เนื้อหาเรื่องซิลิโคนDIYภาพรวมทั้งหมดของทุกตอน คือการแนะนำซิลิโคนชนิดของซิลิโคนในเรื่องผลิตภัณฑ์ที่เป็นของเหลวทำให้เป็นของแข็ง หรือซิลิโคนที่เอาไปทำงานDIYหรือชิ้นงานได้ เทคนิค คุณสมบัติ และการทดลองทำ (ส่วนเรื่องซิลิโคนในผลิตภัณท์เครื่องสำอางค์ คงมีน้อยถึงน้อยมาก) คงมีเรื่องราวๆหลายๆแบบแตกเนื้อหาประเด็นไปเรื่อยๆเท่าที่ผมมีความรู้หรือต้องการรวบรวมความรู้เอาไว้ ส่วนใหญ่เป็นแนวเอาไปประยุกต์ใช้ หรือแนะนำเพื่อการประยุกต์ใช้มากกว่า รวมถึง ศัพท์แสงทางวิทยาศาสตร์ เอกสารที่ได้รวบรวมมา(ถ้ามี) ถ้าไม่สนใจศัพท์แสงเอกสาร ก็แนะนำว่าดูเป็นไอเดียไปก่อน พอรู้เรื่องวันหน้าถ้าลองทำแล้วอยากค้นคว้าเพิ่มก็ค่อยกลับมาดูใหม่ หรือใครที่มีความรู้จะแนะนำผมหรือเพื่อนๆหรืออยากเป็นคนเขียนเพิ่มเติมก็ติดต่อกันเข้ามาได้นะครับ ทางคอมเม้นท์นี่แหละครับ
เนื้อหาในบทนี้ คือการแนะนำผลิตภัณฑ์ซิลิโคนที่อยู่ในชีวิตประจำวัน เกริ่นพูดถึงเรื่องราวทั่วๆไปเกี่ยวกับซิลิโคน และการแบ่งชนิดของซิลิโคนตามประเภทของการขึ้นรูปของแข็งนั้น เป็นการแนะนำเชิงให้พอให้ผู้อ่านเห็นภาพแต่ไม่ได้ลงลึกและแบ่งแยกย่อยชัดเจน
ในที่สุดก็มาถึงเรื่องเคมีๆ ที่ผมถนัดและชอบมากครับ เรื่องวัสดุต่างๆโดยเฉพาะพวกกาว ซิลิโคน เรซิ่น วัสดุหล่อแปลกๆ วัสดุผสม เรียกได้ว่าพอมีประสบการณ์ แนวทดลองทำและก็ล้มเหลวเละเทะมาก็เยอะมาก ที่ผ่านๆมาเป็นเรื่องไฟฟ้า ไม่ค่อยถนัดเท่าไหร่ เลยเขียนช้า แต่เรื่องที่ถนัดๆนี่สิครับ จะใช้เวลาเขียนยาวนานมากๆๆๆ เรียกว่าโคตรมหากาพย์ เพราะ ขี้เกียจครับ หุหุ ยังไงผมขอก๊อปรูปเขามาลง และเว็ปที่ผมได้เขียนอยู่เดิมก็ก๊อปเอามา บางส่วนมาดัดแปลงใหม่ คราวนี้จะรีบๆเลยครับ คงแบ่งเป็นหลายๆตอนเนื่องจาก เวิดเพรสเขียนยาวๆแล้วแก้ไขยากโหลดช้า แต่ที่นี่คงเขียนแบบค่อนข้างละเอียดตามสไตล์ผมแหละครับ
ผลิตภัณฑ์ซิลิโคน
มาดูซิลิโคนในชีวิตประจำวันกันก่อนนะครับ ส่วนอันไหนที่เราทำเองได้ หล่อเอง อบเองได้ DIYได้ อย่างไรเดี๋ยวค่อยๆว่ากันเป็นเรื่องๆอย่างๆ
ยางรีโมทหรือปุ่มรีโมท ส่วนใหญ่จะเป็นยางซิลิโคนซึ่งต้องขึ้นรูปด้วยความร้อน หลังจากถูกกดด้วยพิมพ์โลหะ ซึ่งมักจะใช้กับภาคอุตสาหกรรมเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งซิลิโคนเกรดปุ่มกดนั้นจะมีเบอร์ให้เลือกใช้เฉพาะเพราะผู้ผลิตยางได้พัฒนามันเพื่ออุตสาหกรรมปุ่มกดโดยเฉพาะทำให้มันมีความทนทานในการกดและความสามารถในการเด้งคืนได้มากกว่ายางซิลิโคนเกรดทั่วๆไปมากมาย




จุกยางหม้อหุงข้าวและจุกอุดหูส่วนใหญ่จะขึ้นรูปด้วยความร้อนเหมือนๆกัน



ปลอกมือถือ ส่วนอันที่เป็นยางนิ่มๆ จะมีทั้งแบบซิลิโคน และ pvc อันที่เป็นซิลิโคนจะสังเกตได้ว่าส่วนใหญ่จะนิ่มกว่าและยืดหยุ่นดีกว่า มีสีขุ่นกว่าจะแยกด้วยคำพูดคงยาก ลองดูวีดีโอข้างล่างคือการขึ้นรูปปลอกมือถือซิลิโคนด้วยความร้อน วีดีโอข้างล่างมาแสดงโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งในบทความนี้ใช้เพื่อการศึกษาเรื่องซิลิโคนเท่านั้น วีดีโอ youtube by whiteghostinchina
วีดีโอข้างบนเป็นการขึ้นรูปซิลิโคนด้วยความร้อน ซึ่งเป็นเคสมือถือรุ่นแรกๆที่ยังไม่มีตัวการ์ตูนเยอะแยะมากมายๆ ขั้นตอนแรกๆเป็นการนวดยางซิลิโคนด้วยลูกกลิ้งเพื่อผสมสีเข้าไปในตัวเนื้อยางซิลิโคนวัตถุดิบจากโรงงานผู้ผลิต จากนั้นก็ตัดเป็นก้อนๆเล็กๆแล้วใส่เข้าไปในโมลด์กดรูปที่เป็นเหล็กที่สามารถให้ความร้อนได้อบยางให้สุกประมาณ1นาที ที่ความร้อนประมาณ 90-150 องศาC แต่ส่วนใหญ่ที่ตั้งอุณหภูมิโมลด์เหล็กประมาณ200 C เพื่อให้ระบายความร้อนให้ซิลิโคนสุกให้ไวขึ้นภายใน1นาที

วีดีโอข้างล่างเป็นการผลิตปลอกมือถือมีหน้าตาตัวการ์ตูนหลากสี ซึ่งทำด้วยซิลิโคนและมีการพัฒนาขั้นตอนการผลิตที่เยอะขึ้นด้วยครับ แต่ไม่ได้ยุ่งยากซับซ้อนอะไรส่วนใหญ่ก็เป็นงานฝีมือที่ต้องใช้แรงงานคน (ส่วนถ้าอยากทำแบบตามบ้านเดี๋ยวค่อยว่ากันครับว่าจะดัดแปลงอย่างไร เพราะขั้นตอนมีแค่ ผสม กดในโมลด์ แล้วก็อบ แต่การทำโมลด์ค่อนข้างต้องลงทุน ซึ่งถ้าเราไม่ได้เอาไปทำมือถือแต่ทำชิ้นงานอื่นก็อาจจจะคุ้ม) ภาพวีดีโอชุดนี้ถูกนำมาใช้ที่นี่โดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งในบทความนี้ใช้เพื่อการศึกษาเรื่องซิลิโคนเท่านั้น วีดีโอจาก youtube โดย Lo boby
ภาพจุกนมสำหรับเด็ก ทำด้วยยางซิลิโคน ผมเข้าใจว่าจะมีซิลิโคนเกรดใสแจ๋วชนิดหนึ่งซึ่งเป็นของเหลวใสถูกฉีดเข้าไปในโมลด์เหล็กที่มีความร้อนแล้วอบให้สุกอยู่ภานใน ซึ่งจะต้องใช้เครื่องจักรเฉพาะทางเป็นในแนวเครื่องฉีดพลาสติกซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเฉพาะทางที่ต้องลงทุน

ภาพด้านล่างเป็นโมลด์ยางซิลิโคน ที่เราสามารถทำเองได้ตามบ้านโดยไม่ต้องใช้ความร้อนขึ้นรูป เป็นซิลิโคนที่ขึ้นรูปได้ที่อุณหภูมิห้อง ข้างล่างเป็นโมลด์สำหรับทำพิมพ์ชีสเพื่อตกแต่งอาหาร แต่ซิลิโคนที่ควรใช้ควรเป็นเกรดที่สัมผัสกับอาหารได้ซึ่งก็พอมีขายในประเทศไทย

วิธีการใช้โมลด์เนย วีดีโอด้านล่าง youtube CC by Butter-Form
วีดีโอด้านล่าง แสดงหม้อหุงข้าวแบบใหม่ที่สามารถหุงได้ด้วยเตาไมโครเวฟ เท่าที่อ่านดูในเว็บของผู้ผลิต lekueusa.com ตัวฝาหม้อหุ้งข้าวที่มีสีเขียวๆเป็นซิลิโคนและเป็นชนิดซิลิโคนที่มีตัวเร่งแข็งแบบแพลตตินั่มและเป็นที่ยืนยันว่าฝาหม้อซิลิโคนนี้เข้าเตาไมโครเวฟได้ แต่ผมไม่แน่ใจว่าว่าซิลิโคนนี้ถ้าเข้าไปตัวเปล่าๆจะทำปฏิกิริยากับคลี่นไมโครเวฟแล้วเกิดความร้อนหรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่ต้องหาวัสดุมาพิสูจน์กันต่อไป วีดีโอข้างล่างนี้ถูกนำมาแสดงโดยไม่ได้รับอนุญาตแต่เป็นการสนับสนุนผลประโยชน์ของผู้อัพโหลด จึงเข้าใจว่าคงไม่ถูกฟ้องเรื่องลิขสิทธิ์ แต่อย่างไรก็ตามผมแสดงเอาไว้ที่นี้เพื่อการศึกษาเรื่องซิลิโคนและไม่ได้ใช้เพื่อการค้าใดๆทั้งสิ้น วีดีโอ youtube by LekueES
คือต้องเข้าใจว่าฝรั่งไม่นิยมกินข้าวจึงไม่มีหม้อหุงข้าวไฟฟ้าเหมือนคนไทย มันจึงเป็น rice cooker ชนิดต้องใช้ไมโครเวฟให้ความร้อน




ผมเคยเห็นคนเสิชหาโมลด์ซิลิโคนสำหรับทำสบู่ อันบนเป็นตัวอย่าง แต่ความเป็นจริงการหล่อสบู่ที่มีรายละเอียดเยอะอาจทำได้ยาก เนื่องจากสบู่มีความข้นมากเทยากและอาจหล่ออกมาแล้วมีรูไม่กิ๊กเหมือนรูป นอกจากสบู่กรดและสบู่บางชนิดไม่ค่อยข้นจะเทได้ แต่สบู่ที่ใช้ถูกับตัวโรงงานผลิตจะใช้วิธีกดพิมพ์ด้วยพิมพ์ทองเหลืองที่เย็นจัด กับก้อนสบู่ที่เป็นแท่งๆร้อนๆแต่ไม่เหลวข้น เพื่อที่จะผลิตให้ได้เร็วๆ สมมติว่าถ้าจะทำสบู่จากโมล์ดซิลิโคน เทรอบแรกอาจต้องใช้พู่กันทาให้ไม่มีรูฟองอากาศก่อนเทซ้ำอีกรอบ ต้องลองดูนะครับ




ภาพซิลิโคนโมลด์ที่ขึ้นรูปเองเอาไว้หล่อโมเดล


ซิลิโคนคืออะไร มาจากไหน
ซิลิโคนคืออะไร ก็คือ สารชนิดหนึ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นเรียกว่าโพลีเมอร์ ซึ่งซิลิโคนสร้างจากสารประกอบที่มีหมู่ฟังก์ชั่นไซล็อกเซนเชื่อมต่อกันยาวมาก มีการเชื่อมโยงระหว่างโมเลกุลและมีน้ำหนักที่ไม่แน่นอน เกิดเป็นทั้งของแข็งในรูปยางซิลิโคน และของเหลวในรูปเจลหรือน้ำมันในเครื่องสำอางค์เป็นต้น
หมู่ฟังก์ชั่นไซล็อกเซน Siloxane หรือรูปแบบซ้ำๆเฉพาะที่บ่งบอกว่าเป็นซิลิโคน ในสารประกอบที่มีความยาวโมเลกุลยาวมาก(โพลีเมอร์) ภาพ wiki CC-SA by Smokefoot ซิลิโคน silicone ถูกสกัดมาจาก ทราย ซึ่งสิ่งที่อยู่ในทรายที่ต้องการนำมาสกัดเป็นซิลิโคนคือ Silicon dioxide หรือซิลิก้า ซึ่งมีอยู่มากมายในทราย เมื่อผ่านกระบวนการสกัดออกจากทรายแล้วนำมาผ่านกระบวนทางเคมีมีการเรียงตัวของสารประกอบที่ซ้ำกันที่มีกลุ่มรูปแบบเฉพาะที่เรียกว่า siloxane ซึ่งเป็นส่วนประกอบย่อยซ้ำของซิลิโคน หลักๆก็คือธาตุ ซิลิก้อน และ อ๊อกซิเจน จับตัวกันเรียงกันตามรูปแบบเฉพาะดังกล่าวและมีความยาวยาวมากๆ ซึ่งนำมาผ่านกระบวนการเชื่อมโยงพันธะกับเคมีชนิดอื่นๆแล้วซิลิโคนที่สกัดมาในเบื้องต้นจะเป็นของเหลว และเมื่อต่อกันยาวขึ้นอีกและมีแขนแขนงของโมเลกุลยักษ์ก็จะเป็นของเหลวที่ข้นขึ้น(หรือโพลีเมอร์) ข้นขึ้น เมื่อจะนำมาทำซิลิโคนเครื่องสำอางค์ก็นำไปใช้ได้เลย แต่ถ้าจะนำไปทำเป็นยางซิลิโคนต้องผ่านกระบวนการเชื่อมโยงโมเลกุลให้ยาวขึ้นและเชื่อมกันระหว่างโมเลกุลขนาดยักษ์แบบโครงตาข่ายบางส่วนเพื่อให้มันอยู่ตัวและแข็งแรงขึ้น ในกระบวนการขึ้นรูปยางซิลิโคนมีทั้งการขึ้นรูปด้วยความร้อนและ การขึ้นรูปด้วยเคมีที่ผสมอยู่ในตัวมันเอง
แบ่งประเภทยางซิลิโคนตามวิธีการแข็งตัว
ถ้าจะแบ่งประเภทยางซิลิโคนตามวิธีการแข็งตัว ในการผลิตยางซิลิโคนในผลิตภัณท์ที่เป็นเครื่องอุปโภคในลักษณะของแข็ง หรือการผลิตที่เกิดจากของเหลวหรือของเหลวที่ข้นมากหรือมีลักษณะข้นแข็งจนเหมือนดินน้ำมัน โดยจะเกิดปฏิกิริยาเคมีเชื่อมประสานโมเลกุลจนสามารถเปลี่ยนไปเป็นของแข็งอย่างสมบูรณ์โดยไม่กลับเป็นของเหลวอีก วิธีการแข็งตัวแบ่งได้ เป็นสองประเภทใหญ่ๆ
1. ซิลิโคนที่แข็งตัวได้ในอุณหภูมิห้อง หรือ silicone RTV (Room Temperature Vulcanizing)
silicone RTV คือซิลิโคนที่สามารถแข็งตัวได้ที่อุณหภูมิห้อง
เช่นซิลิโคนที่ใช้ในการสร้างโมลด์ ในการหล่อแบบต่างๆ และใช้งานเฉพาะด้าน ที่ต้องการผลิตด้วยการไม่ต้องใช้เครื่องไม้เครื่องมือมากนัก และใช้เวลาการผลิตแต่ละชิ้น ตั้งแต่ 3ถึง 24 ชั่วโมงต่อชิ้น ส่วนใหญ่ใช้ในงานฝีมือ งานสเปเชี่ยลเอฟเฟค หรืองาน ที่ทำได้น้อยชิ้นแต่ใช้ในงานแมคคานิกหรืองานอื่นๆ ส่วนใหญ่จะมีการผสมเคมีสองส่วนนำมาผสมกันให้แข็งตัวที่อุณหภูมิห้อง ซึ่งไม่จำกัดความหนา จะหนามากหรือหนาน้อยก็ใช้เวลาการแข็งตัวที่เท่ากันตามข้อมูลของแต่ละผลิตภัณฑ์ยางซิลิโคน ซึ่งหาได้จากดาต้าชีทของผู้ผลิตว่าจะแข็งตัวได้ในกี่ชม. ส่วนใหญ่แล้วจะไม่เกิน 1 วัน
เช่น กาวซิลิโคนก็เป็น ชนิดRTV แข็งตัวได้ด้วยการสัมผัสอากาศและความชื้นในอากาศ ซึ่งค่อยๆทำปฏิกิริยาทางเคมีหรือการเชื่อมโยงระหว่างโมเลกุลทำให้แข็งขึ้นมาได้ โดยชิ้นงานต้องไม่มีความหนามากเกินไปเช่นไม่เกิน 1 เซนติเมตร ถ้าหนาเกินจะทำให้แข็งช้าเกินกว่า24ชม. ซึ่งกาวซิลิโคนมักใช้ในงานก่อสร้าง ประกอบทากันรั่วกรอบประตูหน้าต่าง ทำตู้ปลา หรืออาจสร้างมาเพื่อใช้เฉพาะงานก็มี
2. ซิลิโคนที่ขึ้นรูปให้แข็งตัวได้โดยใช้ความร้อน หรือ silicone HCR ,HTV (High Consistency Silicone Rubber , High Temperature Vulcanizing , Heat cured silicone rubber) หรือประเภท LIMS (Liquid silicone rubber Injection Molding System)
silicone HCR ส่วนใหญ่จะใช้ในการฉีดขึ้นรูป อัดหรือปั๊ม ด้วยเครื่อง โดยจะถูกฉีดหรือปั๊มขึ้นรูปบนโมล์ดเหล็กที่สามารถให้ความร้อนได้ ซึ่งสามารถผลิตได้รวดเร็วกว่า เด๋วขอค้นก่อนว่ามันเร็วกว่าเท่าไหร่อย่างไรเพราะไม่เคยใช้ เท่าที่อ่านเอกสารpdf silicone LIMS Shin-Etsu ซึ่งเป็นแบบฉีด ความเร็วในการขึ้นรูปขึ้นกับความหนาและความร้อนที่ใช้ โดยความหนา ความร้อนในการอบอยู่ที่ 130-200 องศาเซลเซียส เท่าที่อ่านพบว่า ถ้าอบให้ความร้อนที่150 องศาจนมันสามารถรับแรงบิดได้ 90 เปอร์เซนต์ จะใช้เวลา 25 วินาที สำหรับความหนา 1 mm ถ้ามีการเพิ่มความหนาต้องเพิ่มเวลาอีก 10 วินาที ต่อความหนา 1 mm การขึ้นรูปที่ว่านี้ใช้เครื่องฉีดนะครับ
ก็ในวีดีโอข้างบน เช่นการทำปลอกมือถือ ก็คือการขึ้นรูปให้แข็งตัวด้วยความร้อน คืออาศัยความร้อนในการเร่งทำปฏิกิริยาพอลิเมอร์ไรเซชั่นหรือการเชื่อมต่อระหว่างโมเลกุลของเคมีซิลิโคนเหลวนั่นเอง
ในรูปที่ผ่านๆมา จะพบว่า โมลด์หล่อสบู่ ถาดน้ำแข็ง ถาดช็อกโกแลต คัพเคก โมลด์หล่อเทียน อย่างนี้เป็น ชนิด RTV ก็ได้หรือเป็นแบบขึ้นรูปด้วยความร้อนก็ได้ คีย์แพดสำหรับรีโมทหรือมือถือจะผลิดด้วยชนิด HCR แต่ถ้าอยากผลิตด้วย RTV ย่อมทำได้แน่นอนครับแต่อาจต้องเลือกชนิดซิลิโคนสักหน่อย ส่วนจุกนมนั้นเป็นชนิดHCR ถามว่าชนิดRTV มีแบบfood grade ไหมเท่าที่ทราบคือมีครับ ที่เห็นกันแน่นอนเช่นซิลิโคนพุทตี้สำหรับทันตแพทย์ใช้ปั้นแปะหล่อฟันเรานั่นแหละครับราคาค่อนข้างแพงมากๆ หรือซิลิโคนชนิดRTV แบบฟู๊ดเกรด ถ้ามีการรับรองโดย FDA(องค์การอาหารและยาของอเมริกา) สามารถทำถาดอะไรต่อมิอะไรได้สบายครับ ซิลิโคนชนิดRTV เหมาะสำหรับงานDIY ส่วนการขึ้นรูปด้วยความร้อน ก็สามารถ DIY ได้แต่ต้องลงทุนมากเสียหน่อย เครื่องไม้เครื่องมือก็ต้องเพิ่มขึ้น จะทำเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือนก็ได้ทั้งนั้นครับ
คุณสมบัติของซิลิโคนส่วนใหญ่ที่สำคัญๆคือ มันสามารถทนความร้อนได้สูงมากถึง180-220 C (แต่ไม่ได้หมายถึงว่าจะใช้งานได้นานตลอดไปที่อุณหภูมินี้นะครับ) มีความนิ่มหรือความแข็ง ระหว่าง 10 -80 shore A (shore A คือหน่วยวัดความแข็งยางชนิดหนึ่ง) คือนิ่มมากๆๆ จนถึงค่อนข้างแข็งในภาษาพูดน่ะ ไม่สามารถหลอมเหลวได้ เมื่อเอาไฟเผาจะพบว่ามันไม่หลอมเหลว แต่จะถูกเผาจนกลายเป็นขี้เถ้าสีเทาแข็งรูปทรงนั่นแหละ เอามือขยี้ดูจะเป็นผุยผง ไม่ลามไฟซึ่งเป็นคุณสมบัติการทนต่อเปลวไฟที่ดีมาก คุณสมบัติการทนความเย็นติดลบดีกว่าโพลิเมอร์ยางส่วนใหญ่คือไม่เปราะ คุณสมบัติความเป็นฉนวนไฟฟ้าที่ดีมาก คุณสมบัติการยืดหยุ่นและคืนตัว หาดูวีดีโอได้จาก >> Shin-Estu silicone rubber ดูแล้วจะเข้าใจมากขึ้น

ความแข็งของยาง คือปัจจัยหนึ่งที่เราเลือกซิลิโคนเพื่อจะนำมาDIY จะเห็นได้ว่า ความแข็งยางซิลิโคน มีตั้งแต่เจลลี่ จนเกือบๆแข็งเท่ายางรถยนต์ ส่วนใหญ่ความแข็งยางซิลิโคนจะพูดถึงความแข็งในสเกล shoreA (เช่นร้านขายบอกว่านิ่ม-นิ่มมากส่วนใหญ่ในเมืองไทยก็ประมาณ20 shoreA-หนังสติ๊ก เป็นต้น และต่ำกว่า10shoreA-ในของเล่นผู้ใหญ่บางชิ้นที่นิ่มมากเท่าเยลลี่ ซึ่งเคมีต้องหาที่ร้านเฉพาะซึ่งหายากซักหน่อย ส่วนถ้าร้านขายบอกว่าแข็งโดยทั่วไปก็ไม่เกิน50 shoreA-ยางลบ ถ้าแข็งกว่าจะหายากและราคาสูง เป็นต้น)

ก่อนจบ
ยังมีซิลิโคนอย่างอื่นๆอีกมากมายที่อยู่ในชีวิตประจำวันบ้าง หรืออยู่ที่อื่นๆบ้าง อยู่ตามผนังบ้าง ตามโต๊ะเครื่องสำอางค์บ้าง เช่น ซิลิโคนออยของเหลวชนิดที่ใช้กับเครื่องสำอางค์ เช่นลิปกรอสปากเจ่อ น้ำยาเคลือบหินหรือเคลือบคอนกรีต(silicone water repellent) ประเภทป้องกันคราบติดและป้องกันตะไคร่ซึ่งมีส่วนผสมของซิลิโคนประเภท siloxane หรือ silane มีทั้งเบสน้ำและเบสน้ำมันทาแล้วน้ำไม่จับ เป็นต้น


การทากันน้ำซึมหนือน้ำหยดนั้น ปีสองปีก็ต้องทาใหม่แล้วครับ(ขึ้นกับสภาพอากาศ) แต่ถ้าคิดว่าจะเอาไปทากันสนิมผมแนะนำว่าไม่ค่อยเหมาะ ผมเคยลองใช้เบอร์ 214 เป็นแบบเชื้อเบสน้ำมัน เมื่อลองใช้แล้วไม่ค่อยเวิร์ก เพราะเนื้อsiloxaneหรือเนื้อซิลิโคนที่ใช้ทา เป็นของเหลวที่มีความหนืดต่ำน่าจะต่ำกว่าน้ำและไม่ค่อยมีเนื้อ เมื่อใช้ไปถ้าอยู่ในพื้นที่ๆฝนตกบ่อยแดดลมบ่อยไม่นานก็หมดชั้นผิวของมัน อีกอย่างเนื้อซิลิโคนชนิดนี้จะทนกรดไม่ได้เลย เท่าที่ลองใช้ดูเอาไปทาแหวนอีแปะหลายรอบแล้วโยนลงไปในน้ำส้มสายชูเจือจางปรากฎว่าไม่เกิน4-5ชม.สนิมขึ้นแล้ว
วีดีโอข้างล่างแสดงถึงการใช้ซิลิโคนทากันหินป้องกันน้ำจับ ทาไปที่พื้นคอนกรีต ผลคือน้ำไม่จับตัว youtube by Chad Zogleman
12,606 total views, 3 views today