เป็นกลาง ไม่มีกลิ่นกรด แต่กลิ่นเอาเรื่อง ดูเหมือนสารระเหยนี้อาจก่อมะเร็งได้ไม่ควรสูดดมมากเกินไป ไม่เหมาะกับเททับบนแผ่นปริ๊นเพราะมันทำปฏิกิริยากับทองแดงและอัลลอยย์ของมัน แต่ทนกับน้ำมันค่อนข้างดีแล้วแต่ชนิดด้วยนะ ตัวอย่างคือซิลิโคนยี่ห้อโซนี่
  • ชนิด Alkoxy ได้สารระเหยชนิดแอลกอฮอล์ เป็นกลาง มีส่วนผสมของ methanol(จุดเดือด64.7C,ละลายน้ำได้ดี) และ ethanol(bp.=78.4C ละลายน้ำได้ดี) ไม่เหม็นครับ เพราะกลิ่นเป็นแอลกอฮอล์หรือเหล้า แต่เมททานอลต้องระวังถ้าเข้าสู่ร่างกายมาก(โดยเฉพาะด้วยการดื่ม)จะทำให้ตาบอดครับ แต่ เอททานอลแค่เมาครับ เหมาะกับเทปิดแผ่นปริ๊นครับ
  • ชนิดอื่นๆ เช่น Amine ได้สารระเหยชนิด Cyclohexylamine ซึ่งมีฤทธิ์เป็นเบสอ่อนๆ จุดเดือด134.5C สามารถละลายน้ำได้
  • ชนิด Acetone ฤทธิ์เป็นกลาง ได้สารระเหยอะซิโตน หรือ แอซิโทน ซึ่งกลิ่นจะฉุนกว่าแอลกอฮอล์มาก จุดเดือด 56.53C ละลายน้ำได้ ซึ่งการประยุกต์เลือกใช้ผมว่ามันเยอะเกิน ลองหาอ่านดูใน http://www.intertronics.co.uk/articles/tb008.htm

ในเรื่องของความแข็งของยางผมเข้าใจว่า แบบถูกชนิดกรด(ราคาไม่ถึงร้อย)น่าจะแข็งน้อยกว่ายี่ห้อsony ชนิด oximeราคาปัจจุบันทะลุ 150 บาทแล้ว อาจถึง180 บาท แบบกรดแข็งเร็วกว่า และแบบกรดคุณสมบัติเป็นกาวดีกว่าชนิดอื่นๆหรือแค่เทียบเท่ากับชนิดoxime แต่ในความเป็นจริงแบบกรดที่ใช้ในงานประเก็นจะมีคุณสมบัติความเป็นกาวต่ำมากและบางทีค่อนข้างนิ่มก็มี(เนื่องจากเคยใช้) ฉะนั้นการเลือกใช้ในงานประยุกต์ต่างๆควรเลือกตามดาต้าชีทที่ผู้ผลิตแนะนำ แต่ถ้าเอากาวไปทำพิมพ์แบบใช้ครั้งสองครั้งทิ้งคุณสมบัติดังที่กล่าวมาขั้นต้นก็พอใช้ได้ ในเรื่องส่วนประกอบที่สามารถใส่ลงไปได้หรือผสมลงไปเพื่อให้เกิดผลบางอย่าง เช่นเติมผง CaCO3 หรือผงหิน หรือผงแคลเซียมลงไปเพื่อเพิ่มความแข็งอย่างนี้ก็ทำได้ตอนผสม หรือสี หรืออยากจะเพิ่มความแข็งแรงด้วยผ้าไฟเบอร์หรือผ้าก๊อซพันแผลอย่างนี้เขาก็ทำกันมานาน เนื่องจากซิลิโคนกาวส่วนใหญ่ไม่ค่อยทนต่อการฉีกขาดเท่าไหร่

ตัวอย่างกาวซิลิโคนที่มีขายในประเทศไทย

ตัวอย่างเบอร์ซิลิโคน ที่มีขายในไทยที่สามารถระบุดาต้าชีทได้ ส่วนราคาไปลองหาดูเอาเองนะครับ ขนาดส่วนใหญ่ประมาณ 300ml

Dow Corning®

Dow Corning® 736 Heat Resistant Sealant-pdf =กาวกรด= สามารถทนความร้อนได้สูงสุด 315C ในเวลาสั้นๆ และทนได้260C แบบต่อเนื้อง(มีอายุจำกัด) เนื้อมีสีแดง ความแข็ง26shore A เมืองนอกขายอยู่ราคา 18 usd ถ้าอ่านดาต้าชีทให้ดีจะพบว่า ซิลิโคนตัวนี้แม้ราคาจะสูงสักหน่อยแต่ เมื่อแข็งตัวอย่างดีแล้วและนำไปล้างให้สะอาดจะสามารถสัมผัสกับอาหารได้ ตาม องค์การอาหารและยาของอเมริกา FDA Regulation 21 CFR 177.2600 –Rubber articles intended for repeated use นั่นก็คือสามารถทำโมลด์สัมผัสกับอาหารได้ แต่ว่า ทำอย่างไหรให้กาวซิลิโคนนั้นไม่ติดกับแบบพิมพ์ล่ะ? และใช้สารกันติดอะไรที่ใช้กับอาหารได้?

Dow Corning 795 Silicone Building Sealant–pdf กาวที่=เป็นกลาง=ชนิดmethoxy cure(สารระเหยคือเมทิลแอลกอฮอล์ มีหลายสี ทนแดด ฝน โอโซน อุณหภูมิ -40C ถึง 149C ความแข็ง 35A เหมาะกับงานก่อสร้าง กระจก อลูมิเนียม ปูน และอื่นๆ ราคา16usd ในเมืองไทยน่าจะถูกกว่านิ Dow corning795ยังมีตารางเปรียบเทียบกับยี่ห้ออื่นๆในท้องตลาดว่าเขาดีกว่าคู่แข่งอย่างไรรับประกันสภาพภูมิอากาศทั่วไปถึง20ปี(ปัจจุบันอาจลดการรับประกันลง) เป็นประเภทซิลิโคนที่สามารถใช้กับ Silicone Structural Glazing คือบอนด์ติดกันระหว่างกระจกนอกอาคารเป็นโครงสร้างกระจก(ตึกใหม่ๆที่มีกรอบหน้าต่างบางๆมาก)หรือจะใช้งานทั่วไปก็ได้ ข้อดีของมันคือความทนทานต่อการยืดหดของกระจกเมื่อแดดร้อน ไม่เกิดการล้าขาดหรือหดย่นง่ายเหมือนกาวอื่นๆเช่น PU

Dow Corning 791 Silicone Weatherproofing Sealant ราคา 10 usd เป็นกาวเป็นกลางที่ให้โพรดักส์ส่วนเกินชนิด Alkoxy หรือกลุ่มประเภทแอลกอฮอล์ ความแข็ง 29 shore A เหมาะกับงานกระจก หน้าต่าง กรอบอลูมิเนียม เป็นประเภท general glazing

DOW CORNING® GP- GENERAL PURPOSE SEALANT กาวกรด 17 shore A ใช้งานทั่วไป -40 ถีง 150C ราคาไม่สูง

Dow corning

GS – หลอดแดง Glass sealant -กระจก 29 shore A กาวกรด

GM -หลอดฟ้า Glass-metal sealant ติดกระจกกับโลหะ -38 shoreA ,กาวเป็นกลาง

SR หลอดม่วง -Sanitary & tile กาวติดเครื่องสุขภัณท์และกระเบื้องห้องน้ำ ป้องกันเชื้อรา -24 shore A กาวเป็นกลาง

หาpdf รุ่น GP GS GM SR อ่านเอาเอง พวกนี้มีขายในเมืองไทย

DOW CORNING® 991 SILICONE HI-PERFORMANCE SEALANT กาวเป็นกลางชนิด oxime ใช้เชื่อมต่อกับแผ่นวัสดุที่มีการยืดตัวหดตัวสูง กาวถูกออกแบบเพื่อป้องกันการเสียรูปเนื่องจากการยืดตัวและหดตัวอย่างถาวร อายุใช้งานเดิมปี2002รับประกัน20ปี (ในปี2015ลดเหลือเพียง10ปี) ใช้กับการเชื่อมต่อวัสดุต่างๆที่อยู่นอกอาคารและงานก่อสร้าง ทนสภาพอากาศได้ดี ความแข็ง 20 shoreA

Dow Corning® 995 Silicone Structural Glazing Sealant กาวชนิดเป็นกลาง ใช้กับงานก่อสร้างชนิดรอยต่อกระจกแบบกรอบบาง มีความแข็งแรงสูง ทนต่อสภาวะอากาศสุดขั้ว ความแข็ง40 shore A หลอดละ12usd

WACKER® GP – GENERAL PURPOSE 7 กาวกรดราคาถูก ราคาไม่เกิน100 บาท อุณหภูมิใช้งาน -40c ถึง 100C ติดได้กับวัสดุหลายประเภท รวมถึงกระจก ไม่เหมาะกับคอนกรีต ไม่เหมาะกับตู้ปลา ไม่เหมาะกับพวกกระจกก่อสร้างสมัยใหม่ที่ติดนอกอาคาร มีเรื่องไม่เหมาะอีกมาก-หาอ่านเอาเอง ความแข็ง 18 shoreA

ถ้าซื้อกาวซิลิโคนแบบกรดถูกๆราคาหลอดละ 60-บาท น้ำหนักโดยประมาณคือ 300 กรัม โลนึงก็ตกสองร้อยบาท (โคตรถูกถ้าเทียบกับซิลิโคนหล่อแบบเยอรมันโลละ800กว่าบาท หรือฝรั่งเศสโลละ 600กว่าบาทและข้อดีของมันคือมันไม่ไหล) แต่ซิลิโคนกาวชนิดกรดที่ใช้กับปืนฉีดซิลิโคนแบบถูกยี่ห้อไม่คุ้นเราไม่มีทางรู้เลยว่ามีคุณสมบัติที่ดีอะไรบ้างเพราะไม่มีดาต้าชีทให้ดูเลย แต่ถ้าซื้อซิลิโคนชนิดกรดเฉพาะทางที่ผมเคยได้ใช้ เช่นยี่ห้อนึงที่มีบอกว่าใช้เป็นประเก็นได้ในส่วนของอ่างน้ำมันเครื่องยนต์อย่างนี้ก็มีราคาร้อยกว่าบาทน้ำหนักไม่ถึงร้อยกรัมก็มี

กาวแดงทาประเก็น
ซิลิโคนกาวยี่ห้อ permatex ชนิดกรด ที่เอาไว้ใช้ทาแทนประเก็น มีขายกันทั่วไปในเมืองไทย อันนี้เป็นยี่ห้อที่นิยมใช้พอควร เคยซื้อราคาประมาณ100-150บาท น้ำหนัก 82 กรัม คุณสมบัติการเป็นกาวไม่มากสามารถขูดลอกออกง่าย มีดาต้าชีทให้ดู ภาพจากเว็บไซต์อเมซอน นำมาใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต-การนำไปใช้ต่อควรจำกัด

การเลือกเอาไปประยุกต์ใช้จึงต้องอ่านดาต้าชีทหรืออ่านข้างกระป๋องเป็นอย่างดีก่อนซื้อไม่งั้นจะใช้ไม่ได้ตามที่ประสงค์ แต่ถ้าซื้อเอาไปทำพิมพ์แบบใช้ครั้งสองครั้งทิ้งแนะนำให้ใช้แบบถูกไม่ต้องดาต้าชีทมากมายเอาแบบซิลิโคนยาแนวนั่นแหละ
ในเมืองไทยที่มีขายหลายยี่ห้อและมีดาต้าชีทพอสมควร บอกทั้งจุดประสงค์เอาไปใช้งาน การแห้งตัว ข้อควรระวังในการใช้งานหรือความแข็ง เช่นที่นี่ forcon-d.com กาวซิลิโคน

แต่ถ้าใช้เฉพาะทางราคาจะค่อนข้างสูงกว่า เช่น ในลิ้งค์ แนะนำการเลือกกาวซิลิโคน Dow corning ภาษาอังกฤษ

แต่ถ้าต้องการคุณสมบัติแปลกๆของยี่ห้อ loctite น่าจะพอมีให้เลือกจนได้ครบ เช่นทนน้ำมันเครื่องเป็นพิเศษแช่ในน้ำมันเลยก็ได้ loctite 5699 เคยใช้อยู่ทำประเก็นหน้าแปลนที่แช่ในบ่อน้ำมันไฮดรอลิก ราคาหลอดละ 1200 กว่าบาท อันนี้เป็นแบบ oxime cure

รูปบนเป็น กาวซิลิโคนเฉพาะทาง loctite 5699 ทนน้ำมันเครื่องได้ดีเป็นพิเศษ เป็นแบบชนิด oxime ภาพนำมาจากอินเตอร์เน็ท-นำมาใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต การนำไปใช้ต่อควรจำกัด

น้ำยาถอดแบบสำหรับซิลิโคนRTV

น้ำยาถอดแบบภาษาอังกฤษเรียกว่า โมลด์รีรีส (mold release) จะเรียกน้ำยากันติด หรือเคมีกันติดก็ได้ โดยทั่วไปจะพูดถึงตัวกันติดในขณะสร้างแบบพิมพ์และขณะหล่อชิ้นงาน ซึ่งตัวกันติดเป็นศาสตร์แขนงหนึ่งที่ต้องศึกษาให้ดี ซึ่งแต่ละชิ้นงานที่ไม่เหมือนกันตัวกันติดจะต่างๆกัน ท่านผู้อ่านต้องคิดวิเคราะห์เอาเองว่าอะไรควรใช้ ใช้แล้วได้ผลตามต้องการหรือไม่ อะไรใช้แล้วมีปัญหา เป็นต้น

make_silicone_mold
แนะนำเว็บไซด์ สาธิตดีไอวาย ในการทำโมลด์ซิลิโคน ที่เห็นกำลังทาสารกันติดคือวาสลีนด้วยพุ่กันลงบนโมลด์ประกบสีฟ้าอ่อนที่ขึ้นรูปเสร็จแล้วข้างเดียว ยังต้องทำอีกข้างหนึ่ง ส่วนก้อนสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ที่เขาเรียกว่า ultracal คือปูนปลาสเตอร์ชนิดแข็งพิเศษ(ปลาสเตอร์อัลฟ่า) ถ้าเป็นเมืองไทยคงเทียบได้กับปูนปลาสเตอร์ทำฟันที่ขายกันอยู่ตามร้านขายอุปกรณ์ทำฟัน(วัสดุทัตกรรม) ราคาปลีกกิโลกรัมละ70-140 บาทแล้วแต่เกรดความแข็ง
ราคาปูนปลาสเตอร์แข็งพิเศษถุงละกิโลครึ่ง
ราคาปูนปลาสเตอร์อัลฟ่า ปูนปลาสเตอร์แข็งพิเศษ หรือปูนทันตกรรม ถ้าใช้เยอะก็หาซื้อในเว็บเป็นกล่องๆราคาจะถูกกว่า อันนี้เป็นราคาต่อหน่วยหรือต่อถุง ถุงนึงประมาณกิโลครึ่ง ส่วนปูน Velmix ความแข็งจะสูงกว่ามากราคาเลยคูณสอง ลองใช้แล้วปูนพวกนี้เอาเล็บจิกไม่ระคายผิวขณะยังมีความชื้นอยู่ แต่ถ้าเป็นแบบกิโลละ5-10 บาทจะเป็นรอยจิกแม้จะใส่น้ำน้อยแค่ไหน

พอดีได้ไปลองซื้อปูนปลาสเตอร์แข็งพิเศษมาก็เลยแปะราคาไปด้วยเลยละกัน ร้านอยู่แถวๆคลองถม มีหลายร้านที่ชื่อ มีนำ สุ่มซื้อมาสักร้านนึง

ตัวกันติดใช้กันตอนไหน?

1. ในการสร้างแบบพิมพ์ น้ำยากันติดต้องกันไม่ให้ต้นแบบติดกับพิมพ์ได้ และต้องกันไม่ให้สารเคมีทำโมลด์ติดกันเองในการสร้างแบบพิมพ์ชนิดประกบหรือพิมพ์สองชิ้น เช่นทำโมลด์ปูนปลาสเตอร์แบบประกบสองชิ้น หรือทำโมลด์ซิลิโคนแบบชนิดประกบกันเอาไว้หล่อเรซิ่นเป็นต้น

ทำพิมพ์ปูนปลาสเตอร์ นิยมใช้น้ำสบู่กันพิมพ์ติดกันเอง

ทำพิมพ์ปูนปลาสเตอร์ และต้นแบบเป็นปูนปลาสเตอร์ นิยมทาน้ำสบู่บนต้นแบบ เป็นต้น

ทำพิมพ์ยางซิลิโคนหล่อแบบ นิยมใช้วาสลีนกันพิมพ์ยางติดกันเองในแบบประกบสองชิ้น(ส่วนผมชอบใช้กาวลาเท็กซ์)

ทำพิมพ์ไฟเบอร์กลาส จากชิ้นงานไฟเบอร์กลาส นิยมใช้แว๊กซ์หรือขี้ผึ้งผสมสำหรับแกะโมลด์เป็นตัวถอดแบบ ด้วยการขัดให้ขึ้นเงาก่อนทำพิมพ์ เป็นต้น

2. ในการหล่อชิ้นงานในแบบพิมพ์ น้ำยากันติดที่ทาลงไปบนพิมพ์ต้องป้องกันไม่ให้เคมีที่ต้องการหล่อชิ้นงานติดกับพิมพ์

หล่อเรซิ่นในพิมพ์เหล็ก นิยมใช้วาสลีน หรือแว็กเป็นต้น

หล่อกาวซิลิโคน ในพิมพ์ปูนปลาสเตอร์ล่ะ ใช้อะไรกันติดดี

หล่อกาวซิลิโคน ในพิมพ์ซิลิโคน กันมันติดกันทำไง??

ใช่ครับมีบางคนใช้แป้งข้าวโพด กับกาวซิลิโคน ซึ่งสามารถใช้ได้ครับ มีอย่างอื่นที่ดีกว่านั้นไหม ถ้าเราต้องการทำชิ้นงานไว้ขายไม่ใช่เอาไว้เล่นอยู่กับบ้าน ซึ่งต้องค้นคว้าต่อไปครับ

แบ่งชนิดตัวกันติดอย่างไร? อะไรที่ควรสนใจ?

ของเหลวที่ทาหรือพ่นกันติด แบ่งกันง่ายๆ เป็น3จำพวกคือ

1 เป็นของเหลวฐาน(เบส) น้ำ เช่น แอลกอฮอล์ อะซีโตน กาวลาเท็กซ์ น้ำตาล เกลือแกง (สารละลายน้ำตาล สารละลายเกลือแกง) สีอะครีลิก

2 เบสน้ำมัน เช่นน้ำมันพืช น้ำมันก๊าด ขี้ผึ้ง เเป็นต้น

3 หรือมีคุณสมบัติชัดทั้งสองอย่างเป็นเบสน้ำและน้ำมันในตัวเดียวกัน เช่นน้ำสบู่ น้ำยาล้างจาน(สามารถละลายน้ำได้และสามารถล้างไขมันได้)

สารหรือเคมีอะไรที่ละลายในน้ำได้เหมารวมเอาพอได้ว่าเป็นสารที่ละลายที่มีขั้วจัดกลุ่มใกล้เคียงกับพวกฐานน้ำ เคมีอะไรที่ละลายในน้ำมันได้พอเหมารวมได้ว่าเป็นเคมีที่ไม่มีขั้วหรือเบสน้ำมัน และเคมีที่ละลายในน้ำก็ได้และละลายในน้ำมันก็ได้คือเคมีที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อเอาไว้ใช้ซักล้างเช่นสบู่เป็นต้น เคมีที่มีคุณสมบัติชัดทั้งสองอย่างมักไม่เกิดขึ้นในธรรมชาติง่ายๆ

เมื่อคุณรู้จักเบสน้ำหรือน้ำมัน ก็จะประยุกต์ใช้งานง่ายขึ้นเช่นการผสมให้เหลวตัวลง เช่นวาสลีน เป็นเคมีที่เป็นเบสน้ำมัน จึงสามารถผสมกับน้ำมันต่างๆได้เพื่อให้ได้คุณสมบัติตามต้องการ เช่นเป็นฟิมล์เรียบ แห้งไว หรือเป็นฟิล์มแข็ง

การรู้ว่าสารกันติดมีคุณสมบัติทั้งมีขั้ว(น้ำ)และไม่มีขั้ว(น้ำมัน)ในตัวเดียวกันเช่นน้ำสบู่ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ เช่น ต้นแบบคือกล่องพลาสติกPEซึ่งมีคุณสมบัติที่สร้างจากสารที่ไม่มีขั้วคือเบสน้ำมันเป็นต้น การเอาสารกันติดเบสน้ำทาจึงเป็นไปไม่ได้ง่ายที่จะใช้มันเพราะมันจะรวมตัวกันและทาไม่ติด แต่ถ้าผสมน้ำสบู่ลงไปกลับทาได้ดีอย่างนี้เป็นต้น

ของเหลวทากันติดของแข็งพ่นหรือโรยหรือทากันติดมีคุณสมบัติไปกันได้กับเคมีหล่อหรือเคมีทำพิมพ์หรือไม่? สำเร็จประโยชน์ของการทำชิ้นงานหรือไม่?

เช่นเราใช้แป้งข้าวโพดกันติดกับกาวซิลิโคน ซึ่งเวลากาวซิลิโคนแข็งมันก็จะดูดเนื้อแป้งติดไปกับกาวด้วย ถ้าเรานำชิ้นกาวซิลิโคนที่หล่อเป็นตุ๊กตาพวงกุญแจเป็นต้นเมื่อใช้แป้งข้าวโพดกันติดเมื่อโดนความชื้นหรืออยู่ในที่อับชื้นอาจเกิดเชื้อราได้ อย่างนี้ถื้อว่ามันไปด้วยกันไม่ได้ หรือเอาไปใช้ประโยชน์ตามจุดประสงค์ของพวงกุญแจไม่ได้

กลับกันถ้าเราใช้แป้งทาตัวโรยลงไปกันติดกาวซิลิโคนแม้ว่ามันจะไม่ขึ้นรา แต่งานมันไม่สามารถเก็บแบบรายละเอียดให้คมได้ จะเอาไปขายมันก็ดูไม่ค่อยสวยงามเท่าไหร่ ล้างก็ออกไม่หมดอย่างนี้ถื้อว่าไม่เข้ากันหรือไม่สำเร็จประโยชน์เอาไปขายไม่ได้หรือได้ก็ไม่ดี

ถ้าเราใช้น้ำสบู่ทาลงไปบนพิมพ์ซิลิโคนเพื่อหล่อกาวซิลิโคนเป็นพวงกุญแจ เมื่อมันกาวแข็งและแกะตุ๊กตาพวงกุญแจออกมาเนื้อฟิล์มที่เป็นสบู่จะติดไปกับผิวของกาวซิลิโคนตุ๊กตาเราก็เอาไปล้างน้ำเปล่าออกได้ ชิ้นงานก็เก็บรายละเอียดได้ดี อย่างนี้ถือวาเคมีกันติดที่เราเลือกใช้ไปกันได้ดีตอนทำชิ้นงานและสำเร็จประโยชน์ด้วย

คุณสมบัติลอกออก หรือล้างออกได้ หรือมีติดไปกับชิ้นงานที่กำลังหล่อหรือสร้างขึ้น ก็อาจใช้สิ่งเหล่านี้เป็นเกณท์ในการแบ่งชนิดของเคมีกันติดก็ได้ ซึ่งผมจะยกตัวอย่างต่อไปให้พอเข้าใจและสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้

น้ำยาถอดแบบสำหรับซิลิโคนRTV

ซิลิโคนในที่นี้หมายรวมกัน ถึงซิลิโคนRTV-1 หรือกาวซิลิโคน และซิลิโคนRTV2 คือซิลิโคนทำพิมพ์ชนิดสองส่วนผสมกันแล้วแข็งตัวในอุณหภูมิห้อง

หัวข้อค้นคว้าทดลองนี้คือ น้ำยาถอดแบบนี้ จะต้อง

น้ำยาถอดแบบ จะต้องมีคุณสมบัติกันเคมีซิลิโคนติดกันเองในหรือติดกับต้นแบบขณะสร้างพิมพ์

ต้องสามารถหล่อกาวซิลิโคนในพิมพ์ซิลิโคนหรือพิมพ์อื่นๆได้ โดยคงรายละเอียดที่ชัดเจน และไม่ลดคุณสมบัติของซิลิโคนลง

ในหัวข้อหาสารกันติดซิลิโคนที่เหมาะสมนี้ ผมได้รวบรวมข้อมูลต่างๆจากเว็บและหนังสือต่างๆ และมีการทดลองของผมอีกด้วย ซึ่งเรื่องนี้ผมขอบันทึกการทดลองที่อาจดูยืดยาวเยิ่นเย้อและบันทึกอะไรที่ผิดพลาดรวมอยู่ด้วยเผื่อว่ามีใครเอาไปทดลองต่อจะได้ผลสรุปที่สั้นลง

เนื้อหาในเรื่องนี้มันอาจจะก้าวหน้ามากเกินไปสำหรับผู้ที่ไม่เคยเล่นหรือทำแบบ ฉะนั้นผู้อ่านเป็นมือใหม่ ถ้าจะหันมาจับงานพวกนี้ต้องค่อยเป็นค่อยไป อันไหนอ่านไม่เข้าใจให้อ่านข้ามๆไป หรืออ่านย้อนบทอื่นๆในเรื่องซิลิโคน

1. น้ำยาถอดแบบซิลิโคนRTV2-ซิลิโคนทำพิมพ์

ซิลิโคนRTV-2 เป็นซิลิโคนของเหลวสองส่วนผสมกันแล้วแข็งตัวที่อุณหภูมิห้อง เป็นซิลิโคนสำหรับทำพิมพ์และชิ้นส่วนต่างๆ แบ่งเป็นประเภทคอนเด็นเซชั่นเคียว และ แอ๊ดดิชั่นเคียว ซิลิโคนทำพิมพ์หาซื้อได้ทั่วไปในเว็บหรือซิลิโคน-เรซิ่น แถวพรานนกตามที่เคยแนะนำไปแล้ว

ต้นแบบและสารกันติดซิลิโคน
ตารางแสดงชนิดต้นแบบและสารกันติดสำหรับซิลิโคนRTV2-ซิลิโคนทำพิมพ์(กันซิลิโคนติด) จากหนังสือ เครื่องประดับ ,2539 ,พิชิต เลี่ยมพิพัฒน์ หน้า425 รวบรวมจาก ดาต้าชีทของ Wacker ,A mold make guide,เข้าใจว่าเป็นปี 1992 ป้จจุบันคงเป็นเอกสาร ELASTOSIL ® M MOLDMAKING COMPOUNDS MADE EASY เอกสารนี้ถูกนำมาใช้ที่นี่โดยไม่ได้รับอนุญาต การเอาไปใช้ต่อควรจำกัด

ถ้าเราลองมาศึกษากันจากหนังสือด้านบนจะพบว่า Wacker ก็ได้ออกเอกสาร เรื่องสารกันติดยางซิลิโคน ชนิด RTV-2 หรือชนิดทำพิมพ์ ระบุให้ทราบ ว่าต้องใช้สารกันติดชนิดใดกับวัสดุต้นแบบประเภทใด ที่น่าสนใจคือ สารกันติดระหว่างซิลิโคนทำพิมพ์ด้วยกันเอง ควรใช้ 1.วาสลีน หรืออาจจะเป็น 2.ขี้ผึ้งที่ละลายในน้ำมันผสมสี หรืออาจจะเป็น 3.น้ำสบู่หรือน้ำยาล้างจาน

ซิลิโคนทำพิมพ์ ส่วนใหญ่มักไม่ค่อยมีปัญหาในการติดกันของระหว่างต้นแบบกับยางซิลิโคนเนื่องจากผู้ผลิตทำหรือสร้างซิลิโคนชนิดนี้เอาไว้ให้หล่อแบบอยู่แล้วจึงมีคุณสมบัติที่ยางซิลิโคนมักไม่เป็นกาวติดกับวัสดุใดๆเลย จะเป็นรูปปั้นกระจก ตุ๊กตากระเบื้อง ไม้หล่อได้หมด และเก็บรายละเอียดได้ดี

เท่าที่ทราบปัญหาคือถ้าวัสดุมีรูพรุน เช่นต้นแบบเป็นรูปหล่อปูนที่มีรูพรุนใหญ่และลึกมากจนขณะสร้างแบบซิลิโคนน้ำยางสามารถไหลลงไปแทนทีในรูพรุนนั้นได้ก็จะมีปัญหาที่ซิลิโคนจะแกะออกจากต้นแบบยาก ต้นแบบไม่ควรเป็นรูปพรุนเล็กๆมากเกินไปคล้ายๆฟองน้ำเป็นต้น อย่างนี้จะแกะไม่ออกแน่นอน หรือแกะออกก้ทำต้นแบบเสียหายหรือทำพิมพ์ยางซิลิโคนเสียหายอย่างใดอย่างหนึ่ง

และเท่าทีอ่านดูในหนังสือ เครื่องประดับ ของอาจารย์พิชิต เลี่ยมพิพัฒน์ (เด๋วจะแนะนำหนังสือทีหลัง) พบว่าถ้ามีการทาแล็กเกอร์บนแบบเช่นรูปแกะที่เป็นไม้แล้วแล็กเกอร์ยังไม่แห้งดีแล้วเราดันไปหล่อแบบยางซิลิโคนเมื่อถอดแบบจะทำให้ติดกับแบบได้ ปัญหาอย่างเดียวที่มีคือถ้ามีการทำแบบประกบตั้งแต่สองชิ้นขึ้นไปจะต้องทาตัวกันติดกันเองของซิลิโคนทำแบบนี้

การหล่อชิ้นงานซิลิโคนทำพิมพ์ในแบบพิมพ์ซิลิโคนจำเป็นต้องหาสารกันติดที่เหมาสม ซึ่งผมจะค่อยๆยกตัวอย่างไป

น้ำยากันติดที่นิยมใช้ในกันติดซิลิโคนด้วยกันเองในการทำแบบประกบคือ

วาสลีน-ตัวกันติดสำหรับยางซิลิโคนหรือปูนที่นิยมที่สุด

วาสลีน(เบสน้ำมันไม่มีขั้ว) Vaseline or Petroleum Jelly เป็นตัวทากันติดที่ดีที่สุดตอนแกะแบบออกไม่มีปัญหาแกะง่าย นิยมใช้ แต่ปัญหาคือเนื่องจากวาสลีนมีลักษณะเป็นเจลข้นมากไม่ไหล เวลาทาด้วยพู่กันจะมีลายพู่กันเป็นร่องๆขณะทาแบบ เมื่อหล่อแบบประกบอีกด้านจะพบร่องพู่กันเกิดขึ้น ถ้าแบบเป็นแบบขนาดเล็กมันจะไม่สวยและอาจมีปัญหาเรื่องการรั่วซึมขณะหล่อได้โดยเฉพาะการหล่อเรซิ่นเหลวเมื่อทาวาสลีนหนาเกินไป

vaseline
วาสลีน มีขายตามร้านขายยาทั่วไป ไม่ควรใช้ทากันติดโดยที่ยังไม่ผสมเนื่องจากเนื้อครีมที่ข้นเกินไปทำให้เป็นรอบแปลงเวลาทา ควรผสมเบบี้ออย หรือน้ำมันสนให้เนื้อมันบางลงทาง่ายขึ้น ภาพจากยูนิลิเวอร์ไทยแลนด์

ในงานทำแบบแกะแบบ สูตรน้ำยาถอดแบบที่นิยมใช้ เป็นสูตรครอบจักรวาลที่เป็นน้ำยาแกะแบบอย่างง่ายๆและแกะแบบได้เกือบทั้งหมดในโลกนี้ที่ฝรั่งนิยมใช้กันคือ … ซึ่งจะใช้พ่นก็ได้ ทาก็ดี ชอบอย่างไรใช้อย่างนั้น (ผมไม่เคยลองใช้แบบผสมสูตรเหล่าเพราะก็เพิ่งหาสูตรมาได้แบบสดๆร้อนๆ )

แบบพ่น(spray) ที่มา link.

ผสมวาสลีน กับ น้ำมันผสมสี ในอัตราส่วน

2 tea spoon : 2 oz

ผมแปลงหน่วยให้แล้วเป็นอัตราส่วนโดยประมาณ

Petroleum Jelly : mineral oil = 1:6 Volume by Volume

mineral oil ex. Turpentine , Napta(gasoline ,kerosene)

วาสลีน : น้ำมันผสมสี = 1:6 โดยปริมาตร

จริงๆเขาใช้คำว่า mineral oil หรือน้ำมันแร่ ถ้าแปลตามศัพท์และลองดูที่เขาทำส่วนใหญ่เป็นพวกน้ำมันผสมสี เช่นน้ำมันสน น้ำมันก๊าด หรือใครจะใช้เบนซิน95ก็ได้ระเหยเร็วดี หรือทินเนอร์ล้างแปรงก็พอได้เหมือนกัน(สูตรทินเนอร์ไม่ควรพ่นลงบนต้นแบบซิลิโคนหรือโฟมหรือพลาสติกPS(ยังมีอีกเยอะ)เพราะทินเนอร์กัด)

การใช้งานคือพ่นลงไปบนต้นแบบทิ้งให้แห้งก่อนใช้งาน (สามารถกันติดกาวซิลิโคนและซิลิโคนทำพิมพ์ได้) สูตรนี้ต้องการเนื้อสารกันติดวาสลีนที่บางๆมากๆจึงใช้พ่น

แบบทา(brush) ที่มา link

วาสลีน : เบบี้ออย = 1:1

vaseline : baby oil =1:1

make_silicone_mold
รูปลิ้งค์ที่บอกสูตรนี้ เท่าที่ดูเขาใช้ทาแม้กระทั่ง ดินน้ำมันและปูนปลาสเตอร์ สรุปเป็นสูตรที่ใช้ง่ายได้ทุกที่ครับ และวาสลีนกับเบบี้ออยก็ไม่มีกลิ่นแถมยังซึมซาบผิวได้ดีไม่มีอันตรายใดๆทั้งสิ้น

ผมต้องขอบอกก่อนว่าไม่เคยใช้สูตรนี้ เพราะผมไม่ค่อยชอบน้ำมันมันเลอะเทอะ โดยเฉพาะแม่แบบรอบนอกที่เป็นปูนปลาสเตอร์ ผมใช้น้ำสบู่ ไม่ชอบวาสลีนแกะแบบแล้วสกปรก (เคยใช้แต่วาสลีนที่ยังไม่ได้ผสม) ส่วนการกันแม่แบบซิลิโคนติดกันผมใช้กาวลาเท็กซ์ครับ ทาแล้วต้องรอให้แห้งก่อนนะครับถ้าใช้สูตรผม ส่วนสูตรวาสลีนไม่จำเป็นต้องรอ

กลไกการกันติดของวาสลีนคือ การที่มันเป็นของเหลวข้นที่ไม่แห้งจึงไม่ติดกับอะไร ซึ่งเป็นข้อดีของมันเมื่อเราใช้ต้นแบบเป็นดินน้ำมันที่มีความแข็งค่อนข้างมากและกรอบหล่อคือปูนปลาสเตอร์ การใช้วาสลีนผสมเบบี้ออย 1:1 จะเหมาะมากเมื่อตอนแกะดินน้ำมันออกจากปูนจะง่ายมาก

นิยามใช้วาสลีนทากันติดกับวัสดุต่างๆ
แนะนำเว็บไซด์ แสดงให้เห็นว่าใครๆก็นิยมใช้วาสลีน ทาได้แม้กระทั่งกรอบปูนปลาสเตอร์รอบนอก เพื่อทากันติดกับปูนกันเอง แน่นอน วาสลีนยังใช้ทากันติดซิลิโคนได้ผลดีอีกด้วย

นอกเรื่อง น้ำสบู่สารกันติดสำหรับปูนปลาสเตอร์-เวิร์ก

การทากันติดสำหรับแบบปูนปลาสเตอร์ หรือป้องกันปูนปลาสเตอร์ติดกันเอง ผมชอบใช้น้ำสบู่ผิวที่ได้จะสะอาดเรียบ ช่างปูนปลาสเตอร์นิยมใช้กัน

โดยเอา สบู่แข็งที่ใช้ถูตัว ไปต้มกับน้ำ

อัตราส่วน 1 : 2 – 1 : 3 โดยปริมาตรกะๆเอา

ขึ้นกับชนิดสบู่ ควรจะใช้สบู่ที่เนื้อค่อนข้างแข็งนิดนึง ปรับข้นเหลวตามใจเมื่อต้มแล้วใสขวดที่ปิดฝาได้สนิท ถ้ามันตกตะกอนเป็นวุ้นข้นๆมากก็ใส่น้ำเข้าไปนิดเดียวแล้วคนเข้า เอาพู่กันใหญ่ๆทาประมาณ 2-3 รอบ น้ำสบู่ที่กำลังทาต้องเป็นของเหลวใสๆไม่ควรมีเนื้อข้นๆแข็งติดพู่กัน ถ้าเป็นแบบปูนใหญ่ๆทารอบนึงวนกลับมาทาอีกรอบมันแห้งแล้ว รอแห้งไม่เกิน 5นาที หลังแห้งเอานิ้วถูปูนจะมีผิวมันๆสะอาดมากพร้อมกลิ่นสบู่ ที่มาและเทคนิคเกี่ยวกับปูนปลาสเตอร์หาอ่านได้จาก ปูนปลาสเตอร์ : ศิลปะและการประดิษฐ์ / วัลลภ ไชยพรหม เป็นหนังสือเล่มแรกๆเกี่ยวกับงานฝีมือที่ซื้ออ่ะครับ

On plaster mold may be use solid soap with boiled water for mold release ,it’s so clean ,by cut soap and pour in boil water ,use to lay with big brush 2-3 times ,OK.

soap : water = 1 : 2 to 1 : 3

น้ำสบู่กันติดซิลิโคน น้ำสบู่กันติดปูน
น้ำสบู่ อันนี้ใช้สบู่อิมพีเรียลซึ่งมีความแข็งมากกว่าสบู่นกแก้ว(ใช้ได้เหมือนกัน) เหมาะกับการใช้งานทากันติดระหว่างปูนปลาสเตอร์ หรือจะเอามาทากันติดระหว่างซิลิโคนก็ได้ไม่ว่ากัน ผสมโดยขูดเนื้อหนึ่งสบู่ลงในน้ำร้อนค่อยๆต้มจนมันละลาย อัตราส่วนโดยปริมาตรคือ 1:2 ถึง 1:3 โดยปริมาตร ภาพ CC by pui108diy
apply_to_release_plastermold_with_soapy
โมลด์นี้ตรงปูนปลาสเตอร์ใช้น้ำสบู่ทากันติดระหว่างปูน สะอาดดี ครับ ถ้าเอานิ้วถูมันจะออกมันๆลืนๆ ควรใช้สบู่ที่เนื้อแข็งหน่อยจะดี ส่วนซิลิโคนสีน้ำเงินใช้กาวลาเท็กซ์ทากันซิลิโคนติดกันเอง ภาพ CC by pui108diy
ปูนปลาสเตอร์ ศิลปะและการประดิษฐ์ วัลลภ ไชยพรหม
แนะนำหนังสือ ปูนปลาสเตอร์ ศิลปะและการประดิษฐ์ อ. วัลลภ ไชยพรหม ภาพ CC by pui108diy

กาวลาเท็กซ์เป็นอีกตัวเลือกหนึ่งสำหรับทากันติดกันของซิลิโคนทำพิมพ์ ถ้าใช้งานแบบซิลิโคนเล็กๆเช่นปีกประกบรอบๆของโมลด์มีความกว้างไม่เกิน 1.5 เซนติเมตรแนะนำให้ใช้กาวลาเท็กซ์ของ TOA ทาข้นๆไม่ต้องผสมน้ำแบบนั้นแหละรอบเดียวพอ และรอให้แห้ง ทำแบบเสร็จทั้งหมดแล้วก็เอาไปล้างน้ำเอาฟิลม์กาวออก ก่อนล้างให้แช่น้ำไว้สัก5นาที แล้วก็เอานิ้วถูกๆออกให้หมด

กาวลาเท็กซ์สูตรของผมเองคิดว่าคงไม่มีใครใช้ แต่มีข้อดีมากเหมือนกันก็เลยแนะนำต่อ ข้อควรระวังทาแล้วต้องรอให้แห้งก่อนลงซิลิโคนอีกด้านหนึ่ง การกันติดด้วยกาวลาเท็กซ์ ต้องเข้าใจว่าซิลิโคนส่วนใหญ่เป็นเบสน้ำมันหรือส่วนใหญ่ตัวเนื้อสารซิลิโคนเป็นสารประกอบที่ไม่มีขั้ว ส่วนกาวลาเท็กซ์เป็นเบสน้ำมีขั้ว เมื่อกาวแห้งจะสามารถลอกออกจากซิลิโคนได้ง่าย สามารถนำไปล้างน้ำเพื่อให้ล้างกาวส่วนเกินออกได้ การลงซิลิโคนขณะกาวยังไม่แห้งจะมีผลเสียหลายอย่าง คือซิลิโคนกับกาวจะผสมกันและเสียคุณสมบัติซิลิโคนไป เช่น ถ้าเอาไปหล่อเรซิ่น เรซิ่นจะไปติดกับเนื้อกาวซิลิโคนที่ปีกประกบของมันและเอาไม่ออกอีกด้วยเป็นต้น

สูตรผม กาวลาเท็กซ์-กันซิลิโคนทำพิมพ์ติดกัน-เวิร์ก

กาวลาเท็กซ์ (โพลีไวนิลอะซิเตท PVA แต่ย่อมาจาก Polyvinyl acetate glue ,wood glue) (water base ,เบสน้ำมีขั้ว) สำหรับกันติดกันเองของซิลิโคนประเภทซิลิโคนสำหรับทำโมลด์ for release silicone part on mold making แนะนำกาวลาเท็กซ์ยี่ห้อTOA อันนี้ผมเลือกใช้เพราะมันไม่เลอะเทอะ และแห้งสนิทดี ใช้พู่กันเล็กค่อยๆบรรจงทารอบเดียว ทาแล้วต้องรอให้แห้งสนิทด้วยนะครับ(ถ้ารีบหล่ออีกข้างไม่รอแห้งมันจะติด) เนื่องจากมันเป็นกาวน้ำข้นๆ แต่พอแห้งแล้วความหนาของเลเยอร์ที่เป็นรอยพู่กันทาลงไปที่ดูไม่เรียบมนั้นจะเรียบสนิทแนบเป็นเนื้อเดียวกับซิลิโคนและเมื่อส่องกับไฟจะมีเงาๆของพลาสติกบางๆเคลือบอยู่ เท่าที่เดาๆสังเกตเอานะฟิล์มที่ได้จากการทาบางๆน่าจะหนาราวๆ 100 ไมคร่อน

เนื่องจากกาวลาเท็กซ์TOAมันค่อนข้างข้น ถ้าเอาไปผสมน้ำเล็กน้อยจะทาแล้วไม่ติดซิลิโคนเนื่องจากแรงตึงผิวของน้ำหรือเบสน้ำบนวัสดุเบสน้ำมัน(ซิลิโคน) เช่นกันถ้าจะทาทับกาวซิลิโคนด้วยสีอะคริลิกเบสน้ำก็อย่าหวังว่ามันจะติดเพราะด้วยหลักการเดียวกัน ด้วยแนวคิดจากหลักการที่ว่าซิลิโคนRTVสำหรับทำโมลด์มันไม่ติดกับอะไร ฉะนั้นทาอะไรก็ได้ที่มันเป็นฟิลม์บางๆและแห้งตัวพอทำแบบประกบอีกข้างมันก็แกะออกได้ง่าย

กลไกของการกันติดของกาวลาเท็กซ์คือการลอกออกได้ เมื่อทำพิมพ์เสร็จแล้วจะเห็นเลเยอร์เงาๆบางๆติดไปกับซิลิโคนอีกด้านนึงที่เพิ่งแข็ง ควรนำไปล้างน้ำและถูให้กาวหลุดออกไปให้หมด ก่อนเอาไปใช้หล่องานต่อไป

กาวลาเท็กซ์ TOA
ภาพบนเป็นกาว ลาเท็กซ์ สำหรับติดกระดาษ และไม้ polyvinyl acetate glue. wood glue จะใช้ยี่ห้ออะไรก็ได้ตามชอบ แต่ผมแนะนำยี่ห้อTOA ซึ่งมีความข้นมาก ถ้าแบบเป็นขวดๆไม่มียี่ห้อมักมีการผสมน้ำเยอะเกินไปอาจจะทาซิลิโคนแล้วไม่เวิร์ก ภาพนำมาจากอินเตอร์เน็ทโดยไม่ได้รับอนุญาตการนำไปใช้ต่อควรจำกัด

ข้อดีคือ ฟิล์มทีทากันติดมีความเรียบดี แต่ข้อเสียที่สำคัญคือมันทาแล้วไม่บางพอและเมื่อนำไปล้างน้ำออกจะเกิดช่องว่างขึ้นเล็กน้อย ถ้าเป็นแบบพิมพ์ชนิดที่ต้องการชิ้นงานที่ขนาดพอดีเป๊ะขอบก็บางและไม่อัดตัวพร้อมกับยาง การเกิดช่องว่างดังกล่าวจะทำให้ระบบกันรั่วจะไม่ค่อยดีนัก

mold_silicone_plaster_shell_with_epoxy_ring_bearing
โมลด์ยางซิลิโคนสีน้ำเงินเข้มชนิดแพลตินั่มเคียวให้การหดตัวน้อยมาก กรอบนอกเป็นปูนปลาสเตอร์และยางซิลิโคนไม่อัดตัวแน่นพร้อมกับกรอบเพราะต้องการให้ชิ้นงานมีความหนาตามต้องการ ดำๆเป็นแหวนอีพ็อกซี่(วิธีนี้ใช้ฉีดมีแรงดันเข้าโมลด์ แต่งานไม่ค่อยสวย) จะเห็นว่ามีขอบกว้างประมาณ1เซนติเมตรและมีร่องกันรั่วเป็นแนวมีขนาดความกว้างไม่เกิน3มิล การทากันติดไม่สามารถใช้วาสลีนข้นๆได้ การใช้กาวลาเท็กซ์ก็อาจทำให้รั่วได้ ถ้าจะให้เลือกใช้อาจใช้วาสลีผสมน้ำมันสน 1:6 ทาลงไปจะดีกว่า แต่โมลด์นี้ขอบใช้แว๊กถอดแบบซึ่งเนื้อฟิล์มค่อนข้างบางกว่า ภาพ CC by pui108diy
ระบบกันรั่วบนโมลด์ซิลิโคน
ภาพระบบซีลที่มีสันเล็กๆประมาณ2-3มิล ใช้สารกันติดเป็นแว๊กถอดแบบที่ใช้ในงานไฟเบอร์กลาส ซึ่งให้ผลที่ดีกว่ามาก เมื่อเทียบกับกาวลาเท็กซ์ หรือวาสลีนข้นๆ เนื่องจากต้องการระบบกันรั่วซึมที่มีขนาดเล็กๆและมีประสิทธิภาพ ภาพ CC by pui108diy

ส่วนในหนังสือบางเล่ม(หนังสือเครื่องประดับ อ.พิชิต พิมพ์ครั้งที่1 หน้า103)แนะนำให้ใช้ พีวีเอ – Some introduce to use with PVA mold release on silicone mold making ,against adhere between 2 part silicone mold making , cannot use with pure PVA mold release . Because surface tension will increase on PVA liquid water base with silicone part ,make brushing like water on wax paper.

พีวีเอล้วนๆ ไม่สามารถกันซิลิโคนติดกันเองได้

เพราะอะไร?

PVA mold release น้ำยาถอดแบบพีวีเอ หรือ โพลีไวนิลแอลกอฮอล์ Polyvinyl alcohal (เบสน้ำมีขั้ว) ผมเคยลองใช้ดูกับการกันติดซิลิโคนมันใช้ไม่ได้เนื่องจาก น้ำยาถอดแบบ PVA หาซื้อได้ตามร้านขายเรซิ่นทั่วไปทุกทีมีขาย พีวีเอ มักจะใช้ในงานไฟเบอร์กลาสมากกว่าเข้าใจว่าอาจารย์คงพิมพ์ผิด น้ำยาถอดแบบPVAเป็นน้ำยาเหลวๆประมาณกาวน้ำเอาไว้ทากระดาษ แต่PVAเมื่อทาบนซิลิโคนบางๆซิลิโคนจะไปบังคับให้PVA รวมตัวกันเป็นหย่อมเนื่องจากเกิดแรงตึงผิวที่เกิดจากวัสดุซิลิโคน PVAล้วนๆ จึงใช้ไม่ได้กับซิลิโคนนะครับ Pure PVA relase can not use for silicone release***. But can correct with water soapy,must test. อาจเป็นไปได้ที่จะใช้น้ำสบู่ผสมลงไปในพีวีเอ เพื่อ กันติดซิลิโคน แต่ยังไม่เคยทดลองใช้ เพราะสบู่จะสามารถลดแรงตึงผิวได้ ไว้ถ้าทำดูจะบอกผลครับ

การทาพีวีเอเคลือบลงบนซิลิโคน
รูปแสดงการใช้ น้ำยาถอดแบบPVAล้วนๆ ทาลงบนผิวยางซิลิโคน จะเห็นได้ว่า PVAมีการรวมตัวกันเป็นหย่อมๆเนื่องจากแรงตึงผิวที่เกิดจากพีวีเอและซิลิโคนซึ่งมันไม่สามารถทาเคลือบลงบนซิลิโคนได้ ฉะนั้นจึงไม่สามารถเป็นสารกันติดกันระหว่างซิลิโคนได้ ภาพ CC by pui108diy
น้ำยาถอดแบบพีวีเอ
น้ำยาถอดแบบ พีวีเอ ,PVA mold release ยี่ห้อ TAP ภาพ >> tapplastics.com/product/fiberglass/mold_releases/ tap_pva_mold_release_liquid/67 ภาพถูกนำมาใช้โดยไม่ได้รับอนุญาตการนำไปใช้ต่อควรจำกัด

data instruction of this brand of PVA
label in pdf

PVA_mold_release_TAP_label_instruction
ฉลาก น้ำยาถอดแบบ PVA ระบุชัดเจนว่า ใช้กับโพลีเอสเตอร์เรซิ่นหรืออีพ็อกซี่ก็ได้ และเป็นของเหลวที่ติดไฟได้อีกด้วย ภาพถูกนำมาใช้โดยไม่ได้รับอนุญาตการนำไปใช้ต่อควรจำกัด

ในเอกสารบอกให้เวลาพ่นให้พ่น2รอบ บางๆรอบนึง หนาอีกรอบ ควรได้ความหนาราวๆ 50-100 ไมคร่อน หรือ 1/10 ของ 1มิลลิเมตร แสดงว่าถ้าทาบางๆรอบเดียวคงได้ความหนา 25 ไมคร่อน

พีวีเอเป็นสารกันติดในงานผลิตชิ้นส่วนไฟเบอร์กลาสกันไฟเบอร์กลาสติดกันเองโดยตัวมันมีคุณสมบัติดการลอกออกเมื่อทาลงไปบนวัสดุที่แข็งและไม่ดูดซึมตัวมันเอง แต่เมื่อทาไฟเบอร์กลาสลงไปบนฟิลม์พีวีเอ พีวีเอจะติดกับอีกด้านที่เป็นเรซิ่นเหลวๆสัมผัสกับตัวมัน เมื่อแกะโมลด์ออกมันก็ลอกเป็นแผ่นบางๆโดยติดไปกับเนื้อไฟเบอร์กลาสอีกข้างหนึ่งโดยที่ไม่รู้สึกว่ามีมันอยู่

วีดีโอแสดงการแนะนำและทาพีวีเอ youtube โดย ecfibreglassuk นำมาแสดงที่นี้โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของ

วีดีโอแสดงการทำโมลด์และชิ้นงานไฟเบอร์กลาส มีการใช้พีวีเอในการถอดโมลด์เป็นระบบการลอกออก youtube by Mofiac นำมาแสดงโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของ

PVA+น้ำสบู่ กันซิลิโคนติดกัน – ใช้งานได้ดี

เทคนิคการทาPVA ให้เคลือบติดบนผิวซิลิโคน (how to apply PVA mold release to adhere and perfect coat on silicone surface)

ข้อดึของ น้ำยาถอดแบบPVA จริงๆก็เหมือนกับ กาวลาเท็กซ์คือ ถูก (หาซื้อได้ตามร้านที่ขายเรซิ่นทั่วประเทศหรือซื้อทางออนไลน์ในเมืองไทยมีขาย) และเมื่อทาไปบนพื้นผิวจะเห็นรอยแปลงอยู่แต่พอเรียบแล้วผิวจะตึงเรียบและเป็นมันและชั้นที่เคลือบจะบางมาก(เฉพาะPVA กาวลาเท็กซ์ล้วนๆไม่บางเท่าไหร่) อีกอย่างล้างน้ำออกได้ง่ายมากครับ ยังมีข้อดีอีกคือ PVA เก็บได้นานกว่า กาวลาเท็กซ์มากมายนัก 10-20ปีถ้าอยู่ในขวดไม่โดนอากาศมันจะไม่แข็งตัว ผิดกับกาวลาเท็กซ์ลองได้เปิดใช้แล้วเก็บไว้สัก1-2ปีมันก็จะแข็งแม้ปิดฝาเอาไว้ก็ตามน้ำก็ล้างออกยากต้องแช่กันนาน

ผมได้ทดลองแล้วก็เลยเอามาบอกต่อ ตอนแรกกะจะผสมลงไปแล้วทา อย่างนี้ก็ต้องมากะอัตราส่วนกันอีก ก็เลยใช้วิธี

1 วิธีทาพีวีเอทับน้ำสบู่ตอนยังไม่แห้ง ต้องมีพู่กันสองอัน อันนึงใช้กับน้ำสบู่ อีกอันใช้กับ PVA ผลัดกันทาอย่าให้สบู่แห้งก่อนลงPVA ผิวที่ได้จะเรียบแปร้สวยงาม

โดยให้ ทารอบแรกด้วยน้ำสบู่ให้เคลือบไปบนผิวซิลิโคนให้ทั่วแต่ไม่ต้องทาให้บางมากเกินไปจะแห้งเร็วมาก น้ำสบู่ต้องเหลวเล็กน้อยอย่าใช้แบบข้น ถ้าข้นไปให้ผสมน้ำแต่อย่ามาก ทายาวสัก5-10 cm ไม่ต้องรอแห้ง ทาPVA ทับตามทันที พยายามทาให้บางๆเข้าไว้ เนื่องจากPVAจะข้น พอเจอกันน้ำในสบู่มันจะเหลวลงเล็กน้อยและเหลวพอดี รอบเดียวก็อยู่ จะซ้ำอีกรอบก็ได้ซ้ำเฉพาะPVA เอาแสงส่องดูหลังแห้งผิวจะเรียบเงามันและไม่มีจุดรวม จากนั้นก็อย่าเอามือแตะเพราะมันบางมากระดับ ไม่ถึง 100 ไมคร่อน เดี๋ยวจะลอกติดมือเพราะความชื้นที่นิ้ว PVAบางยี่ห้อเขาจะไม่ผสมสีมาให้เป็นน้ำใสๆบางทีใช้ยาก เราจะผสมสีเองก็ได้ใช้สีน้ำนี่แหละใส่ลงไปพอให้มันเปลี่ยนสีเวลาทาจะสังเกตง่ายว่าตรงไหนทาไปแล้ว

2 (ยังไม่ได้ทดสอบ) อีกวิธีคือผสมน้ำสบู่กับพีวีเอก่อนทา เพื่อทาหรือพ่น ผมเดาๆว่าอัตราส่วนผสมน่าจะประมาณ น้ำสบู่ 1 ส่วน PVA ราวๆ3-5ส่วน อันหลังต้องไปลองดูเอาเองนะครับ ไม่รับประกัน ลองด้วยการทาบนแผ่นยางซิลิโคน โดยลองหาหรือทำแผ่นสำหรับทดสอบการทาดูเอานะครับ เนื่องจากน้ำสบู่ต่างคนต่างทำยี่ห้อสบู่ก็ไม่เหมือนกัน เดาลำบากครับส่วนสบู่ผมใช้ยี่ห้อ อิมพีเรียล(ขวดที่สอง) ดีกว่า นกแก้ว(ขวดแรกใช้หมดแล้ว)มากครับ (may be mix soap water:PVA =1:3 to 1:5 before apply ,not test)

how to apply PVA mold release to adhere and perfect coat on silicone surface
ในรูปบนแสดงขั้นตอนการทำให้PVA ทาติดบนซิลิโคน 1. ทาน้ำสบู่ 2. ทาทับด้วยPVA รอแห้งซ้ำอีกรอบก็ได้ 3. จะได้ dry flim 25 micrometer ทาบางรอบเดียวได้ความหนาประมาณ 25 ไมคร่อน ตามต้องการกันติดได้ ขอบคุณภาพที่ทำเองไม่ได้ลอกเขามา ภาพ CC by pui108diy

ระบบกันติดนี้ใช้ระบบลอกออกนะครับ ถ้านำไปทำพิมพ์ซิลิโคนชนิดสองชิ้นประกบ พีวีเอจะลอกติดไปกับชิ้นซิลิโคน ถ้าจะนำไปใช้ก็ควรเอาไปล้างน้ำให้สะอาดก่อนจะได้ไม่มีปัญหาภายหลัง

แน่นอนครับสูตรนี้ใช้กันติดระหว่างกาวซิลิโคนได้

ข้อดีของสูตรนี้คือมันบางมากๆ ระดับ25-50ไมโครเมตร เก็บรายละเอียดได้ทุกซอกมุม และเอาไปทาหล่อกาวซิลิโคนบนพิมพ์ซิลิโคนได้ครับ -เวิร์ก หล่อเสร็จก็เอาไปล้างเลยน้ำเลยจบ

..

แว๊กถอดแบบ-ขี้ผึ้งละลายในน้ำมันผสมสี-เวิร์ก

ทากันติดกันเองของซิลิโคนทำพิมพ์-ใช้ได้ดี

เนื่องจากผมเคยใช้แว๊กถอดแบบซึ่งใช้กับการถอดโมลด์ไฟเบอร์กลาส นำมาใช้ทากันติดระหว่างสร้างพิมพ์ซิลิโคนป้องกันซิลิโคนติดกันเอง ซึ่งใช้ได้ดีมากทีเดียว ราคาแว๊กถอดแบบชนิดถูกกระป๋องนึง300 กว่าได้นะ ราคาสูงทีเดียว

ใช้กันพิมพ์ซิลิโคนติดกัน วิธีใช้ต้องเอาพู่กันถูบนแว๊กไปมาจนแว๊กละลายเหมือนน้ำมันแล้วทาบนปีกซิลิโคนทำพิมพ์ก่อนเทแบบประกบอีกข้าง(ถ้าที่ต้องทาเนื้อที่มันเยอะก็ใช้ไดน์เป่าให้มันร้อนละลายหน่อยแล้วค่อยทาน่าจะง่ายกว่า) ข้อดีคือถ้าแว๊กดีๆเวลาทามันจะลื่นและแห้งเร็วมากด้วย กลิ่นคล้ายน้ำมันสนอ่อนๆ อ่อนมากทำในห้องปิดได้ไม่เหม็นฉุน ถอดพิมพ์ง่ายและมีผิวออกด้านๆกึ่งเงานิดหน่อย ถ้าจะเอาไปหล่องานอะไรก็ตามสามารถหล่อได้เลยไม่ต้องล้างแว๊กออก (ไม่ต้องเช็ดออกเหมือนวาสลีนข้นๆ) ข้อดีคือฟิล์มที่ทา ความหนาน้อยกว่า 100ไมคร่อน(อาจจะประมาณ50-80ไมคร่อน ข้อเสียคือ ฟิล์มที่ทาอาจไม่เรียบสนิทสวยและทาให้บางๆมากให้ความหนาเท่าๆกันไม่สามารถทำได้เพราะแว๊กมันมีเนื้อน้ำมันจากการถูพู่กันให้ร้อน และใช้ยากตรงต้องถูกแว๊กไปมาด้วยพู่กันแล้วทำให้มันเหลวก่อนทา เพราะแว๊กถอดแบบเอาไว้ใช้กับงานไฟเบอร์กลาสซะส่วนใหญ่มันจึงสร้างมาให้เป็นครีมที่แข็ง และใช้ถูกับพิมพ์ไฟเบอร์กลาสด้วยผ้าที่ป้ายแว๊กหลายๆรอบเพื่อให้แว็กซึมผ่านเนื้อพิมพ์ไฟเบอร์กลาส ทาทีเดียวใช้ถอดได้หลายครั้ง ถ้ากรอบนอกเป็นไฟเบอร์กลาสละก็ใช้ตัวนี้เลย

ระบบกันรั่วบนโมลด์ซิลิโคน
ภาพระบบซีลที่มีสันเล็กๆประมาณ2-3มิล ใช้สารกันติดเป็นแว๊กถอดแบบที่ใช้ในงานไฟเบอร์กลาส ซึ่งให้ผลที่ดีกว่ามาก เมื่อเทียบกับกาวลาเท็กซ์ หรือวาสลีนข้นๆ เนื่องจากต้องการระบบกันรั่วซึมที่มีขนาดเล็กๆ ภาพด้านซ้ายเป็นส่วนที่เทซิลิโคนทีหลังจึงจะมีแว๊กติดเข้าไปในเนื้อขอบ ส่วนทางขวาก่อนทำอีกด้านก็ทาลงไปบนขอบที่กว้างประมาณ1.2เซนติเมตรนั้นแหล่ะ ผลงานกันติดหลังใช้งานไม่มีการรั่ว เป็นที่น่าพอใจ ภาพ CC by pui108diy

เมื่อนำแว๊กถอดแบบไปใช้กับโมลด์ปูนปลาสเตอร์ ในการถมรูปพรุนบนปูน แว๊กถอดแบบนี้สามารถนำไปถมได้ดี โดยใช้พู่กันทาเหมือนอย่างวิธีการด้านบน เป็นการเคลือบปูนผิวปูน ก่อนนำปูนปลาสเตอร์ไปใช้หล่อ ซึ่งจะนำไปหล่อเรซิ่นก็ได้ หรือหล่อกาวซิลิโคนก็ได้เหมือนกัน เรียกว่าแว๊กถอดแบบสามารถกันติดได้หลายอย่าง ถ้าอยากให้เนื้อซึมลงไปลึกและผิวมีมันเงาหน่อยก็อาจใช้ไดน์เป่าผมเป่าเอาก็ได้(ไม่เคยลองนะอันนี้) เมื่อหล่อๆงานไปสักพักก็ต้องเติมแว๊กบ้าง ต้องอาศัยการสังเกตผิวหน้าปูนว่ายังมีแว๊กเคลือบอยู่หรือไม่

ระบบการกันติดของแว๊กกับไฟเบอร์กลาส เป็นการลอกออกอย่างบางๆบางส่วนของผิวแว๊กขณที่แกะชิ้นงานก๊อปปี้ออกจากโมลด์ไฟเบอร์กลาส(เมื่อชิ้นงานเรซิ่นไฟเบอร์ตัวก๊อปปี้เริ่มร้อนและทำปฏิกิริยาแข็งตัวก็จะมีแว๊กบางส่วนละลายออกมาเคลือบติดเรซิ่นเอาไว้) คือพูดง่ายๆมีแว๊กบางส่วนติดไปกับการขึ้นรูปในแต่ละครั้ง อีกส่วนก็ยังอยู่กับโมลด์ไฟเบอร์กลาสส่วนใหญ่ ฉะนั้นก่อนหล่อเขาต้องมีการถูแว๊กซ์บางๆอย่างเร็วๆ1รอบทุกครั้งเท่าที่สังเกตนะ**ไม่เคยลองทำจริงหรอกครับ

release wax for fiber glass mold , is good choise- good result to use on siliconeRTV2 mold making (protect adhere itself like Vaseline). Use brush rub on wax surface until wax change to oil, then apply to one part wing rim of silicone mold before make the other part. It is very good for mold shell ,fiber glass ,plaster also

แว๊กถอดแบบ
หน้าตาของแว๊กถอดแบบสำหรับงานไฟเบอร์กลาส release wax for fiber glass thk pic>> shopfinishkare.com/888.html ภาพถูกนำมาใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต การนำไปใช้ต่อควรจำกัด

สูตรที่ยังไม่ได้ทดลองทำ แต่น่าจะทำใช้ได้ ฝันว่าความสำเร็จ100%

สำหรับขี้ผึ้งละลายในน้ำมันผสมสีนั้น วิธีนี้ได้จากเอกสารแปล ของอาจารย์ พิชิต เลี่ยมพิพัฒน์ ดังที่กล่าวข้างต้น ตามเอกสารบอกแค่ว่า ขี้ผึ้งหรือพาราฟิน กับตัวทำละลาย xylene ไซลีน หรือ white spirit ซึ่งก็ไม่ได้บอกว่าเป็นขี้ผึ้งอะไร พาราฟินชนิดไหน และไวท์สปีริตตัวไหน และผมก็ไม่เคยลองทำใช้ซะด้วย ปล. น้ำมันสนก็เป็นไวท์สปีริตตัวนึง ที่ขายเป็นขวดๆ ซึ่งลองไปค้นดาต้าชีทมา น้ำมันสนที่ขายเป็นขวดเป็นกระป๋อง มีตัวเคมีสำคัญคือ CAS 64742-82-1 สรุปน้ำมันสนหาซื้อได้ง่ายกว่า ไซลีน ซึ่งไซลีนทำละลายได้ดีกว่า จุดเดือดต่ำกว่า ระเหยหรือแห้งเร็วกว่า

ที่เคยลองทำ คือขี้ผึ้งปั้นแบบ(ปั้นพระซื้อที่ร้านเรซิ่นแหละ) กับ น้ำมันสน ซึ่งการจะละลายมันต้องใช้เตาไฟฟ้าตั้งหม้อมีน้ำร้อนและใช้หม้อเหล็กหรือถ้วยเหล็กอีกใบจุ่มอยู่ในน้ำร้อนนั้นปรับไฟสัก70-80C แล้วใส่ขี้ผึ้งรอให้ละลายแล้วก็ค่อยๆเทน้ำมันสนลงไป จำได้ว่าตอนนั้นทำเล่นๆ เคยเอามาทาปูนปลาสเตอร์อยู่เหมือนกัน สูตรอัตราส่วนก็ผสมมั่วๆไปจำไม่ได้แล้ว แต่ปัญหาคือขี้ผึ้งผสมน้ำมันสนทาแล้วผิวมันดูเหนียวๆเหมือนขี้ผึ้งเทียนซึ่งเหนียวกว่าเทียน ซึ่งขี้ผึ้งปั้นแบบมันไม่ลื่นเป็นมันและค่อนข้างนิ่มไม่แข็งมากเอาเล็บจิกเข้า ซึ่งเอาไปใช้ถอดแบบไม่ดีนัก

ถ้าผมจะลองทำอีกครั้ง ผมคงใช้ขี้ผึ้งที่เอาไว้แกะแบบทำแหวนจิวเวอรี่ ซึ่งผิวมันค่อนข้างแข็งมากราวๆ 50 shoreD และผิวลื่นมากไม่เหนียว ถ้าหาไซลีนได้นะถ้าหาไม่ได้คงใช้น้ำมันสนเหมือนเดิม อัตราส่วนสูตรที่ฝันอยากจะทำคือ

ขี้ผึ้งแกะแหวนจิวเวอรี่ : น้ำมันสนหรือไซลีน

1 : 10 to 1 : 20

หรือพาราฟินแข็งทำเทียน : น้ำมันสนหรือไซลีน

(สูตรนี้ได้มาจากดาต้าชีทของ WACKER หน้า8 ระบุสูตรว่า Wax or paraffin; liquid or as 5–10 % solution in xylene or sulfur-free white spirit แต่ไม่ได้ระบุขี้ผึ้งว่าเป็นชนิดไหนแต่ถ้าพาราฟินทำเทียนก็มีไม่กี่เกรดคงพอใช้ได้เหมือนกัน(แต่ไม่รับรองว่าพาราฟินที่ซื้อมันมีส่วนผสมอะไรมาบ้าง ควรใช้เกรดพาราฟินบริสุทธิ์ที่ยังไม่ผสมสารเติมแต่ง) สูตรนี้เอาไว้ใช้ทากันติดสูตรน้ำมันฟิล์มแข็งครอบจักรวาล ทาปูน ไม้ อะไรก็ได้ที่มันทาได้ กันติดซิลิโคนทำพิมพ์ได้อย่างดี) เรื่องของขี้ผึ้งหรือพาราฟินมีรายละเอียดเยอะ มีข้อมูลดีๆเช่นส่วนผสมเฉพาะสำหรับขี้ผึ้งทำเทียน-ภาษาอังกฤษ เพื่อให้ได้สูตรเฉพาะ เช่นแข็งขึ้น เหลวลง ทำให้แข็งแรงขี้น จุดได้นานขึ้น มีอีกเยอะ

สูตรอีกอันที่ฝันอยากจะทำคือ ควรจะเก็บรายละเอียดเล็กๆเช่นเหรียญบาทได้ และน่าจะสำเร็จได้100%อีกเหมือนกันคือ

แว๊กถอดแบบ : น้ำมันสนหรือไซลีน

1 : 8 to 1 : 10

ผลที่คาดหวังคือ เนื้อบางทาง่าย เมื่อแห้ง ควรบางไม่เกิน 25-50 ไมคร่อน เก็บรายละเอียดได้ดีในชิ้นงานเล็ก ถอดโมลด์ง่าย เอามาทารองพื้นปูนปลาสเตอร์ได้ดี แต่น้ำมันสนกลิ่นมันแรงมากๆ ส่วนไซลีนไม่เคยใช้มาก่อนบอกไม่ได้

กลไกการถอดแบบเป็นแบบลอกออก เพราะฟิลม์ที่ได้เป็นฟิลม์แว๊กที่มีความแข็งที่อุณหภูมิห้อง ถ้าเป็นแว็กถอดแบบจะมีความเป็นน้ำมันแข็งอยู่และเนื้อแว๊กนิ่มกว่ามาก ส่วนถ้าเป็นขี้ผึ้งจิวเวอรี่เนื้อจะแข็งมากๆเลย การเอาไปประยุกต์ใช้คงต้องคิดต่ออีกหน่อย อาจเอาไปรองพื้นพิมพ์ปูนปลาสเตอร์ชนิดทาให้ซึมหลายๆรอบ แล้วค่อยทาน้ำสบู่รองพื้นอีกทีแค่นี้ก็เอาไปหล่อกาวซิลิโคนได้แล้วและทนทานไม่เสียอย่างแน่นอน

2. น้ำยาถอดแบบสำหรับกาวซิลิโคนRTV1

(mold release for siliconeRTV2- adhesive silicone )

เนื่องมาจากหัวข้อกาวซิลิโคนและเป็นน้ำยาถอดแบบกาวซิลิโคน แต่เนื่องจากต้องใช้พื้นฐานของการใช้สารทากันติดระหว่างซิลิโคนด้วยกันเองขณะทำพิมพ์ซิลิโคน ซึ่งต้องอ่าน 1 น้ำยาถอดแบบซิลิโคนRTV2-ซิลิโคนทำพิมพ์ ถ้าไม่อ่านรับรองไม่รู้เรื่องใน 2.แน่นอนครับเพราะผมจะเริ่มเขียนให้สั้นลงเป็นบทสรุป

ตัวทากันติดสำหรับกาวซิลิโคน แบ่งเป็น

1.ในการสร้างโมลด์ซิลิโคนด้วยกาว เราจะกันติดต้นแบบกับกาวซิลิโคนอย่างไร

2. ในการหล่อกาวซิลิโคนในพิมพ์ชนิดต่างๆ เราจะใช้สารกันติดอะไรดี

ใช่ครับ ทั้งสองคือเรื่องเดียวกัน วัสดุต้นแบบ หรือพิมพ์ต้นแบบ อาจเป็น

ดินน้ำมัน ดินเหนียว ปูนปลาสเตอร์ ขี้ผึ้ง ไม้ โลหะ กาวแท่งชนิดใช้ปืนให้ความร้อน วัสดุมีรูพรุน(ดินเผา คอนกรีต) แก้วหรือเซรามิก หนัง พลาสติก ยางซิลิโคน โพลีเอสเตอร์-อีพ็อกซี่-โพลียูรีเทน สารทากันติดควรจะใช้อะไรเมื่ออีกวัสดุคือกาวซิลิโคน

การเลือกน้ำยากันติด แบ่งตามรายละเอียดพิมพ์

1. งานพิมพ์ไม่เน้นรายละเอียด หมายถึงไม่มีรายละเอียดลวดลายที่เล็กมากมายเหมือนเช่นพิมพ์พระเครื่อง หรือเหรียญ แต่เป็นชิ้นส่วนของฝาครอบเรียบๆที่ไม่มีอะไร หรือชิ้นกระเบื้องเคลือบที่ไม่มีลายอะไร แล้วก็สามารถทำความสะอาดด้วยน้ำมันหรือทินเนอร์ได้ ก็ให้ใช้น้ำยาถอดแบบเบสน้ำมันในการถอดแบบ เช่น วาสลีนผสมน้ำมัน หรือ แว๊กซ์ถอดแบบชนิดน้ำมัน หรือชนิดแข็งก็ได้ สเปรย์กันติดที่ไม่ใช่เบสซิลิโคน หรือจะใช้น้ำมันพืชใส่สเปรย์แล้วพ่นเอาก็ได้ หรือโซแน็ก 4WD ตามแต่จะหาได้ง่ายว่าจะหาอะไรได้ แต่ผมไม่คอนเฟิร์มสูตรทุกตัวนะครับ อันไหนคอนเฟิมจะบอกครับเพราะได้ผ่านการทดลองแล้ว แต่ถ้าอันไหนเขาบอกผมก็บอกว่าเขาบอกมา

2. งานพิมพ์ที่เน้นรายละเอียดเล็กๆ เช่น หู ตา จมูก ปากบน พิมพ์นูนต่ำที่มีขนาดเล็กเท่านิ้วหัวแม่มือ ควรใช้น้ำยาถอดแบบเบสน้ำ เช่นน้ำถอดแบบพีวีเอโมดิฟายด้วยน้ำสบู่ หรือถ้าแถวบ้านหาPVA ไม่ได้ผมจะแนะนำสูตรอย่างอื่นให้ ลองอ่านไปดูเรื่อยๆจะบอกให้เองครับ น้ำยาสูตรน้ำควรที่จะต้องล้างออกได้ง่าย เอาใส่ผ่านใต้ก็อกน้ำก็ล้างออกแล้วไม่ต้องไปถูๆอย่างนี้ถือว่าดีครับ

การเลือกใช้น้ำยากันติด แบ่งตามวัสดุต้นแบบ

อันนี้ผมพูดรวมๆไปเลย คงไม่ได้พูดถึงกันซิลิโคนติดกันต้นแบบอย่างเดียว แต่เป็นศาสตร์การจัดการกับพื้นผิวก่อนเลือกใช้น้ำยากันติดครับ เพราะผมพบปัญหาสำคัญบางอย่างที่ทำให้สารกันติดไม่ได้ผล ถ้าไม่เข้าใจเรื่องคุณสมบัติของต้นแบบ หรือความสามารถในการดูดซับสารกันติด ความเป็นรูพรุน และความเหมาะกับสารกันติดประเภทน้ำหรือน้ำมันในวัสดุต่างๆ ถ้าไม่เข้าใจสิ่งเหล่านี้ผมก็จะบอกว่าน้ำยากันติดที่เพอร์เฟ็กกันติดวัสดุได้ทุกประเภทคงไม่มี ถ้าอันไหนไม่แน่ใจก็ควรลองบนพื้นที่เล็กๆดูก่อนกันต้นแบบเสีย

1 วัสดุที่เป็นต้นแบบชนิดพื้นผิวที่เป็นรูพรุนหรือซับน้ำหรือน้ำมันได้ดี สิ่งแรกที่ต้องทำคือการจัดการรูพรุนที่สามารถดูดซํบน้ำมันหรือน้ำเสียก่อน ก่อนเอาต้นแบบเหล่านี้ไปหล่อแบบ เช่น รูปหล่อปูนปลาสเตอร์ รูปปั๊นต้นแบบที่ทำจากดินเยื่อไผ่ รูปหล่อหินทรายที่มีรูพรุนสูง ชิ้นงานที่เป็นดินเผา ต้องจัดการดังนี้

1.1 วัสดุต้นแบบดูดน้ำหรือน้ำมันได้ แต่วัสดุหล่อแบบมีความข้นแข็งพอไม่แทรกซึมเข้าไปในเนื้อวัสดุต้นแบบ เช่น

ตย. ต้นแบบเป็นปูนปลาสเตอร์ที่หล่อด้วยปูนที่ข้นมาก ถ้าเราใช้น้ำมันเป็นสารกันติด หรือวาสลีนผสมน้ำมันสน ทากันติดเพื่อหล่อแบบปูนหรือซิลิโคนหล่อแบบหรือยางพารา อย่างนี้พอทำได้ แต่ต้องทาให้หนาพอ หรือหลายรอบพอให้น้ำมันซึมเข้าไปให้ทั่วเป็นต้น ส่วนใหญ่เขาจะถมก่อนทากันติด เข่นทาถมด้วยแล็กเกอร์ด้านหรือแล็กเกอร์เงาเพื่อถมรูพรุนแล้วจึงทากันติดให้หนาพออย่างนี้จะปลอดภัยกว่า แล้วถอดแบบได้แน่นอน (การถมแล็กเกอร์บนปูนปลาสเตอร์ ปูนต้องแห้งไม่มีน้ำชื้นอยู่ภายใน)

ตย. แต่ถ้าเราเลือกใช้น้ำสบู่กันติดสำหรับหล่อปูนปลาสเตอร์ด้วยแบบปูนปลาสเตอร์ การทากันติดด้วยน้ำสบู่ต้องซ้ำทาน้ำสบู่หลายรอบจนรู้สึกลื่นและไม่ซึมเข้าผิวเรียกได้ว่าทาจนกว่ากว่าสบู่จะถมปิดผิวรูพรุนของปูนปลาสเตอร์ให้มิด จากเท่าที่เคยทำคืออย่างน้อย 3 รอบน้ำสบู่

ตย. ในต้นแบบที่เป็นดินเยื่อกระดาษถ้าเราอยู่ๆดันไม่ใช้สารกันติดหรือเตรียมผิวด้วยแล็กเกอร์แล้วเราก็หล่อยางพาราเลยอย่างนี้ผลที่ได้คือทำแบบได้ครับแต่ต้นแบบเมื่อแกะแล้วผิวของดินเยื่อไผ่จะติดแบบยางพาราทำให้ต้นแบบเสียเป็นต้นแต่แบบยางพารายังใช้งานได้เพราะล้างดินออกได้ ในทำนองเดียวกันซิลิโคนสำหรับหล่อแบบก็เช่นกันแม้มันไม่ติดอะไรแต่ก็ทำลายต้นแบบมากพอดู

ตย. ต้นแบบเป็นดินเยื่อกระดาษหรือกระดาษ แต่เราเลือกใช้พีวีเอ (โพลีไวนิลแอลกอฮอล์) เป็นตัวกันติดกันซิลิโคนกาวติด เนื่องจากถ้าเราไปใช้กับชิ้นงานพลาสติก พีวีเอทา1-2รอบก็กันอยู่ แต่พอต้นแบบเป็นดินเยื่อกระดาษซึ่งมันสามารถดูดซับพีวีเอได้ดี ทาไป3-4รอบ มันก็ยังติดกาวซิลิโคนอยู่ดี คือพูดง่ายๆ พีวีเอไม่มีคุณสมบัติด้านเนื้อหนาจึงไม่สามารถถมได้ดี ไม่แน่ใจว่า10รอบจะถมหมดไหม อย่างนี้เป็นการเลือกใช้สารกันติดผิดประเภท ควรต้องถมด้วยน้ำสบู่ก่อนหลายๆรอบ แค่นี้ก็กันกาวซิลิโคนติดได้แล้วหรือถ้าอยากได้ผิวเรียบเป็นมันเล็กน้อยจะตบท้ายด้วยกาวลาเท็กซ์ผสมน้ำเล็กน้อยทาทับ หรือจะใช้แว๊กตั้งแต่แรกลงขัด2-3รอบ แล้วแต่เลือกใช้นะครับ

ข้อควรระวัง ของสารทากันติดกลับติดได้ ถ้าจับคู่แมชสารเคมีกันผิดๆ

….สารทากันติดที่มีคุณสมบัติในการลอกออกได้เมื่อใช้กับวัสดุที่ไม่ดูดซึมน้ำหรือน้ำมัน แต่กลับกันเมื่อใช้กับวัสดุดูดซึมได้เราทากันติดลงไปเช่น พีวีเอ ลงบนกระดาษมันจะซึมลงไปในเนื้อกระดาษและไม่มีวันลอกออก ฉะนั้นต้องเข้าใจในสารกันติดแต่ละชนิดว่ามีคุณสมบัติว่าลอกออก หรือ มันไม่ติดกับสารอะไร

…ในทางกลับกันสารกันติดที่มีคุณสมบัติไม่ติดกับสารที่มันนำมาหล่อ เช่นแว๊ก ถ้าเราทำโมลด์ไฟเบอร์กลาส ทาแว็กลงไปขัดอย่างดีให้มันซึมเข้าไปในเนื้อไฟเบอร์ แต่เราเอาโมลด์นั้นไปหล่อเทียนไข มันจะติดกันอย่างไม่น่าเชื่อและอาจแกะไม่ออกถ้าแว๊กซ์กับขี้ผึ้งหล่อเที่ยนไขมีความสามารถในการผสานกันตอนร้อนๆได้ดีซึ่งแว๊กถูกๆบางตัวอาจเป็นเช่นนั้นได้ ส่วนใหญ่หล่อเทียนใช้โมลด์เหล็กหรือซิลิโคน ซึ่งมันไม่ดูดซึมเทียนหรือแว๊กซ์ และไฟเบอร์กลาสจริงๆทนร้อนไม่ได้มากและไม่ได้นาน

1.2 วัสดุต้นแบบดูดน้ำหรือน้ำมันได้และมีรูพรุนกว้างพอที่วัสดุหล่อสามารถแทรกซึมเข้าไปในเนื้อวัสดุต้นแบบ การแทรกซึมนั้นหมายถึงไหลลงไปตามรูพรุนไปเกาะกับต้นแบบ และเมื่อหล่อแบบแล้วจะแกะไม่ออกแม้ทาสารกันติดแล้วก็ตาม แม้ถมผิวไม่ให้ดูดน้ำหรือน้ำมันแล้วก็ตาม

ตย. ต้นแบบเป็นรูปปั้นหินทรายที่มีรูพรุนหยาบมากและลึกแหลม อย่างนี้ไม่เหมาะกับการหล่อการหล่อแบบแข็ง(ปูน,ไฟเบอร์กลาส)เพราะมันแกะไม่ออก หรือแม้แต้ยางซิลิโคนทำแบบก็อาจแกะไม่ออก ต้องถมหรือโป๊วหรือทาสีให้พื้นผิวมีองศาที่ยางสามารถดึงออกจากแบบได้

2. วัสดุดูดซึมน้ำหรือน้ำมันได้น้อยมาก อีกทั้งความเป็นรูพรุนก็ต่ำ อย่างนี้ไม่มีปัญหาเรื่องผิววัสดุในการเลือกใข้สารกันติด จะใช้เบสน้ำเบสน้ำมันก็ลองดู ตย. เช่น ชิ้นต้นแบบเป็นไฟเบอร์กลาส อะคริลิก หรือแม้แต่ซิลิโคนด้วยกันเองเป็นต้น

สูตรหรือสารเคมีที่เขาว่ากันว่าใช้ได้กันติดกาวซิลิโคนได้ -Release Agent from silicone glue (Awesome people on web tested it.)(web reference) (I don’t confirm all , you will test before) ต้องลองทดลองก่อนนะว่าใช้ได้หรือดีอย่างที่เขาว่า

1. สเปรย์น้ำมันพืช (cooking oil spray -web ref. ,for release silicone adhesive ,some people confirm) น่าจะสามารถกันติดกาวซิลิโคนได้ มีคนเขาทดลองมาแล้วว่าสเปรย์น้ำมันพืชกระป๋องใช้ดีและง่ายหรือมันเป็นแบบเติมลงในฟ็อกกี้หว่าไม่เห็นมีรูปประกอบ(ยังไม่เคยลอง) แต่ไม่แน่ใจว่าเมืองไทยซื้อที่ไหน แต่ไม่ได้บอกชนิดน้ำมันซะอีก แตผมว่าน่าจะต้องเลือกน้ำมันที่มันไม่เหนียวเนอะหนะอาจจะผสมพวกน้ำมันก๊าดลงไปแล้วทาก็ได้ น่าจะได้ แต่ผมไม่ค่อยชอบนัก from http://www.myheap.com/chapter-8-silicone-caulk-molds.html ในลิ้งค์นี้ยังมีเนื้อหาที่น่าสนใจ

vegetable oil spray , may be work(not confirm) thk pic >>please click on picture สเปรย์น้ำมันคงหน้าตาแบบนี้

2. วาสลีนผสมน้ำมันผสมสี (Vaseline or Petroleum Jelly + turpentine ,for release silicone adhesive – same formula before ,much people confirmed) เป็นสูตรเดียวกับด้านบน เนื่องจากยังไม่ได้ทดลองเลยบอกไม่ได้ว่าดีแค่ไหน แต่เขานิยมกัน และผมแน่ใจมากว่าใช้ได้ค่อนข้างดี แต่เรื่องรายละเอียดต่างๆไม่รู้ ต้องเอาไปลองเอง

3. น้ำมันอื่นๆ (Some light oil –May be) ทีผมคิดว่าได้ ถ้าน้ำมันพืชได้ พวก sonax 4wd น้ำมันหล่อลื่นที่เป็นสเปรย์อย่างนี้ก็คงได้ ,น้ำมันจักร เป็นน้ำมันที่เบาและมีฟิลม์น้ำมันทีบางกว่าน้ำมันพืชมาก ก็น่าจะได้ baby oil ก็น่าจะโอเค(ไม่ได้เทส) baby lotionก็พอได้ ทาหรือพ่นลงไปบนต้นแบบ

เทคนิค ปัญหาสำคัญคือถ้าใช้กับพวกกาวซิลิโคนกรดไม่น่ามีปัญหามาก แต่ถ้าเป็นกาวซิลิโคนชนิด oxime มันจะกลืนน้ำมันได้ดี ฉะนั้นถ้าเราเก็บรายละเอียดรอบแรกบนผิวต้นแบบ ต้องอย่าเอาพู่กันไปคนหรือทาหรือขุดซ้ำๆกันบนผิวต้นแบบจะทำให้ฟิล์มน้ำมันถูกดูดซึมและกลืนหรืออาจจะลอกติดต้นแบบได้ -Oxime type silicone adhesive can swallow well on serveral oil ,if you use thier light oil on prototype,you must not rub prototype same position with brush when apply silicone in first detail lay. It may be work to release.

some_prototype release from silicone adhesive unconfirmed

3. แว๊กซ์น้ำ หรือแว๊กซ์เหลว แว๊กซ์ข้น สำหรับงานแกะโมลด์ไฟเบอร์กลาสใช้ได้ทั้งนั้น แต่ถ้าจะเปลี่ยนแนวไปใช้พวกแว๊กซ์น้ำที่ใช้กับรถยนต์เคลือบกระโปรงรถแล้วขัดๆถูๆด้วยผ้าให้เงา ซื้อย่างถูกๆมาก็ได้ น่าจะกันติดได้ดี(ไม่เคยลองใช้) น้ำยาเคลือบเบาะชนิดมีแว๊กก็น่าจะได้ พวกแว๊กแท้ๆส่วนใหญ่ถ้าอยากได้ผิวด้านๆก็ไม่ต้องขัด อยากได้ผิวมันก็ขัดซะ แต่ถ้ามีลายหรือมีรายละเอียดผิวที่ขัดไม่ได้แต่ต้องการความมันก็ใช้ไดร์เป่าผมค่อยเป่าให้แว๊กมันละลายน่าจะทำให้ขึ้นเงาได้ หรือพู่กันขนอ่อนจำนวนมากปัดไปมาก็ทำให้ขึ้นเงาได้เหมือนกัน แต่สูตรพวกน้ำยาขัดรถ เคลือบเบาะมีเยอะ แต่อย่าใช้ไปใช้พวกที่มีซิลิโคนอาจได้ผลตรงกันข้ามครับ แต่พวกที่มีเทฟล่อนนี่ดีมากๆกันติดได้ทุกประเภท พวกแว๊กที่ใช้กับรถยนต์นี่ราคาสูงทั้งนั้นแหะ ลองดูที่นี่ (liquid Wax , paste WAX -for fiber glass mold release ,it’s very good for release anything from adhesive silicone, CONFIRMED . – Some Wax in car or leather coating May be work well, but some brand mix silcone oil base may not be work . Some car wax spray mixs teflon ,excellent to all release)

แว๊กซ์ข้นกันติดสำหรับโมลด์ไฟเบอร์กลาส ใช้กันติดซิลิโคนได้ แต่แว๊กข้นมักเก็บรายละเอียดได้ไม่ดีนักถ้าเอามาใช้กับซิลิโคน thk pic >>http://www.meguiarsonline.com/forums/showthread.php? 4831-Do-Glazes-Fillers-affect-the-bonding-of-NXT
แว๊กน้ำกันติดสำหรับโมลด์ เอามาใช้กันติดซิลิโคนได้ thk pic >>http://www.meguiarsonline.com/forums/showthread.php? 4831-Do-Glazes-Fillers-affect-the-bonding-of-NXT
release_wax_can_release_thing_from_silicone_adhesive
แว๊กชนิดต่างๆที่กันติดซิลิโคนได้ พวกแว๊กน้ำน่าจะเก็บรายละเอียดได้ดีมาก แต่ผมไม่เคยใช้นะครับพวกแว๊กน้ำเลยบอกไม่ได้ว่าดีไง ได้แต่เชียร์ๆ

4. น้ำมันซิลิโคน หรือซิลิโคนสเปรย์กันติดที่ใช้ในงานอุตสาหกรรมฉีดแม่พิมพ์ มีผลตรงกันข้ามทำให้ติดต้นแบบอย่างดี ห้ามเด็ดขาดเพราะทดลองมาแล้ว ซิลิโคนออยก็มีผลในทางเดียวกัน (release spray base on silicone , or silicone oil – Do not use , it is adverse ,easy to adhere ,CONFIRMED NOT USE)

effect_of_silicone_release_with_thing_and_silicone_glue

ผลการทดลองตัวกันติดอื่นๆที่ใช้กับกาวซิลิโคน – Test result with other agent to release silicone glue

ผมก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าเทสอะไรกันเยอะแยะ ที่แนะนำไปก็น่าจะพอใช้แล้ว แต่ไอเดียมันปิ๊งกันเยอะเหลือเกิน ไม่เขียนหรือบันทึกเดี๋ยวจะนอนไม่หลับ ไหนๆก็ทดสอบแล้วก็มาเล่าสู่กันฟังต่อไป เผื่อเอาไปใช้กับอะไรแปลกๆแล้วการทดลองที่ถูกบ้างผิดบ้างอาจนำไปสู่ทางแก้ปัญหา ส่วนใหญ่เขาบันทึกแต่ที่ถูก แต่ผมชอบบันทึกที่ผิดไปด้วย

เข้าตำราธรรมะเรื่องการปฏิบัติคือ เรียนรู้สิ่งที่ผิด ที่เหลือมันคือสิ่งที่ทำถูก (แต่ถ้าเราทำสิ่งที่เขาว่าถูกอย่างเดียว เราก็จะไม่มีฐานความรู้ที่จะต่อยอดต่อไป แต่ในเรื่องธรรมะในเรื่องจิต การพยายามทำให้ถูก คือการทำที่ผิด จิตจะหนักๆอย่างเดียว ว่ามีกูตัวดี ตัวถูกนั่งอยู่ ทำอยู่ตรงนี้)

Test_soap_water_release_agent_to_release_silicone_glue_oxime_from_silicone
ในรูปเป็นการทดสอบตัวกันติดโดยใช้น้ำสบู่(ไม่ได้เก็บรายละเอียดผิว) ทำชิ้นงานAก่อน รอให้แข็ง จากนั้นก็ทาน้ำสบู่ 1รอบ รอให้แห้ง แล้วก็ใช้ปืนบีบซิลิโคนกาวชนิด oxime type ลงไปที่ชิ้นงานA รอแข็ง เป็นชิ้นงานB อยู่บนชิ้นงานA แล้วทดสอบการลอกออก ในรูปจะเป็นรายละเอียดต่างๆ มีพลิกลับด้านให้ดูด้วยเป็นรูปล่างขวา (Just only test release agent ,use silicone gun but do not pick surface detail .)
pva_on_soap_release_from_silicone_glue_skin_rather_gloss
ภาพนี้แสดงถึงความเงาที่ได้จากการใช้สารกันติดพีวีเอ บน น้ำสบู่ เงามากครับ ชิ้นB คือชิ้นที่หล่อบนA น้ำยากันติดถูกทาที่A โดยน้ำสบู่1รอบ รอแห้งซ้ำ pva1รอบ รอแห้ง แล้วใช้ปืนซิลิโคนหล่อบนA รอBแข็ง จากนั้นก็ลอกออกแล้วเอาBไปล้างน้ำ เนื่องจากฟิลม์PVAจะติดกับBทั้งหมด

การทดสอบผมจะให้ความสำคัญดังนี้ คือ ต้องถอดพิมพ์ง่าย(easy to release) ต้องเก็บรายละเอียดได้ดีมาก(detail) เป็นหลักใหญ่ในการที่ผมจะให้คะแนนว่าตัวกันติดยางซิลิโคนสามารถใช้ได้ผลดีหรือไม่ จากนั้นผมจะมีรายละเอียดว่าตัวกันติดชนิดใดให้ผิวที่ด้าน(flat, matt) หรือผิวที่มันเป็นเงา(gloss) ผิวต้นแบบคือผิวเงาคือซิลิโคนที่แห้งผิวตามธรรมชาติ ถ้าเอาไปส่องไฟจะค่อนข้างเงาทีเดียว

สูตรกันติดกาวซิลิโคนที่ผมชอบ (My favorite formula release agent -against silicone glue to adhere thing)

1.

น้ำสบู่ 1รอบ

(Saop Water 1 times ,dry)

การกันติดชนิดมีผิวสบู่บางส่วนติดไปกับกาวซิลิโคน (release system ,some soap layer adhere with silicone glue)

easy to release 9/10, detail 9/10, gloss 5/10 (very few gloss)

ถอดแบบง่าย 9/10, เก็บรายละเอียด 9/10, ความเงา 5/10 (เงานิดหน่อย)

2.

สเปรย์ฟิล์มเทฟล่อน 1-2รอบ

(Dry flim PTFE Lubricant, spray 1-2times)

การกันติดมีผงเทฟล่อนบางส่วนติดไปกับผิวกาวซิลิโคน (release-system, some PTFE powder adhere with silcone glue)

easy to release 10/10, detail 8/10, flat, matt 8/10 (rather flat)

ถอดแบบง่าย 10/10, เก็บรายละเอียด 8/10, ผิวด้าน 8/10 (ค่อนข้างด้านมาก)

3.

น้ำสบู่ 1รอบรอแห้ง ทับด้วย กาวลาเท็กซ์ที่ผสมน้ำ4:1 ถึง 3:1 รอแห้ง

(soap water 1times when dry ,brush with wood glue mix some water 4:1 to 3:1 only one times dry)

(wood glue = poly vinylacetate glue) การกันติดมีผิวกาวลาเท็กซ์ส่วนใหญ่ลอกออกจากผิวน้ำสบู่โดยกาวลาเท็กซ์ติดไปกับผิวกาวซิลิโคนทั้งหมด ต้องเอาไปล้างน้ำจึงจะเห็นความเงา (release-system, all layer of wood glue adhere with silicone glue ,gloss = when silicone complete dry ,wash wood glue from silicone suface with water )

easy to release 7/10 ,detail 7/10 ,gloss 7/10(a little gloss)

ถอดแบบง่าย 7/10 ,เก็บรายละเอียด 7/10 ,ความเงา 7/10(เงาดี)

4.

น้ำสบู่ 1รอบรอแห้ง ทาทับด้วย ตัวถอดแบบพีวีเอบางๆ 1รอบ รอแห้ง อาจทับอีกรอบเพื่อความชัวร์รอแห้ง

(Soap1dry ,thin PVA1dry and may be thin PVA1dry again dry)

การกันติดชนิดผิวPVAลอกออกจากผิวน้ำสบู่ที่รองพื้นไว้โดยพีวีเอจะลอกไปติดกับผิวกาวซิลิโคนทั้งหมด ต้องเอาไปล้างน้ำจะเห็นความเงาซึ่งเงามากเกือบได้ความเงาเทียบเท่ากับผิวกาวซิลิโคนที่แห้งตามธรรมชาติเป็นรองอยู่หน่อยๆ (release-system ,likes wood glue)

easy to release 6/10 ,detail 7/10 ,gloss 8.5/10 (rather gloss)

ถอดแบบง่าย 6/10 ,เก็บรายละเอียด 7/10 ,ความเงา 8.5/10 (ค่อนข้างเงามัน)

5.

น้ำสบู่ 1 รอบรอแห้ง ทับด้วย dulex play ผสมน้ำ4:1 รอบนึงรอแห้ง

(Soap1dry ,dulex play mix some water 4:1 dry ,if you dont have durex play may be use K-Y but dulex make better fine dry film)

สูตรมั่วๆครับ แต่ก็ลอกออกได้ดีตามนั้น จะใช้K-Y ก็ได้ แต่ ดูเร็กซ์ play เป็นฟิล์มแห้งดีกว่าไม่เหนียว แต่ไม่แนะนำ Nuru ไม่ค่อยดี แต่ถ้าผสมน้ำสบู่แล้วทาไปเลยจะเกิดข้อผิดพลาดคือมันอาจไม่กันผิวทั้งหมดคืออาจมีผิวบางส่วนเล็ดลอดจากการรวมตัวกันเนื่องจากแรงตึงผิวของน้ำยาต่ำเพราะผสมน้ำสบู่ไม่ทั่ว จึงแนะนำให้รอน้ำสบู่แห้งสักหน่อย1รอบ แล้วค่อยลงน้ำยาทับอีกรอบดีกว่า ลองมาแล้วครับเด๋วขึ้นรูปให้ดู (release-system ,likes wood glue)

easy to release 7/10, detail 7/10 ,gloss 5.5/10 (very few gloss)

ถอดแบบง่าย 7/10, เก็บรายละเอียด 7/10 ,ความเงา 5.5/10 (เงานิดหน่อย)

some_KYmixsoap_durexplaymixsoap_release_test_fail_from_silicone_glue
รูปข้างบนเป็นการทดสอบสารกันติดกับกาวซิลิโคนบนเหรียญ มีข้อผิดพลาดเกิดขึ้น เนื่องจากคิดว่า K-Y หรือ durex play ให้ฟิล์มที่บางมากและล้างออกง่ายมาก ก็เลยผสมน้ำนิดหน่อย ทาลงไปบนเหรียญ ปรากฎว่ามันมีแรงตึงผิวทำให้ทาเคลือบไม่ได้ก็เลยปิ๊งไอเดียเอาน้ำสบู่ลงทาผสมคงได้ ก็เลยละเลงน้ำสบู่ทับตามลงไป ดีใจว่ามันเคลือบได้ผล แต่ไม่ได้เห็นว่ามีบางส่วนมันผสมกันไม่สนิทดีพอถอดออกมาเห็นชัดเลย ใครจะลองอีกแบบก็ได้ คือเลย์น้ำสบู่ให้ทั่วไม่ต้องรอแห้ง จากนั้นก็เลย์สารกันติดชนิดน้ำทับไปเลยก็ได้ มันกันติดได้เหมือนกัน อาจไม่ต้องรอน้ำสบู่แห้ง แต่ต้องแน่ใจว่าน้ำสบู่เคลือบผิวรอบแรกทั่วสนิทดีแล้ว ถ้าไม่แน่ใจควรซ้ำอีกครั้งโดยเฉพาะ PVA หรือ durex play เพราะฟิล์มมันบางมากจริงๆยิ่งเราเอาพู่กันเบอร์1 ทามันยิ่งบางมากน้อยกว่า 25 ไมคร่อนเสียอีก

แนะนำสารหลักในส่วนผสมการกันติด (Introduce Main Release Agent to mix and apply)

1. น้ำสบู่ (soap water) สูตรเหมือนข้างบนเป๊ะทวนอีกที ใช้สบู่อิมพิเรียลหรือสบู่อะไรก็ได้ที่เอาไว้ถูตัว สบู่แข็งหน่อยก็ดี เอามีดตัดแล้วเทลงในน้ำร้อนตั้งไฟ อัตราส่วน 1:2 – 1:3 เคี่ยวไปจนละลายใส่กระปุกเก็บไว้ใช้ ถ้ามันเป็นวุ้นขุ่นจะทายากเอาน้ำเติมเล็กน้อยแค่พอใช้ในคราวนั้นๆ แล้วก็คนให้ที่แข็งๆละลายแล้วรู้สึกเป็นน้ำหนืดใสๆไม่ขุ่นก็ใช้ได้แล้วครับ ใช้กันติดปูนปลาสเตอร์ก็ได้ กันติดการซิลิโคนก็ได้-ซึ่งกันติดต้นแบบและกันติดกาวติดกันเองก็ได้ หาง่าย ทำง่าย ใช้ง่าย ถูก และดี ไม่เป็นพิษ ทารอบเดียวสำหรับกันติดกาวซิลิโคนพอแล้วครับ อย่างที่ให้คะแนนไป ถ้าต้องการทาให้บางๆกันติดกาวซิลิโคนเพื่อต้องการเก็บรายละเอียดก็ต้องมีน้ำเยอะอีกนิดนึง จะผสมสีน้ำลงไปก็ได้จะได้รู้ว่าตรงไหนทาแล้วบ้าง การผสมน้ำหรือผสมสีเพิ่มต้องลองทาแล้วลองกันติดดูสักครั้งก่อนเพราะบางทีผสมน้ำมากเกินไปมันจะมีอะไรไม่ถูกต้อง

วิธีการต้มน้ำสบู่ thk pic from http://thriftygifty.blogspot.com/2012/03/man-wash-diy-mens-body-wash.html
วิธีการต้มน้ำสบู่ ลองอ่านดูที่ลิงค์ thank pic from >>http://thriftygifty.blogspot.com/2012/03/man-wash-diy-mens-body-wash.html

soap : water = 1:2 to 1:3

หน้าตาน้ำสบู่พร้อมใช้ เนื่องจากอัตราส่วน น้ำต่อสบู่ 1:2 มันจะข้นกว่าอันลิ้งค์ข้างบน

2. สเปรย์กันติดประเภท ฟิล์มเทฟล่อน (Dry flim PTFE Lubricant) ส่วนใหญ่ใช้ในงานกันติดแม่พิมพ์ฉีดพลาสติก จะบอกว่าใช้โคตรง่ายและโคตรดี แต่กระป๋องนึงขนาด 340g ราคา 260-320 บาท สูงสักหน่อย ยี่ห้อ LPS ของอเมริกา ที่เมืองไทยมีคนนำเข้ามา ข้างป๋องบอกว่ามันเป็นสารหล่อลื่นสำหรับงานสวมเพลา จะทำให้ลื่นสวมง่าย และก็บอกอีกว่า มันเป็นนสุดยอดสารกันติดสำหรับการถอดออกจากโมลด์ แต่ราคาแพงกว่าซิลิโคนสเปรย์กันติด 4-5 เท่าที่ใช้กับแม่พิมพ์ฉีดพลาสติก ฟิล์มที่เกิดขึ้นมีส่วนผสมของเทฟล่อนที่ลื่นมากและกันติดได้เกือบทุกชนิด ผิวจะด้านๆไม่เงา แต่เอานิ้วถูๆก็ลอกออกง่ายถ้าสเปรย์บนพลาสติกเรียบๆ ข้อเสียคือฟิล์มไม่ทนเท่าพวกแว๊ก สเปรย์ 1-2 รอบ ห่างกันสัก 1 นาทีรอมันแห้งหน่อย จะทำชิ้นงานจากกาวซิลิโคนในโมลด์ที่ทำจากกาวซิลิโคนนี่เวิกร์มาก ทดสอบแล้ว ยี่ห้อ LPS จะมีสารหรือโซเวนท์หลักที่เป็นตัวทำละลายนี่เป็นแอลกอฮอล์ ชนิด isopropanol ซึ่งใช่ในแอลกอฮอล์ล้างแผล และสารเคมีอื่นอีกเล็กน้อย ไม่มีกลิ่นน้ำมัน เอกสารMSDS จะใช้ยี่ห้ออื่นก็ได้ถ้ามีขาย เวลาซื้อก็จำชื่อภาษาอังกิดเอาไว้ครับ อย่าไปซื้อผิดเป็นจาระบีสเปรย์ที่ผสมเทฟล่อนล่ะครับมันคนละเรื่องแต่มันกันติดได้เหมือนกัน แต่ไม่เก็บรายละเอียดต้องเอาพู่กันเลย์อีกรอบด้วย

มีแบบเป็นปี๊ปๆแต่เมืองไทยคงไม่มีขาย>> http://mclube.com/lubricants/ptfe_dry_film_lubricant

ส่วน กาวลาเท็กซ์ wood glue , พีวีเอ (PVA release agent ) หาอ่านดูต้นๆบอกไปแล้ว ส่วน K-Y หาซื้อได้ที่ร้านขายยา หลอดเล็ก42กรัม 40กว่าบาท ,และ Durex play& massage ราคาสูงตอนนี้ราวๆสามร้อยกว่าบาท หาซื้อได้ตาม top หรือจะใช้ Durex play lubricant ราคาประมาณ 100 นิดๆ หลอดสีฟ้าๆ พวกนี้พอเป็นส่วนผสมสำหรับสารกันติดได้

แต่ผมแนะนำว่า

น้ำสบู่ อย่างเดียวก็พอแล้วครับ จบ

อยากได้เงา ก็หากาวลาเท็กซ์ทาเพิ่มบนฟิล์มน้ำสบู่ครับ จบ

อยากได้ด้านก็ สเปรย์ฟิล์มเทฟล่อนครับ จบ

ผมขอจบบทนี้ไว้ตรงนี้ก่อนส่วนงานหล่อที่ดีๆหรือเนี๊ยบๆหรือเป็นแบบประกบที่หล่อด้วยกาวซิลิโคน หรือการหล่อกาวซิลิโคนในแบบที่ผลิตจากกาวซิลิโคน ผมขอยกไปไว้ในโอกาสหน้าเนื่องจากยังไม่รู้จะทำชิ้นงานอะไรออกมา แต่ได้ทำแน่ แต่ยังไม่ใช่โอกาสนี้ครับ

ส่วนในเรื่องที่เกี่ยวกับการทดลองทำกาวซิลิโคนให้เหลวผมไปเขียนในบทต่อไปละกันเนื่องจากมันยาวมากเกินไป หรือลิงค์ไปที่นี่เลยครับ

how silicone ตอนที่3-12 กาวซิลิโคน การทดสอบผสมน้ำมันเพื่อทำให้เหลวเพื่อเก็บรายละเอียดได้

ซึ่งเป็นการทดลองผสมน้ำมัน ซึ่งเป็นการทดลองหาน้ำมันผสมและอัตราส่วนที่เหมาะเพื่อทำให้เหลวพอที่จะลงรายละเอียดเก็บดีเทลผิวชิ้นงานได้ เนื่องจากกาวซิลิโคนไม่เหมาะกับการเก็บรายละเอียดถ้ามันไม่เหลวพอ ซึ่งในบทดังกล่าวเป็นเนื้อหาที่ยาวเหมือนกันเพราะผมลงพวกสูตรที่ผิดพลาดเอาไว้เยอะ ซึ่งอาจไม่ได้เป็นประโยชน์กับคนอ่านเท่าไหร่

ยังไงก็ขอขอบคุณที่ทนอ่านครับ

 21,869 total views

How Silicone DIY EP3b -12 ลิงค์เทคนิกการหล่อแบบด้วยกาวซิลิโคนRTV ,ทดลองตัวทำให้กาวเหลวเก็บแบบ ,ตัวเร่งแข็งกาวซิลิโคนหนาๆ

เปลี่ยนระบบการเลือกตั้งไปถ้าไม่ได้เปลี่ยนคนหรือกันคนชั่วออกจากวงการเมืองมันก็ไม่ได้ช่วยอะไร ระบบห่วยๆแต่มีคนดีๆเก่งๆ ดีกว่ามากๆเมื่อเทียบกับระบบดีๆที่มีแต่คนชั่วๆเก่งแต่เรื่องชั่วๆอยู่ในระบบ จริงๆจิตมนุษย์ตกต่ำลง ถูกความโลภเข้าครอบ ความเหนื่อยหน่าย บางทีเรายอมให้นักการเมืองโกงกันบ้างถ้ามันทำงาน แต่ถ้าพอมาถึงคนงานบ้านเรา พนักงานบริษัทเราเรากลับไม่ยอมต้องไล่มันออกไป ถึงเวลาแล้วหรือยังครับที่ต้องออกมาแสดงว่าไม่เอาคนชั่วๆหรือผู้นำจอมปลอมที่ยอมให้ลูกน้องชั่วๆโกงแล้วบอกว่าตนไม่ได้โกง

เนื้อหานี้เพิ่มเติมจากเนื้อหาในบทก่อน คือ How Silicone EP3a -012 แนะนำกาวซิลิโคนRTV ,ทดสอบตัวกันซิลิโคนติด ,ทดลองหล่อแบบด้วยกาว เนื่องจากผมได้ดู VDO ยูทูป แล้วพบว่ามีการผสมน้ำมันเพื่อให้กาวซิลิโคนเหลวพอที่จะเก็บแบบได้ และเขาก็บอกแต่ว่าเป็น Napta แนปทา ที่เป็นทินเนอร์ชนิดแนปทา ในเมืองไทยก็เลยไม่รู้กันพอดีว่าเป็นน้ำมันอะไร ไหนๆก็ไหนๆแล้วเลยทดสอบน้ำมันเอามาผสมกันดูว่าตัวไหนเวิร์ก หรือใช้งานได้ดี

ในบทนี้ผมจะมีกาวซิลิโคนที่ทำการทดสอบอยู่ 2 ชนิด คือชนิด กรด ยี่ห้ออะไรก็ได้ราคาราวๆ 65 บาท และ ชนิด oximetype ยี่ห้อโซนี่ ราคา 150 บาท ทดสอบผสมด้วยน้ำมันต่างๆ ดูว่าเหลวดีพอเก็บแบบได้ไหม แข็งตัวดีไหม หดตัวยังไง แล้วผมยังทดสอบความเป็นกาวโดยป้ายมันลงไปกับกระดาษลัง โดยมีอัตราส่วนหลักคือ ผสมซิลิโคนกับ น้ำมันที่ทำให้เหลวราวๆ 20-30% โดยปริมาตร และทดลองผสมแบบ 50% บางตัวที่ทำใหเหลวหรือได้ดีเหมือนในยูทูป แล้วก็สรุปผลมีทั้งข้อดีข้อเสีย และที่ทำผิดพลาด ในตอนท้ายๆผมยังมีเรื่องของ ตัวเร่งแข็งกาวซิลิโคนหนาๆ ลองหาดูในหัวเรื่อง ตัวเร่งแข็งประเภทเซทตัวเร็วหรือเซทตัวแบบซึมลึก

ลิงค์เทคนิกการหล่อแบบด้วยกาวซิลิโคนRTV ชนิดกรด

ส่วนหนึ่งผมได้แรงบันดาลใจจากยูทูปใน เรื่องการทำโมลด์ราคาถูกด้วยกาวซิลิโคน

ผมลองดูวีดีโอครั้งแรกรู้สึกตื่นเต้นมากเนื่องจากส่วนใหญ่ผมทำโมลด์จากการหล่อซิลิโคนชนิดทำแบบ ทั้งแบบคอนเด็นเซชั่นเคียว และแบบแอ๊ดดิชั่นเคียว รู้ถึงข้อดีข้อเสียเป็นอย่างดี พอดูวิดีโอด้านบนจบก็มาคิดว่า ใช้กาวซิลิโคนมันก็ง่ายดีเหมือนกันแต่ประหลาดใจมากที่เขาเอาซิลิโคนมาผสมน้ำมันและยังใช้งานได้ แต่ไม่รู้ชนิดของน้ำมันที่แน่นอน รู้แต่เป็นน้ำมันทินเนอร์อุตสาหกรรมชนิดแนปทา ไหนๆก็ไหนๆแล้วจะเอาไปใช้งานก็ต้องรู้กันให้จริงจังไปเลย ไม่งั้นเอาไปใช้อะไรไม่ได้แน่ อย่ากระนั้นเลยก็เลยซื้อสารพัดน้ำมันมาทดสอบดู

ยูทูปอันบนเป็นมีการผสมสีด้วยสีอะคริลิก การผสมกลีเซอรีน เขาบอกกลีเซอรีนทำให้ทำงานง่ายแข็งตัวได้ดี เขาบอกว่าถ้าไม่มีไม่เวิร์ก เขาใส่เพียง3-5หยด (เข้าใจว่ากลีเซอรีนจะช่วยเรื่องความชื้นในซิลิโคนเร่งปฏิกิริยาให้ทั่วขณะแห้งตัว ความความชื้นบ้านเขาคงต่ำกว่าบ้านเรา)แต่ผมดูแล้วยังงงๆ ว่ามันก็ยังข้นๆเหมือนแป้งเปียกเอามาเก็บรายละเอียดผิวแบบที่ผมเคยทำ(ซิลิโคนสำหรับหล่อแบบ)ไม่ได้คือต้องไม่ให้มันมีฟองที่ผิวหน้าชิ้นงานไม่งั้นมันจะหล่องานแล้วเป็นฟองๆไม่สวยโดยเฉพาะงานหล่อโมเดลเล็กๆ

ลิงค์ที่น่าสนใจอื่นๆ

  • มีที่น่าสนใจอีกที http://www.instructables.com/id/Using-Silicone-Caulking-to-Make-Molds/ เขานิยมใช้กลีเซอรีน ผสมลงไปในกาวเหมือนกัน เขาบอกว่ามันทำให้เพิ่มความชื้นในเนื้อซิลิโคนทำให้มันเกิดปฏิกิริยาแห้งตลอดทั้งก้อน เนื่องจากเป็นการเพิ่มความชื้นลงไปในเนื้อซิลิโคน รวมถึงการใช้แป้งข้าวโพดลงไปผสมทำให้แข็งตัวเร็วขึ้น เขาว่างั้นนะ(ยังไม่เคยเรื่องแป้งข้าวโพด)
  • และอีกที่ที่มีแต่ตัวหนังสือล้วนๆแต่เขาทดลองเยอะดีครับ http://www.myheap.com/chapter-8-silicone-caulk-molds.html
  • มีที่นึงเป็น pdf ที่นี่ก็มีเทคนิคเพียบสุดยอดจริงๆ มีการเทคการผสมแป้งข้าวโพดและน้ำมันผสมสีทำให้ทำงานง่ายภาพประกอบชัด และมีอีกเทคนิคที่ต้องอึ้งคือบีบกาวซิลิโคนลงในอ่างน้ำผสมน้ำกับน้ำยาล้างจานชนิดแข็งแล้วเอามือปั้นแปะลงบนต้นแบบที่เป็นงานใหญ่ๆ http://www.vickilynnwilson.net/PSU_PDFS_WINTER_11/ SILICONE_MOLD_TUTORIAL_PP_PSU_3D.pdf
  • หรือจะไปเสิขในกูเกิ้ลก็จะใช้คำว่า mold from silicone sealant

ซึ่งเป็นข้อมูลเบื้องต้นของผมในการทดลองในบทก่อนๆ และที่ผมแนะนำลิงค์หรือวีดีโอยูทูปนั้นจะใช้กาวซิลิโคนชนิดถูก คือชนิดกรดทั้งหมด

เท่าที่ค้นมา additive หรือสิ่งที่ใส่ลงไปเพิ่มเพื่อคุณสมบัติต่างๆนอกจากแป้งข้าวโพดแล้วยังมี ทัลคัมหรือแป้งทาตัวซึ่งมันมีคุณสมบัติเก็บความชื้นและปลดปล่อยความชื้นกับสารเคมีที่ต้องการความชื้นในการแข็งตัวอย่างรวดเร็ว ซึ่งผลเคยได้ใช้ในงานพุทตี้ปิดรูฟองเล็กๆ ด้วยกาวร้อน หรือกาวตาช้างผสมด้วย แป้งทาตัวชนิดทัลคัมก็คือแป้งทั่วๆไปส่วนใหญ่ที่ไม่ใช่ดินสอพอง มันแข็งและแห้งเร็วใช้เวลาไม่เกิน 10 วินาทีหลังผสมลงไป แล้วก็ตัดแต่งหรือขัดกระดาษทรายได้เลย แต่ยังไม่เคยทดลองกับซิลิโคน เขาว่ามันทำให้แข็งเร็วขึ้นเหมือนกับแป้งข้าวโพด

วิดีโอข้างล่างเป็นวิธีการในการขึ้นรูปโมลด์ด้วยกาวซิลิโคนแบบถูก เป็นแบบกึ่งประกบกึ่งถลก ทำเสร็จเขาก็หล่อด้วยปูนปลาสเตอร์ ในขณะทำมีการพ่นสเปรย์ที่เขาไม่บอกว่าเป็นอะไรและสามารถแข็งตัวได้ในเวลาไม่กี่นาที เราจะหาได้ไหมว่าเป็นสารเคมีอะไร หรือว่าเป็นน้ำธรรมดาหว่า เขาใช้ชื่อทางการค้าของเขาว่า silicone hardener Z.L. system

ส่วนอันล่าง อันนี้ เป็นแบบประกบสองชิ้น ครับ

การทดลองผสมสารเคมีที่ทำให้กาวซิลิโคนRTVเหลว เพื่อเก็บแบบรอบแรกพร้อมข้อสรุป

เนื่องจากผมยังติดรูปแบบการทำงานกับซิลิโคนหล่อแบบธรรมดาซึ่งต้องเก็บผิวแบบรอบแรกก่อนเทลงไป เลยต้องทดลองผสมสารเคมีต่างๆเพื่อให้เก็บผิวรอบแรกให้ได้ดีอย่างที่หวัง ผลบอกข้อสรุปเลยละกันเพราะหลังๆเป็นการบันทึกผลการทดลอง ผู้อ่านอาจไม่ได้ประโยชน์มากนักแต่ผมชอบบันทึกเอาไว้เพื่อเตือนความจำ

สรุปผลจากการทดลอง

น้ำมันผสมที่เหมาะกับกาวซิลิโคนชนิดกรดในการทำให้มันเหลวลงเพื่อเก็บรายละเอียดได้

กาวซิลิโคนชนิดกรด หรือชนิดถูกๆ -Acetoxy Silicone RTV โดยผสมตัวทำละลายที่ทำให้เหลวลงประมาณ 20-30% โดยปริมาตร และต้องมีคุณสมบัติลดความข้นลงพอเก็บรายละเอียดผิวได้ ในที่นี้ให้เหลวพอเอาด้ามพู่กันเล็กๆป้ายได้ แต่ไม่ถึงกับเหลวแบบเทได้

ผสมซิลิโคนด้วยน้ำมัน 20-30% โดยปริมาตร

ความแข็งยาง น้ำมันเบนซิน95=น้ำมันก๊าด=น้ำมันสน=น้ำมันซักแห้ง= ลดลง10-15%

เป็นความแข็งขณะแห้งสนิทดี น้ำมันเหล่านี้เมื่อผสมความแข็งลดลงไปเล็กน้อยราวๆ 10-15 เปอร์เซน โดยการผสมน้ำมันเหล่านี้ดังกล่าวทำให้ความเป็นกาวลดลงจนสามารถลอกออกจากกระดาษลังได้ แต่ถ้าต้องการให้ยางแข็งผมว่าผสมทัลคัม(แป้งทาตัว)ลงไปก็น่าจะดี

ความเหลวตัว น้ำมันซักแห้ง=9.5 ,น้ำมันก๊าด=น้ำมันสน=8.5 , น้ำมันเบนซิน95 7/10

การผสมเข้ากันง่ายเป็นเนื้อเดียวดี พอๆกัน แต่ผมไม่ค่อยอยากจะแนะนำเบนซิน95 เพราะดูเหมือนมันบวมตัวมากกว่าทำให้เหลว ผสมลงไปมันดูไม่เหลวเท่าไหร่แถมคนแล้วก็มีฟองเก็บไว้ในยางเยอะกว่าตัวยอื่นๆ คิดว่าน้ำมันเบนซินมันมีความเข้ากันได้น้อยกว่า

ความเหม็นฉุน น้ำมันเบนซิน95 6 ,น้ำมันก๊าด=น้ำมันสน 6.5 , น้ำมันซักแห้ง9/10

โดยส่วนตัวผมว่ากลิ่นน้ำมันซักแห้งมันฉุนกว่า และเท่าที่สังเกตุน้ำมันพวกนี้จะค่อยๆลดความฉุนลงนานหลายวัน สุดท้ายก็ยังมีกลิ่นตกค้าง พวกที่ได้6-6.5 กลิ่นมันจะน้อยกว่า ผมชอบพวกน้ำมันสนกับน้ำมันก๊าดมากกว่า การระเหยตัวเร็วน้ำมันเบนซิน95ไวสุด ที่เหลือรองๆลงมาตามความฉุน

ความเร็วในการเซทตัว พอๆกัน เจลไทม์(ระยะเวลาก่อนที่มันจะกลายเป็นวุ้นหรือเซทตัวไม่ยอมให้เราทำอะไรกับมัน) ไม่เกิน5-6 นาที ผิวหน้าแตะได้ประมาณ1ชั่วโมง ถ้าจะได้ความแข็ง80 เปอร์เซนต้องรอ 6-8 ชั่วโมงที่ความหนาไม่เกิน 3-5 มิล

สรุป น้ำมันก๊าด, น้ำมันสน ,ซักแห้ง ก็ดีใช้ได้

ยังมีปัญหาคาใจอยู่นิดนึงคือ การที่ความเป็นกาวลดลงมากจะมีผลในการลงรอบต่อไปควรลงกาวซิลิโคนให้มีความหนารอบแรก1-2มิล และควรลงรอบต่อไปทันทีไม่ควรเกินครึ่งชั่วโมงเนื่องจากเดี๋ยวมันจะไม่กินกันจะลอกออกเป็นชั้นๆ

น้ำมันที่เรียกว่า แนปทา ส่วนใหญ่จะมีน้ำมันหลายชนิด(สารประกอบไฮโดรคาร์บอนหลายชนิด)ผสมกัน ส่วนใหญ่เป็นพวกที่เอาไปผลิตเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีโมเลกุลที่มีน้ำหนักเบาและระเหยง่ายกว่า เช่นเบนซิน95 น้ำมันโซ่ล่า รองชั้นลงมาเป็นพวกน้ำมันก๊าดมีโมเลกุลรวมหนักขึ้น น้ำมันสนก็หนักขึ้น น้ำมันซักแห้งก็หนักขึ้นอีก พวกที่ระเหยยิ่งช้ายิ่งอยู่นานยิ่งหนัก แต่ในน้ำมันเบาพวกเบนซิน95 มันก็มีส่วนผสมของน้ำมันหนักอยู่เหมือนกันแต่น้อยกว่ามากๆ ฉะนั้นความเป็นน้ำมันหนักจะตกค้างอยู่ในเนื้อนานเท่าที่มันระเหยได้ หรือไม่ทำปฏิกริยากับซิลิโคน


ผสมซิลิโคนด้วยน้ำมัน 45-50% โดยปริมาตร

ความหนาที่สุดที่ทดลอง 8 มิล สามารถแข็งเป็นเจลแข็งแกะออกจะพิมพ์ได้ใน1วัน แต่จะแห้งสนิทของน้ำมันระเหยต้องมากกว่า 1 อาทิตย์

การละลายเข้ากันดีเป็นเนื้อเดียวกัน น้ำมันก๊าด 9.5, น้ำมันสน 8.5, น้ำมันซักแห้ง 8, เบนซิน95= 3/10

เบนซิน95 ผสมแล้วรู้สึกข้นและมีฟองภายในเยอะ ไม่ค่อยเหมาะกับการใช้

ความเหนียวและการยืดตัวของยางแผ่นบางๆ น้ำมันก๊าด=น้ำมันสน=น้ำมันซักแห้ง=เพิ่มขึ้น 30-40%

ทิ้งไว้ให้น้ำมันระเหยแห้งอย่างน้อย1-2อาทิตย์ แล้วทดสอบการดึงโดยให้ดึงแล้วเอานิ้วดันให้บางๆเหมือนถุงยาง เพิ่มขึ้น 30-40% หมายถึงมีความเหนียวและการยืดตัวดีกว่ายางซิลิโคนเพียวๆ ซึ่งผลการทดลองชี้ให้เห็นว่าผสมน้ำมันมากก็เพิ่มความยืดตัวได้ดีลดการขาดง่าย โดยถ้าเอาไปอบแห้งอาจจะช่วยทำให้ขาดยากขึ้น ได้ลองเอาซิลิโคนที่ผสมกับน้ำมันก๊าดไปอบร้อน150 องศา รู้สึกว่าเหนียวขึ้นอีก

การหดตัว ส่วนใหญ่ราว 20เปอร์เซนต์ จากการสังเกตด้วยตา โดยทิ้งไว้1-2อาทิตย์ แล้ววัดขนาดคร่าวๆว่าลดลงจากเดิมเท่าไหร่

ความแข็ง ส่วนใหญ่ลดลงราวๆ 20เปอร์เซนต์จากความแข็งที่ไม่ผสมอะไร ทดสอบด้วยการกดดู โดยทิ้งไว้1-2อาทิตย์

สรุปผลจากการทดลอง

น้ำมันผสมที่เหมาะกับกาวซิลิโคน Sony(Oxime)ในการทำให้มันเหลวลงเพื่อเก็บรายละเอียดได้

กาวซิลิโคนชนิด Oxime Silicone RTV ยี่ห้อโซนี่ซึ่งความแข็งมากกว่าชนิดกรดอยู่20-30% การทดลองจะผสมตัวทำละลายที่ทำให้เหลวลงประมาณ 20-30% โดยปริมาตร และต้องมีคุณสมบัติลดความข้นลงพอเก็บรายละเอียดผิวได้ ในที่นี้ให้เหลวพอเอาด้ามพู่กันเล็กๆป้ายได้ แต่ไม่ถึงกับเหลวแบบเทได้

ผสมซิลิโคนด้วยน้ำมัน 20-30% โดยปริมาตร

ความแข็งยาง เบนซินลดลง10%,น้ำมันก๊าด=น้ำมันสน=น้ำมันซักแห้ง =ลดลง5-6%

ความแข็งขณะแห้งสนิทดี น้ำมันก๊าดสนแห้ง จะลดลงไปค่อนข้างน้อย ราวๆ5เปอร์เซนต์ แต่สำหรับน้ำมันเบนซิน95ความแข็งจะลดลงไปเยอะกว่าสัก 10 เปอร์เซน รู้สึกได้ว่ามันนิ่มกว่า แต่ไม่ค่อยแนะนำเบนซิน95 ดูเหมือนจะผสมแล้วมีฟองข้างในเยอะกว่าน้ำมันอื่นๆ

ความเหนียวและความยืดตัวดี สู้ชนิดกาวกรดไม่ได้ น้อยกว่าชนิดกรด20 เปอร์เซนต์

ความเหลวตัวและการผสมเข้ากันดี

น้ำมันซักแห้ง >น้ำมันสน>น้ำมันก๊าด>น้ำมันเบนซิน95 อยู่ในเกณท์ใกล้ๆกัน

การละลายตัวการรวมตัวกันดีมากดีกว่าชนิดกรดมาก ดูดกลืนน้ำมันดีมาก

ความเหม็นฉุน น้ำมันเบนซิน95 6 ,น้ำมันก๊าด=น้ำมันสน 6.5 , น้ำมันซักแห้ง9/10

ความเร็วในการเซทตัว พอๆกัน เจลไทม์(ระยะเวลาก่อนที่มันจะกลายเป็นวุ้นหรือเซทตัวไม่ยอมให้เราทำอะไรกับมัน) ไม่เกิน5-6 นาที ผิวหน้าแตะได้ประมาณ2.5ชั่วโมง ถ้าจะได้ความแข็ง80 เปอร์เซนต้องรอ 6-7 ชั่วโมงที่ความหนาไม่เกิน 3-5 มิล

สรุป น้ำมันก๊าด, น้ำมันสน ,ซักแห้ง ก็ดีใช้ได้

ความเป็นกาว หลังแข็งสนิท ไม่สามารถลอกออกจากกระดาษลังได้มีความเป็นกาวสูงยึดติดกับผิวกระดาษได้ดี


ผสมซิลิโคนด้วน้ำมัน 45-50% โดยปริมาตร

การละลายเข้ากันดีเป็นเนื้อเดียวกัน

น้ำมันก๊าด = น้ำมันสน= น้ำมันแห้ง พอกัน พอเทได้แต่ยังข้น แต่ไม่เหลวเท่าชนิดกรด

เบนซิน95 ผสมแล้วรู้สึกข้นและมีฟองภายในเยอะ ไม่เหมาะกับการใช้

ความเหนียวและการยืดตัวของยางแผ่นบางๆ

น้ำมันก๊าด=น้ำมันสน=น้ำมันซักแห้ง= ลดลงเล็กน้อย 5%

ส่วนใหญ่แล้วต่อให้ไม่ผสมอะไรมันก็ไม่ค่อยเหนียว แผ่นบางๆไม่สามารถยืดออกได้เหมือนกับชนิดกรดหรือเหมือนกับถุงยาง มันจะขาดไปก่อนคือไม่ทนต่อการฉีกขาด เมื่อผสมลงไปแล้วก็ไม่ได้เห็นความแตกต่างเท่าไหร่คือไม่ได้ยืดตัวมากขึ้นแต่กลับลดลงและขาดก่อนแทน

การหดตัว ส่วนใหญ่ราว 20เปอร์เซนต์ จากการสังเกตด้วยตา โดยทิ้งไว้1-2อาทิตย์

ความแข็ง ลดลงเล็กน้อย= 10% น้อยคือไม่รู้สึกนิ่มมากเท่าพวกกรด

ข้อควรระวัง ถ้าความหนามากกว่า 4มิล เมื่อผ่านไป10-15ชั่วโมงภายในจะไม่แข็งผิวนอกดูแข็งแต่กดดูจะนิ่ม เมื่อฉีกดูจะพบว่าข้างในจะเหลวไม่เซ็ทตัว ชั้นของเลเยอร์ที่แข็งอย่างสมบูรณ์มีความหนาไม่เกิน 4 มิล คิดว่าน่าจะเกิดจากน้ำมันที่แห้งที่ผิวนอกจะเร่งการเกิดฟิล์มน้ำมันทำให้ไม่เกิดปฏิกิริยาที่สมบูรณ์เนื่องจากลองดมกลิ่นปฏิกิริยาที่มีสารระเหยกลิ่นเฉพาะของชนิด oximeมันน้อยลงเหมือนกับกลิ่นน้ำมันที่น้อยลงเมื่อเวลาผ่านไป10 ชั่วโมง การผสม45-50%กับซิลิโคนoxime type จึงไม่เหมาะกับการเทหนาที่มีเลเยอร์หนาเกินกว่า 3 มิลลิเมตร ผิดกับชนิดกรดซึ่งเทหนาได้ 6-8มิลลิเมตรก็ยังทำปฏิกิริยาได้อย่างสมบูรณ์ อาจต้องมีการผสมทัลคัมเข้าไปหรือผสมกลีเซอรีนบริสุทธิ์ดูน่าจะช่วยได้(ยังไม่ได้ทดลอง)

..สรุปผลจากการทดลอง
น้ำมันซิลิโคน silicone oil ชนิด Dimethecone (Dimethyl Silicone) หรือน้ำมันซิลิโคนความหนืดต่ำ เทียบเท่า SF1000N-100 (DC200/100) ความหนืด 100 cST ใช้ในเครื่องสำอางค์ ผสมไม่เกิน 20% ใช้ได้ครับ ทำให้ข้นน้อยลงหรือทำงานง่ายขึ้นใช้กับกาวชนิดกรดหรือกาวชนิดoximeได้ทั้งนั้น แข็งตัวตามปรกติเหมือนซิลิโคนทั่วไปแต่อาจแห้งช้ากว่านิดหน่อย ถ้าผสมเกินหรือมากเกินไปจะแห้งช้า อ่านรายละเอียดด้านล่างครับมีรายละเอียดปลีกย่อยเยอะครับ

Silicone glue(acetoxy, oxime)+ silicone oil -Dimethecone 100 cST =<20% OK น้ำมันซิลิโคนชนิดไดเมทธิโคน ความหนืด 100 cST ไม่เกิน 20% ใช้ได้ครับ

Dimethecone (Dimethyl Silicone) หรือน้ำมันซิลิโคนความหนืดต่ำ มันมีรหัสดาต้าเทียบเท่าด้วย SF1000N-100 (DC200/100) ความหนืดน่าจะประมาณ 100 cST สำหรับผสมในเครื่องสำอางค์ ราคาลิตรละ สาามร้ออยบาท(ซื้อที่สำเพ็ง ร้านบุญชัยพานิช ลิงค์ที่อยู่เบอร์โทร)

name_card_boonchai

โดยประมาณ แฮ่ๆตอนแรกไม่อยากจะซื้อเลยเพราะกะว่าเอามาทดลองถ้าใช้ไม่ได้จะเอาไปทำไรนี่ เนื่องจากคิดว่าคราวที่แล้วใช้น้ำมันซิลิโคนสำหรับการทำเหลวชนิดผสมกับซิลิโคนทำโมลด์ชนิดคอนเด็นเซชั่นเคียวซึ่งเป็นซิลิโคนที่มีความหนืดสูงแล้วถ้าผสมน้อยๆ20%กว่าจะแข็งก็ล่อกันเป็นวันๆหลายวัน ก็เลยมาลองหาซิลิโคนที่เหมาะสมชนิดอื่นๆซึ่งมีอยู่เยอะแยะมากมาย เลยสุ่มชี้มาตัวนึง(เล่นง่ายๆ) (คราวหน้าจะลองใช้น้ำมันซิลิโคนที่ผสมน้ำได้ชื่อ PEG-12 Dimethicone Fluid) ถ้าสนใจเรื่องซิลิโคนสำหรับเครื่องสำอางค์ เป็น pdf เมืองนอกกดลิงค์ดูเลย อีกที่ครับpdf มาดูผลการทดลองกัน

  • ชนิดoxime และกรด ผสมประมาณ 20% อาจจะผสมเข้ากันยากหน่อยเพราะความหนืดต่างกันมากและมันก็ไม่ได้ละลายออกมาเหมือนกับการผสมในน้ำมันซักแห้ง คนๆเข้ามันก็ค่อยๆดูดน้ำมันซิลิโคนเข้าไปต้องใช้เทคนิกนวดๆหน่อย สรุปว่า ผสมเข้ากันได้ดี แห้งผิวเร็วตามปรกติราวๆ 10-15นาทีผิวเริ่มไม่ติดนิ้วแล้ว ไม่ไหลตัวเหลวซักเท่าไหร่แต่น่าจะพอเก็บผิวแบบได้ การคนต้องระวังถ้าไม่เคยเล่นซิลิโคนทำแบบมากก่อนการผสมจะโกยฟองอากาศเข้าไปเยอะ ต้องใช้การคนในลักษณะการนวดคือการกดหรือเกลี่ยเนื้อซิลิโคนเฉพาะตำแหน่งขึ้นลงๆหรือซ้ายๆขวาๆให้น้ำมันค่อยๆซึมเข้าไป ไม่ใช่การกวนวนเข้าไปทางซ้ายหรือขวาอย่างรวดเร็วทั้งก้อน ผมทดลองที่ความหนาประมาณ 1เซนติเมตร เท่าที่ดูๆมันก็ระเหยแข็งเหมือนกับซิลิโคนทั่วไปตามปรกติ ใช้เวลาประมาณ1วัน แกะมาตรงช่วงกลางหรือใจกลางมันยังไม่แข็ง ถ้าชิ้นงานมีความหนาหรือต้องการความหนาผมว่าต้องค่อยๆทำทีละชั้น ชั้นละ3-4มิลลิเมตร ทุก 2-3 ชั่วโมงก็น่าจะดีกว่าแล้วทิ้งพิมพ์ไว้อย่างน้อย 1 วัน เมื่อแกะพิมพ์พบว่ามันเก็บรายละเอียดได้ดีไม่มีฟองที่ผิวเอาคัตเตอร์หั่นดูมีฟองเล็กน้อย กาวทั้งสองชนิดเมื่อผสมแล้วความแข็งลดลงราวๆ 20% ความยืดหยุ่นดีครับเฟอร์เฟค แต่รู้สึกว่าชนิดoxime จะนิ่มลงมากพอสมควรแต่ผิวดีครับไม่ติดนิ้ว ถือว่าดีมากเลยครับ

    piece_silicone_glue_oxime_acetoxy_with_dimethecone_100cST_20Percent_OK
    ภาพข้างบนเป็นการผสมกาวซิลิโคนกับ20% v/v ซิลิโคนออยชนิด dimethecone ที่ใช้กับเครื่องสำอางค์ ความหนืด 100 cST ดีครับใช้ได้ แต่ไม่ควรผสมเกิน20% ผิวจะไม่แห้งแนะเหนียวๆอาจต้องทิ้งไว้นานหลายวัน (<20% 12hr to 1day dry vary thick layer ,>20% not recommended may be slow dry and surface may sticky a few day)
  • ชนิดoxime ผสมราวๆ 50% ก็คล้ายๆกันครับผสมยากสักหน่อย แต่พอเข้ากันได้ก็เก็บแบบได้ ลื่นดีแต่ไม่เหลวขนาดเทได้ ทิ้งไว้1วัน แกะออกมาพบว่ามันยังมีความเหนียวที่ผิวอยู่บ้าง ความแข็งลดลงไป50% สรุปคือไม่เหมาะครับ แค่พอใช้ได้ ผมคิดว่าผสมไม่เกิน 20 % จะดีกว่า

กาวชนิดกรดที่ผสมออยชนิดนี้ น่าจะเร่งแข็งได้ด้วยกลีเซอรีนบริสุทธิ์ 1-3% น่าจะแกะโมลด์ได้ใน 4-8 ชั่วโมง ถ้าไม่หนามาก3-4มิล ไปลองเอาเองนะครับเนื่องจากเคยลองกับน้ำมันแนปทาแล้วเวิร์ก

ผลการทดลองอื่นๆแบบไม่สรุปย่อ

เนื่องจากได้ทดลองผสมอะไรก็ตามที่อยู่ขวางหน้า มันคงไม่ได้ประโยชน์มากนักหรอกครับ แต่ดูในส่วนของกลีเซอรีนในยาสวนทวาร(ไว้จะทดลองด้วยกลีเซอรีนบริสุทธิ์ดูอีกทีน่าจะได้ผลเหมือนกันครับเนื่องจากในเว็บมีคนทดลองแล้ว)ซึ่งช่วยเร่งทำให้กาวซิลิโคนแข็งเร็วขึ้นอย่างมาก และแข็งแบบซึมลึกซึ่งจะเอาไปใช้ประโยชน์ได้อย่างแน่นอน ลองอ่านข้ามไปดูที่กลีเซอรีนดูนะครับ

ไม่ได้ผสมอะไร

silicone_caulk_test_mix_with_oil

piece_acetoxy_oxime_silicone_glue

  • ชนิด กรด เป็นกาวยี่ห้อ… ราคา65-70 สีใส…. มีความหนืดสูง มีความเร็วในการแห้งผิวอย่างรวดเร็วประมาณ5 นาที (เอานิ้วแตะไม่ติดนิ้ว) ความแข็งยางน้อยกว่าชนิดoxime (น่าจะแล้วแต่ยี่ห้อนะ) ความหนาขนาด 4-5มิลลิเมตรใช้เวลาแข็ง( 80เปอร์เซนต์ของความแข็ง) 5-8 ชั่วโมง แต่ยังแกะพิมพ์ไม่ได้ ต้องทิ้งไว้อย่างน้อยข้ามคืน ปฏิกริยาจะสิ้นสุดพอแกะได้ก็คือเริ่มหมดกลิ่นกรด แต่ถ้าหนาเมื่อแกะแบบออกมายังมีกลิ่นกรดอยู่ ยี่ห้อที่ใช้ทดสอบ ยี่ห้อ bravo 101 ซึ่งมีความนิ่มกว่าและยืดหยุ่นกว่า ยี่ห้อ 3di ยี่ห้อ3di นี้ความแข็งใกล้เคียงกับsony อ่อนกว่านิดหน่อย ที่ใช้หลักในการทดลองส่วนใหญ่เป็นยี่ห้อ bravo
  • oxime เป็นกาวยี่ห้อโซนี่ชนิดสีขาว ราคา150- … มีความหนืดสูงสูงกว่าชนิดกรด ความแข็งยางดีกว่าชนิดกรดอยู่20-30เปอร์เซนต์คือแข็งกว่า(แล้วแต่ยี่ห้อชนิดกรด) ความเร็วในการแห้งผิวประมาณ 5-10 นาที(เอานิ้วแตะไม่ติด) การแข็งตัวจะช้ากว่าชนิดกรดเล็กน้อย ความหนาขนาด 4-5 mm ใช้เวลา 7-10 ชั่วโมง (80เปอร์เซนต์) แต่ยังแกะพิมพ์ไม่ได้ ต้องทิ้งไว้อย่างน้อยข้ามคืน ปฏิกริยาจะสิ้นสุดพอแกะได้ก็คือเริ่มหมดกลิ่นเคมีที่มันปล่อยออกมา

น้ำมันซักแห้ง น้ำมันสน น้ำมันก๊าด อย่างใดอย่างหนึ่ง โดยผสมในอัตราส่วน 20-30% พบว่า Good

piece_acetoxy_oxime_silicone_glue_mix_Turpentine2_20percent piece_acetoxy_oxime_silicone_glue_mix_Turpentine1_wash20percent piece_acetoxy_oxime_silicone_glue_mix_kerosenel20percent

  • ชนิด กรด การละลายค่อนข้างดี แต่ถ้าเอาไม้คนมันอาจเข้ากันลำบากหน่อยเนื่องจากซิลิโคนจะแยกจากกันเป็นหย่อมๆถ้าใช้ไม้คนเนื่องความข้นเหลวต่างกันมาก ควรใช้สว่านคน หรือไม่ก็ใช้วิธีเขย่าในถ้วยปิดเหมือนในคลิ๊ปยูทูป แข็งตัวเร็วและแข็งดีแต่ความแข็งลดลงไปจากเดิม20-30เปอร์เซนต์ค่อนข้างมาก (ความเร็วในการแข็งตัวน่าจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย) เอานิ้วแตะไม่ติดประมาณ 1ชั่วโมง ขนาดความหนา3-5 มิลลิเมตร ใช้เวลาแข็งเมื่อรู้สึกว่าเอานิ้วกดแล้วเช็ทตัวดีใน3ชั่วโมงซึ่งยังมีกลิ่นกรดและน้ำมันซักแห้งยังมีกลิ่นค้างอยู่ การติดกับกระดาษการติดน้อยลองลอกแกะออกได้ง่ายจากกระดาษ ผ่านระยะ 8 ชั่วโมงมีกลิ่นน้ำมันซักแห้งค้างอยู่แต่กลิ่นกรดน้อยมาก
  • oxime การละลายดีมากแทบเป็นเนื้อเดียวกัน เอาไม้คนก็ไม่มีปัญหา แต่แห้งหรือแข็งตัวช้ากว่าชนิดกรด ใช้เวลาเซทตัวเมื่อกดแข็ง ผิวหน้ากว่าจะแตะไม่ติดใช้เวลามากกว่า2.5 ชั่วโมง หนา3-5 mmรู้สึกว่ากดแล้วแข็งดีใน 6-7ชั่วโมงแต่ยังมีกลิ่นน้ำมันตกค้างอยู่กลิ่นสารระเหยของoximeน้อย ความแข็งลดลงไปเล็กน้อยประมาณ10-15เปอร์เซนต์ ความเป็นกาวที่ติดกระดาษได้ยังอยู่ในเกณท์ดี ลอกไม่ออกเอาเล็บขูดก็ไม่ออก เมื่อผ่านระยะ8-10 ชั่วโมงดูเหมือนกลิ่นสารระเหยขณะทำปฏิกริยาน้อยมาก

ในแง่กลิ่นตกค้าง ขณะผ่าน 10 ชั่วโมง น้ำมันก๊าด(ให้9) > น้ำมันสน(7) > น้ำมันซักแห้ง(3 เหม็นค้าง)

ในแง่การผสมเข้ากันดีสำหรับชนิดกรด น้ำมันก๊าด(ให้9) > น้ำมันซักแห้ง(8) > น้ำมันสน(6)

น้ำมันเบนซิน95 ผสม 20% ก็พอใช้ได้ครับแต่ไม่ค่อยแนะนำเท่าไหร่ การผสมราว20%มันมีปัญหาเวลาผสมลงไปมันดูไม่เหลวเท่าไหร่แถมคนแล้วก็มีฟองเก็บไว้ในยางเยอะกว่าตัวอื่นๆ คิดว่าน้ำมันเบนซินมันมีความเข้ากันได้น้อยกว่า เพราะถ้าเริ่มผสมมากเกิน 40-50% จะเกินการเก็บฟองเข้าไปในยางมากมายเป็นเพราะว่ายางบวมจากน้ำมันเบนซินมากกว่ามันละลายในน้ำมันเบนซิน95 ดูตามรูป

piece_silicone_glue_with_Gasoline95_20percent_fair_but_50P_not_ok
รูปบน ถ้าผสมประมาณ 20 เปอร์เซนต์ก็พอทำให้เหลวได้ แต่มันมีลักษณะบวมมากกว่าละลายตอนผสมจะรู้สึกว่าใส่เท่าไหร่มันก็ข้นๆ แต่พอผสม 50 เปอร์เซนต์จะรู้สึกว่ามันบวมน้ำมันมากๆจนเวลาคนมันดูดฟองเข้าไปในเนื้อมากกว่า ไม่ควรใช้

น้ำมันสน น้ำมันก๊าด อย่างใดอย่างหนึ่ง โดยผสมในอัตราส่วน 45-55% พบว่า

piece_silicone_with_turpentine50p_or_kerosene50P_or_heat_to_increase_elongation

  • ชนิด กรด การผสมไม่ค่อยลื่นเข้าเนื้อกันง่ายคล้ายๆกับตัวบน ควรต้องเขย่าหรือ เอาใบพัดเล็กติดสว่านคนๆ เมื่อผสมแล้วเหลวดีพอทาได้ แต่จะเซ็ทแบบเทแล้วไม่ไหลใน10นาที ผ่านไป 6-7ชั่วโมง นิ้วแตะก็ยังเหนียวผิว ยังมีกลิ่นเปรี้ยวอยู่แต่กลิ่นน้ำมันยังแรงกว่าและแรงพอๆกันทั้งสองน้ำมัน ความแข็งลดลงไปประมาณ30-40เปอร์เซนต์ เมื่อแกะออกมาดูตอน7ชั่วโมงที่ความหนามากกว่า7-10เซนถายในจะแข็งตัวช้าแต่ก็แข็งกลิ่นเปรี้ยวภายในยังมีมากเมื่อกลับเอาในออกนอก แต่ผิวในแข็งไม่ติดนิ้วอาจเป็นเพราะมีการผสมรอบแรกที่เซทตัวดีผสมแค่ 20เปอร์เซนต์ แต่ที่ผิวนอกมันมีน้ำมันผสมอยู่เยอะกว่า
  • oxime มีการละลายดีมากเป็นเนื้อเดียวกัน แต่จะเซ็ทตัวไม่ไหลใน 5 นาที ผิวแห้งแตะได้ใน3-4ชั่วโมง ผ่าน7ชั่วโมงเหมือนเริ่มแข็งได้ที่ ความแข็งลดลงไป20-25 เปอร์เซนต์ กลิ่นน้ำมันเริ่มหาย แต่กลิ่นที่oxime ยังทำปฏิกริยายังมีกลิ่นอยู่ ที่ผสมน้ำมันก๊าด ยังมีกลิ่นoximeอยู่ (เนื่องจากผสมถึง 55 เปอร์เซนต์) แต่กลิ่นน้ำมันน้อยกว่า ชิ้นงานหนาเกิน3.5มิล ภายในจะไม่แข็งตัวจะแข็งตัวแค่ 3.5 mm คล้ายกับว่าก๊าซภายในไม่สามารถระเหยออกมาได้จากถ้วยคน หรืออาจเป็นเพราะคนไม่เข้ากันดี

เบบี้ออย สามารถผสมเบบี้ออยลงใน ซิลิโคนกาวได้ทั้งชนิดกรดและ oxime แต่มันไม่ได้ช่วยทำให้เหลวหรือเก็บแบบได้ง่ายขึ้น บันทึกเอาไว้เฉยๆว่าผสมลงได้

  • ชนิดกรด ผสม 10-15% ก็พอผสมได้แต่เข้าใจว่ามันไม่ได้ช่วยละลายหรือทำให้เหลวลง แต่ซิลิโคนกรดจะไม่ดูดซึมน้ำมันเบบี้ออยเท่าไหร่ น่าจะไปปนๆอยู่ระหว่างช่องว่างผิวสารซิลิโคน เมื่อเอาไปทดสอบป้ายติดกับกระดาษลังพบว่ามีน้ำมันซึมผ่านกระดาษลังเป็นวงกว้างมาก แสดงว่ามันไม่ค่อยดูดซึมเบบี้ออย สามารถแกะออกจากกระดาษลังได้เมื่อเซทตัวสนิทดีใช้เวลา 1 วันทีความหนา6-7มิล ข้อสังเกตคือมันผสมไม่ค่อยเข้าเนื้อ ก็บันทึกเอาไว้เป็นหลักฐาน ความแข็งยางก็ใกล้เคียงเดิม ส่วนระยะเวลาแห้งผิวไม่ได้บันทึกเอาไว้ ถ้าผสมมากกว่านี้ถึง 30% น้ำมันจะไม่ซึมเข้าเนื้อได้แต่กวนไปกวนมามันแข็งตัวได้ครับแต่น้ำมันที่ตกค้างก็มาออกันที่ผิวนอกของซิลิโคน
  • oxime ผสม 10-15% ผสมเข้ากันได้ดีพอใช้ แต่ไม่ได้ช่วยทำให้เหลวเอาไปเก็บแบบอย่างที่คิดไม่ได้ แต่ซิลิโคนจะดูดกลืนน้ำมันแทบทั้งหมดเอาไปป้ายกับกระดาษลังก็ไม่มีน้ำมันซึมผ่านแต่อย่างใด ความแข็งยางได้ใกล้เคียงเดิมลดลงไปเล็กน้อย8-10% ถ้าผสมมากถึง 30% มันจะตกค้างอยู่ตามผิวไม่ดูดซึมอีก แต่ไม่ได้มีผลต่อการแข็งตัว ความเร็วในการเซทตัวผิวไม่ได้บันทึกเอาไว้ แต่ความแข็งยางจะลดลงไป18-25% ที่ความหนาราวๆ 6มิลใช้เวลาประมาณ 1 วันแข็ง

piece_silicone_glue_with_Babyoil_10percent_to_30P

น้ำมันซิลิโคนหรือซิลิโคนออย (Silicone Oil) สำหรับทำให้เหลวใช้ผสมในพวกซิลิโคนRTVชนิดคอนเด็นเซชั่นเคียว ซื้อได้ที่ร้านขายเรซิ่นซิลิโคนทั่วไป ผสมในอัตรส่วน 20% และ 50%พบว่า Fail เนื่องจากซิลิโคนออยเป็นน้ำมันที่ไม่ระเหย และผลของปฏิกิริยาชนิดกาวไม่กลืนหรือไม่ทำปฎิกิริยาอย่างสมบูรณ์กับออยหรือทำปฏิกิริยาเพียงบางส่วนกับออย ที่เหลือออยแทรกซึมลงไปอยู่ในอนู

fail_to_mix_silicone_caulk_oxime_with_silicone_oil_20_to_50p_sticky_not_dry

fail_to_mix_silicone_caulk_acetoxy_with_silicone_oil_20_to_50p_sticky_not_dry

  • ชนิด กรด อัตราส่วน20%จะมีการผสมเข้าเนื้อกันดีแต่ไม่ดีเท่าน้ำมัน ผ่านไป10ชั่วโมงผิวหน้ายังไม่หายเหนอะแต่เนื้อในแข็งได้พอควรไม่มีกลิ่นเปรี้ยว ความแข็งลดลงไปจากเดิม20-30เปอร์เซนต์ คุณสมบัติกาวติดกระดาษน้อยลง เอาเล็บขูดออกได้สบาย ถ้าผสม50%การผสมจะไม่ค่อยเข้าเนื้อ มีลักษณะไม่แห้งเนอะตลอดเวลาและนิ่มเหนียวเหมือนไม่เซทตัว
  • oxime ลักษณะจะคล้ายกับชนิดกรด แต่ผสมเข้าเนื้อกันดีมากๆ ชนิดผสม20%จะมีการระเหยของสารระเหยจาก oxime ตลอดเวลา10 ชั่วโมงเหมือนปฏิกิริยาค่อยๆเกิดแม้หนาเพียง3-4มิลผิวเหนาะแข้งตัวช้ามากอย่างต่ำ24ชั่วโมงผิวเริ่มหายเหนอะ ความแข็งลดลงไป30เปอร์เซนต์ พอใช้ได้แต่ไม่ค่อยดี แข็งสนิทต้องทิ้งไว้2-3วัน หรือไม่ก็ผสมให้น้อยๆเหลือแค่10%อาจจดี แต่ชนิด50% มีกลิ่นปฏิกิริยานาน2วัน และผิวเหนาะตลอดเวลาแม้ทิ้งไว้เป็นอาทิตย์ ไม่เซทตัว100เปอร์เซนต์ ความแข็งต่ำมาก

..ตัวเร่งแข็งประเภทเซทตัวเร็วหรือเซทตัวแบบซึมลึก

เนื้องจากผมไม่รู้คุณสมบัติของกลีเซอรีนเมื่อได้ทดลองแล้วก็เลยตั้งหัวข้อขึ้นในภายหลัง พบว่ามันเร่งแข็งได้ดีมากและเป็นแบบซึมลึกคือเนื้อหนาๆมันก็เร่งแข็งได้ในอัตราเร็วที่เข้ากัน

กลีเซอรีนบริสุทธิ์ ในยาสวนท้องผูก เนื่องจากพอดีไม่มีกลีเซอรีนเพียวๆ ก็เลยใช้ยาสวนท้องผูกชนิดเทียนซึ่งมีส่วนผสมของโซเดียมสเตียเรทหรือสบู่เล็กน้อย(9%W/W) เปิดฝามาเอาแต่ที่ละลายเป็นน้ำ(น่าจะพอแก้ขัดได้)ผสมลงไปผสมในอัตรส่วน 3% และ 10% v/v พบว่า…

กลีเซอรีนบริสุทธิ์หาซื้อตามร้านเคมีภัณท์เครื่องสำอางค์ (เช่นย่านสำเพ็ง, หรือจะสั่งซื้อผ่านทางเว็ปก็มีขาย) ซึ่งมันมีคุณสมบัติละลายในน้ำได้ดี ไม่ระเหยในอากาศได้ง่าย(จุดเดือดสูง290 c) ถ้าถูที่มือจะมีลักษณะคล้ายน้ำมันที่ซึมซาบเร็วแต่ไม่เหนอะเหมือนน้ำมัน เป็นส่วนผสมของเครื่องสำอางค์ที่เป็นของเหลวหลายชนิดหลายยี่ห้อ ถ้าหายากนักก็ไปซื้อยาสวนทวารชนิดเทียนตามในรูปที่ร้านขายยาทั่วไป เอาไดน์เป่าผมเป่าสักหน่อยที่เป่าที่กล่องพลาสติก เป่าไกลๆหน่อยนะเด๋วยาเสีย หรือแช่ในน้ำอุ่นทั้งกล่องพลาสติกไม่ต้องเปิดฝา น้ำอุ่นๆสัก 50 องศาก็พอแล้วครับ พอให้มันละลายเป็นน้ำได้ ส่วนสบู่ผมไม่ทราบว่ามีส่วนเร่งปฏิกิริยาเคมีเพิ่มขึ้นหรือลดลงมากน้อยอย่างไรขี้เกียจทดสอบครับ

thank pic from http://topicstock.pantip.com/family/topicstock/2011/08/N10894482/N10894482.html
piece_silicone_glue_oxime_acetoxy_with_Glycerin_Suppositories_3P_10Percent_effect
ผลการผสมกลีเซอรีน 3%, 10%ไม่ได้ทำให้มันเหลวขึ้น แต่ทำให้มันแข็งเร็วขึ้น เกิดความแข็งยาง70%(ยังไม่สิ้นสุดปฏิกิริยา) ตามปรกติใช้เวลา 5-6 ชั่วโมง กลายเป็นแข็ง 10-15 นาทีซึ่งมันแข็งทั้งก้อนแบบไม่เลือกความหนาซะด้วย(ทดลองที่ความหนา 1 เซนติเมตร) เปอร์เซนต์ที่ผสมมากไม่ได้ทำให้แข็งเร็วขึ้น แต่ทำให้ผสมยากขึ้นมันเหนียวข้นยิ่งขึ้นขณะผสม
  • ผลการทดลองอ่านข้างบน สรุปได้ว่ากลีเซอรีน เป็นตัวเร่งแข็งที่ดีมาก สำหรับชนิดกรด มีเจล์ไทม์(เวลาที่เซทตัวเป็นของแข็งข้นที่ไม่สามารถทำอะไรได้) ประมาณ3- 5 นาที
  • ชนิดกรด ใช้เวลาในการเซทตัวได้ความแข็งยาง70% ในเวลา 15 นาที และเป็นการแข็งตัวแบบซึมลึก ซึ่งยังไม่สิ้นสุดปฏิกิริยา มันดูดซึมกลีเซอรีนได้ดีกว่าoxime ในอัตราส่วน3เปอร์เซนต์น้ำมันกลีเซอรีนจะตกค้างน้อยกว่าชนิดoximeและยังสามารถติดกระดาษลังได้ แต่ถ้าผสมมากถึง8%มันจะค่อยๆข้นขึ้นและมีกลีเซอรีนตกค้างตามผิวและเนื้อในเยอะแต่ไม่ได้ช่วยให้แข็งเร็วขึ้นเท่าที่ดูมันก็แข็งเร็วพอๆกัน ฉะนั้นถ้าจะเอาไปใช้เพื่อเร่งแข็งไม่ควรใส่เยอะ ไม่ควรเกิน 3 เปอร์เซนต์ ในยูทูปเขาใส่กันน้อยมากไม่ถึง 0.5เปอร์เซนต์ ประมาณ5 หยด ต่อซิลิโคนครึ่งถ้วยกินน้ำเล็กๆ ความแข็งยางขณะแห้งสนิทลดลงเพียง 5-10 เปอร์เซนต์ สามารถแกะโมลด์ได้ใน 2 ชั่วโมง แต่ แข็งสนิทอาจกินเวลา1วันตามปรกติ Glycerin<3% in Acetoxy Silicone,best to quicken cure moisture reaction,deep setting (thick layer can be used) , 70% hardness in 15 minute, best for acetoxy type ,unmolded time in 2 hours(not complete cure but good enough).
  • ชนิด oxime น่าจะมีปัญหากับกลีเซอรีน เนื่องจากกลีเซอรีนมันทำลายความแข็งยางซึ่งเป็นข้อดีของชนิดoxime ความแข็งยางขณะแห้งสนิทลดลงมากถึง30-35% กดดูเหมือนจะเป็นลักษณะของฟองน้ำมากขึ้น ไม่ใช่นิ่มแบบยืดหยุ่น ความเร็วในการแข็งตัวแม้จะเซทตัวเร็วราวๆ 20-40 นาที แต่พบว่าภายในยังนิ่มแบบฟองน้ำกว่าจะเซทตัวสนิทก็10 ชมถึงจะได้ความแข็งพอแต่กว่าจะถอดโมลด์ได้ไม่ต่ำกว่า1วัน ผมว่าไม่ควรใช้นะครับ แม้ว่าความเป็นกาวติดกระดาษลังยังดีอยู่แต่มันดูดกลืนกลีเซอรีนได้ไม่ดีเท่าชนิดกรด Oxime type have a problem with Glycerin ,make silicone hardness decrease 30-45% ,may destroy normal bond ,it like elastic sponge ,not elastic rubber . It is quick for deep setting in 20-40 miniute but have a something wrong in internal bond (internal not steady hard), unmolded time 1 day over,not recomended.
  • คนคิดได้นี่ก็เก่งนะครับมันเร่งแข็งทั่วทั้งก้อนเลยชิ้นงานหนาๆก็แข็งแบบซึมลึก ลองใช้สูตรผสมทัลคัมล้วนๆ(กับซิลิโคนกรด 1:2) มันแข็งเร็วจริง(20นาที)ที่เลเยอร์1.5มิลได้ความแข็ง70เปอร์เซน แต่ไม่แข็งเร็วแบบซึมลึกแบบกลีเซอรีน ถ้าหนาๆเกิน 1.5 มิลก็ใช้เวลาแข็งนาน5-6 ชั่วโมงจึงเริ่มแข็งแบบซึมลึก ชิ้นงานที่ทดสอบความหนา7-8 มิล สรุปทัลคัมก็ไม่ได้ช่วยให้แข็งเร็วขึ้นเท่าไหร่
  • ไว้จะทดลองด้วยกลีเซอรีนบริสุทธิ์จริงๆที่ไม่ผสมสบู่จากยาสวนทวาร เพราะผมคิดว่าสบู่อาจไปลดความเหนียวของซิลิโคน ต้องไปหาซื้อก่อนค่อยมาทดลองอีกที

กลีเซอรีนบริสุทธิ์ ทดลองอีกครั้งพบว่ายังยืนยันเหมือนเดิมครับ วันก่อนไปสำเพ็งมาก็เลยซื้อ Glycerin ที่ร้านบุญชัยพานิช รู้สึกว่ามันถูกจังร้านนี้ 1ลิตร ราคาประมาณ หนึ่องร้ออยบาท เกรดเครื่องสำอางค์ด้วยครับ เนื่องจากคราวที่แล้วใช้กลีเซอรีนชนิดสวนทวารที่มีส่วนผสมของสบู่ เลยไม่กระจ่างชัด มาคราวนี้เลยทดลองกันให้ชัดไปเลยครับ รู้สึกว่ามันมีแรงตึงผิวสูงกว่าชนิดสวนทวารมากเพราะเทแล้วเป็นเม็ดน้ำกลมๆเม็ดใหญ่ๆ

  • ชนิดกรด ผสมราวๆ 3-5% กะๆเอา พบว่า การผสมและการทำงานง่ายขึ้นจริงๆครับดีกว่าชนิดสวนทวารมากมาย ลื่นและป้ายไปมาได้ง่าย ผมว่าสำหรับชนิดกรดในกลีเซอรีนบริสุทธิ์ก็ทำให้ป้ายซิลิโคนไปมาได้ง่ายอาจไม่ต้องทำให้เหลวเลยก็ได้ครับ เมื่อผสมแล้วรอมันเซ็ทตัวใช้เวลาราวๆ 3-4นาทีก็ทำอะไรต่อไม่ได้แล้ว ถ้าจะได้ความแข็งสัก 70%ของความแข็งที่มันทำได้พบว่าใช้เวลาราวๆ15 นาทีตั้งแต่ตอนเริ่มผสม สรุป เวิร์กครับ แต่ต้องผสมให้เข้ากันอย่างทั่วๆ โดยอาจผสมสีอครีลิกลงไปเล็กน้อยจะได้สังเกตเห็นได้ทั่ว การแข็งก็เป็นแบบซึมลึกอย่างที่ว่า ความแข็งลดลงเล็กน้อย5-10%
  • ชนิดoxime ผสมราวๆ 8% กะๆเอาเช่นกัน การผสมไม่ง่ายครับ ไม่ลื่น แต่เซ็ทตัวเจลไทม์ไล่เลี่ยกันราวๆ 3-4 นาที แต่ความแข็งมีปัญหาเหมือนกับกลีเซอรีนชนิดสวนทวารแก้ท้องผูก โดยความแข็งลดลงอย่างน้อย35% และมีลักษณะความยืดหยุ่นแบบยางลดลงไปเป็นมีลักษณะคล้ายฟองน้ำที่ยุบตัวได้มากกว่า ไม่เวิร์กครับ ไม่แนะนำ
  • ชนิดoxime ผสมราวๆ 3% ผสมง่ายครับ ลื่นพอสมควรน่าจะพอเก็บรายละเอียดได้ เจลไทม์ 3-4 นาที ผมว่าเวิร์กครับไม่ต้องผสมมากครับตามที่เขาทดลองๆกันน่าจะดีแล้วครับ แต่มีปัญหาเรื่องความแข็งครับเหมือนข้างบน สรุปไม่แนะนำสำหรับการผสมกลีเซอรีนกับกาวซิลิโคนชนิดoxime ผมว่าไม่ต้องเร่งให้แข็งเร็วขึ้นเลยโดยเฉพาะชนิดoxime

จริงๆกลีเซอรีนถ้าเอาไปผสมพร้อมน้ำมันที่ทำให้เหลวโดยเฉพาะกับกาวกรด ก็เร่งให้แข็งได้ครับจะได้ถอดโมลด์ได้ใน 5-8 ชั่วโมง (ความหนาไม่เกิน 3-4มิล) เป็นสูตรที่แถมให้ แข็งเร็วดี

สูตรเหลวและแข็งเร็ว =

น้ำมันผสมให้เหลว 20% +กลีเซอรีน 1-3% +กาวซิลิโคนชนิดกรด

เบบี้โลชั่น ผสมเบบี้โลชั่นของจอห์นสันขวดสีชมพูในอัตราส่วน 15% และ 30% พบว่า เฉพาะชนิดกรดสามารถเร่งแข็งแบบซึมลึกได้ แต่การเร่งแข็งช้ากว่ากลีเซอรีนบริสุทธิ์มาก โดยเฉพาะการแข็งผิวใช้เวลาไม่น้อยกว่า1ชั่วโมง แต่สามารถแกะโมลด์ออกได้ใน 4-5 ชั่วโมง(ความแข็งที่ได้ในตอนนั้นจะได้ 70-80 เปอร์เซนต์ ยังไม่หมดปฏิกิริยา แต่ล่อนออกจากแบบได้สบายและไม่ติด) แต่ตอนผสมค่อนข้างยากกว่ามาก เนื่องจากเบบี้โลชั่นมีน้ำเป็นส่วนผสมค่อนข้างมากและมีกลีเซอรีนไม่มากและก็มีส่วนผสมอื่นๆเช่นน้ำมันเบบี้ออย เม็ดสี ผงแป้ง เวลาผสมซิลิโคนจะดูดกลืนส่วนผสมเกือบทั้งหมดที่ไม่ใช่น้ำ ถ้าผสมแล้วมีน้ำเหลือผสมไม่เข้ากันก็เทน้ำสีชมพูทิ้งไปซะ ส่วนใหญ่จะมีน้ำเหลืออยู่30-40 เปอร์เซนต์ของโลชั่นที่ใส่เข้าไป (ต้องทิ้งน้ำ)ความเป็นกาวลดลงอย่างมากลอกออกจากกระดาษลังได้สบาย ความแข็งยางลดลงเล็กน้อย 8-10% ความยืดหยุ่นดีปรกติ ผลที่ได้ก็น่าพอใจครับกลิ่นหอมดีครับ ผมว่าผสมเพียง 15% ก็พอแล้วครับหรืออาจจะน้อยกว่าก็ได้(ทดลองเอาเองนะ) ส่วนชนิดoximeใช้ไม่ได้มันทำลายพันธะไม่กินกันดังรูป

piece_silicone_glue_oxime_acetoxy_with_baby_lotion_Johnson_15P_30Percent_effect2
ภาพด้านบนเป็นการผสมกาวซิลิโคนด้วยเบบี้โลชั่น ชนิด oxime ใช้ไม่ได้ แต่ชนิดกรดใช้ได้ผลดีสำหรับการแข็งตัวแบบซึมลึก แต่การผสมจะยากสักหน่อยเพราะผสมไม่ค่อยเข้ากันได้ง่ายๆ

เมทานอล (Methl Alcohol 100%) หรือแอลกอฮอล์สำหรับผสมชแล็ค ผสมในอัตราส่วน 20-30% โดยปริมาตร กะๆเอา พบว่า Fail

piece_acetoxy_oxime_silicone_glue_mix_MethlAlcohal20percent

  • ชนิด กรด เมือฉีดซิลิโคนลงในเมทานอล คนผสมกันด้วยปลายด้ามพู่กันอันเล็กความไม่เข้ากันในส่วนผสมและทำลายการจับตัวกัน อีกทั้งยังแข็งช้ามากไม่แห้งเละติดนิ้วและเป็นขุยๆยุ่ยๆไม่เข้ากัน ใช้ไม่ได้ครับ เวลาผ่านไป 7ชั่วโมง เริ่มเอานิ้วแตะได้
  • oxime มีการแยกตัวขณะผสมอย่างเห็นได้ชัดเหมือนผสมดินน้ำมันนุ่มๆในน้ำ ไม่เข้ากัน แต่ไม่ทำลายการจับตัวกันตอนผสมสังเกตได้ว่าไม้คนไม่จับกับซิลิโคนแม้แต่น้อย เหมือนยับยั้งความเป็นกาวระหว่างวัสดุคน กับถ้วย ทำให้เกิดผิวหยาบๆเหมือนโดนรีดน้ำมันออกจากซิลิโคน การแห้งแข็งตัวค่อนข้างเร็วตามปรกติแต่เอานิ้วแตะไม่ติดนิ้วตั้งแต่ตอนคนแรกๆ ความเป็นกาวที่ติดกระดาษยังดีเยี่ยมแกะไม่ออกเลย สรุปเอามาผสมทำให้เหลวไม่ได้ครับ เมื่อแห้งสนิทพบว่าซิลิโคนสีขาวที่ปาดเข้าไปเป็นชั้นๆรู้สึกว่ามันไม่กินกันสนิทสรุปคือมันก็ทำลายเนื้อกาวเหมือนกัน

Durex play lubricant (Durex Play Pleasure-enhancing Personal Lubricant Lube) 20% Fail ผสมแล้วไม่เข้าเนื้อกันตีกันและเกิดฟองผสมลง

fail_to_mix_silicone_caulk_acetoxy_oxime_with20p_durex_play_lubricant

น้ำยาล้างเล็บ ยี่ห้อ top ที่มีส่วนของ acetone น้ำ และ โพรไพลีนไกลคอล เกิดฟองมากมายเนื่องจากมันบวมตอนผสมดูเหมือนผสมกันได้ แต่พอเซทตัวสนิทจะเกิดฟองมากมายในชิ้นซิลิโคน ผสมในอัตราส่วน 20-40%

fail_to_mix_silicone_caulk_acetoxy_oxime_with20p_nail_wash_solution

น้ำยาเคลือบไม้ยูรีเทนชนิดแข็งและแห้งด้วยการทำปฏิกิริยากับความชื้นในอากาศ ผสมกับกาวซิลิโคนoximeได้ครับ ในอัตราส่วน 20-40% มันก็แข็ง ดูแล้วต่างคนต่างแข็งอยู่ในก้อนเนื้อเดียวกันกดดูรู้สึกถึงความแข็งของยูรีเทนปนๆกับยางที่รู้สึกนิ่มกว่าของซิลิโคนไม่ได้เข้าเนื้อกันเป็นเนื้อเดียวกันหรอกครับ ก็คงไม่ได้เอาไปใช้ประโยน์อะไรก็บันทึกเอาไว้เป็นหลักฐาน

piece_silicone_glue_oxime_with_20Percent_Urethane_vanish_for_wood

 19,155 total views